ดีอีเผยทิศทาง 5G เดินหน้าเต็มสูบ ชู 4 คุณสมบัติสำคัญ ต่อยอดขับเคลื่อนในอีอีซี

วันที่ 3 เมษายน 2562 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” รายงานว่า ในงาน “5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน” ที่ ห้องประชุมมหิตลาธิเบศร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงทิศทาง 5G จากการร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ “มติชน”

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวถึง ทิศทางการขับเคลื่อน 5G ว่า เป็นเรื่องที่สำคัญของประเทศไทย เพราะไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนผ่านจาก 3G สู่ 4G แต่เป็นการมองของรัฐบาล เป็นการมองของ กสทช. ที่จะต้องเดินไปด้วยกันเพื่อผลักดันไทยไปข้างหน้า และมุ่งสู่การเป็นผู้นำของอาเซียน โดย 5G คือเป้าหมายหลักที่ไทยต้องผลักดันให้เกิดขึ้น

โดยสิ่งที่เป็นความท้าทายสูงมากในขณะนี้ คือการใช้ประโยชน์จาก 5G ที่มีการพัฒนาก้าวกระโดด มีคุณสมบัติสำคัญ คือ 1. ความหน่วงต่ำที่ลดลง 2. การเคลื่อนย้ายข้อมูลของ 5G จะสูงกว่า 4G ถึง 100 เท่า 3. การเชื่อมต่อของ 5G จะสูงกว่า 4G ถึง100 เท่าเช่นกัน และ 4. โมบิลิตี้ หรือการสัญจรของ 5G ที่มีประสิทธิภาพ อาทิ กรณีรถพยาบาลจะช่วยชีวิตผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นสูงถึง 1.5 เท่า ซึ่งไม่สะดุดในช่วง 500 กิโลเมตรแรก ระบบจะรองรับทั้งรถไฟความเร็วสูง และรถยนต์ขับเคลื่อนอัฉริยะในอนาคต

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า นอกเหนือจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ยังได้ร่วมกับ กสทช. และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการขับเคลื่อนส่วนที่เป็นการพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยใช้พื้นที่ศรีราชาของมหาวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์ทดสอบการใช้งาน 5G
นอกจากนี้ยังมีภาคส่วนต่างๆ ในศรีราชา ได้มีการเข้ามาร่วมทดสอบ 5G ในครั้งนี้ด้วย อาทิ ท่าเรือแหลมฉบัง ไปรษณีย์ไทย ด้านสาธารณสุข ได้เเก่ โรงพยาบาลสมิติเวชศรีราชา โรงพยาบาลระยอง มหาวิทยาลัยมหิดล ในส่วนของยานยนต์จะมีโรงงานผลิตรถยนต์ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) ทั้งยังมีบริษัท แสนสิริ อีกด้วย