เอไอเอส-ทรู-ดีแทค โชว์วิชั่น 5G สปีดธุรกิจเร็วปรื้ด เร่งรัฐจัดสรรให้เคลียร์

วันที่ 3 เมษายน 2562 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” รายงานว่า ในงาน “5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน” ณ ห้องประชุมมหิตลาธิเบศร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทิศทาง 5G จากการร่วมมือของสำนังานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ “มติชน”

‘นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร’ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจ สัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คุณลักษณะเด่นด้านบริการของ 5G คือ เรื่องของ ’สปีด’ ที่มีความเร็วสูงได้ถึง 20 กิกะบิต ซึ่งจะทำให้วีดิโอสตีมมิ่ง วีอาร์ เออาร์ ต่างๆ เหล่านี้ทำได้ดีมากขึ้น รวมไปถึงการตอบสนองที่เร็วเพิ่มขึ้นซึ่งสำคัญมาก เพราะจะทำให้สามารถพัฒนาไปสู่ยานยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ เกิดขึ้นได้จริง

นายวีรวัฒน์ กล่าวว่า ผู้ให้บริการแต่ละรายจะให้บริการได้อย่างสมบูรณ์แบบจะต้องมีความถี่ 3 ย่าน คือ High Band, Mid Band และLow Band ซึ่งแบนด์วิธโดยรวมอยู่ที่ 1 กิกะเฮิรตซ์ เปรียบเทียบได้ประมาณ 10 เท่าของ 4G และ 4G ตามมาตรฐานจะอยู่ที่ 100 เมกะเฮิรตซ์ แต่ในไทยผู้ให้บริการส่วนใหญ่มีคลื่นความถี่ให้บริการ 50-60 เมกะเฮิรตซ์ และเอไอเอสมีมากสุดแล้วแต่แค่ 60 เมกะเฮิรตซ์ เพราะราคาสูงมาก แต่อย่างไรแล้ว 60 เมกะเฮิรตซ์ ก็ทำอะไรได้เยอะพอสมควร แต่ในตรงกันข้ามจะต้องมีการลงทุนสถานีฐานเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชย ลงทุนอุปกรณ์เพิ่มขึ้น ระบบส่งสัญญาณเพิ่มขึ้น ค่าเช่าเพิ่มขึ้น ท่อร้อยสายเพิ่มขึ้น แต่โดยรวมแล้วยังถูกว่าย่านความถี่ ทำให้ผลเสียไปตกอยู่กับผู้ใช้บรการแทน เพราะควรจะได้ใช้ 4G ที่มีความเร็วสูงกลับไม่ได้ใช้เพราะมีความถี่ที่ไม่สามารถเอามาใช้ได้

“อีกมุมมองที่สำคัญคือมีการเปรียบเทียบราคาความถี่ 4G และ 5G ซึ่งเป็นข้อมูลจากหัวเว่ย พบว่าของไทยมีราคาแบนด์วิธต่อเมกะเฮิรตซ์ 5G คิดเป็น 5.5% ของ 4G ประเทศเกาหลี 47% ของ 4G ประเทศสเปน 30% ซึ่งเทียบแล้ว 4G ไทยแพงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานโลก ถ้าเอามาเฉลี่ยควรตก 5% ของ 4G เพื่อไม่ให้แพงกว่านี้ ทุกจุดนี้จะชี้ให้เห็นว่าการก้าวไปสู่ 5G ปะวัติศาสตร์จะต้องไม่ซ้ำรอย 4G”

นายวีรวัฒน์ อีกกล่าวว่า เอไอเอสนับสนุนเรื่อง 5G เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์กับสถานศึกษา นักศึกษา นักคิด นักประดิษฐ์ รวมแล้วได้ถึง 1,000 รายในเอไอเอพี มีการทดลองการใช้ สมาร์ทมิเตอร์ สมาร์ทไลฟ์ รวมถึงรถยนต์ไร้คนขับ และได้ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์นำ 5G ไปทดลองใช้ในด้านต่างๆ นอกเหนือจากนี้ยังนำไปทดลองในอุตสาหกรรมต่างๆ ด้วย

‘นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์’ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทางบริษัทมั่นใจว่าประเทศไทยจะต้องเดินไปข้างหน้า และพัฒนาไปสู่ระบบ 5G ได้อย่างแน่นอน ซึ่งทางบริษัทเองก็มีการตั้งเป้าผลักดันให้เกิด 5G ขึ้นโดยเร็ว และมั่นใจว่าระบบ 5G จะมามีประโยชน์ในเรื่องของรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) ต่างๆ จะต้องมีการพัฒนาระบบ 5G เพื่อนำไปพัฒนาอุตสาหกรรมด้านการผลิต เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ถ้ามีการพัฒนาอย่างถูกวิธี จะมีการเปลี่ยนแปลงมหาศาล ซึ่งทางบริษัทจะเน้นในเรื่องของอุตสาหกรรมภาคการผลิตกว่า 40-50% เพราะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มองว่าภาครัฐจึงต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาและสนับสนุน อาทิ การลดภาระเรื่องต้นทุน หรือต้องมีการกำหนดราคามูลค่าคลื่นความถี่ที่เหมาะสมและยืดหยุ่นในการลงทุน

“อเล็กซานดรา ไรช์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การทดลองทดสอบ 5G ดีแทคได้วางแผน ที่จะมีแนวทางทดสอบรูปแบบการใช้งาน (ยูสเคส) กับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งคาดว่า ยูสเคสในกลุ่มฟาร์มอัจฉริยะ, อาคารอัจฉริยะ, บรอดแบนด์ไร้สายประจำที่, การวัดคุณภาพอากาศ, บริการสื่อขั้นสูง, โดรนเกษตรอัจฉริยะ, สมาร์ทเฮลธ์แคร์, อุตสาหกรรมอัจฉริยะ และสมาร์ทซิตี้แอปพลิเคชัน

“อเล็กซานดรา” กล่าวว่า ความสำคัญที่จะทำให้ 5G เกิดขึ้นในไทย คือ 1.แนวทางการกำกับดูแล กฎระเบียบต่างๆ ต้องเอื้อให้ 5G สามารถเกิดได้อย่างรวดเร็ว และควรมีแนวทางในการใช้ทรัพยากรเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์สูงสุด เช่น การคำนึงถึงการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน และมีความสะดวกในการปฏิบัติ

2.แผนจัดสรรคลื่นความถี่ต้องกำหนดว่า จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ใด เมื่อไร ซึ่งปัจจุบันประเทศไทย ยังไม่มีการกำหนดแผนและการนำคลื่นย่านความถี่ต่างๆ ที่ชัดเจนมาใช้งาน

3.สร้างความร่วมมือ จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันอย่างยั่งยืน ทั้งจากภาครัฐ ภาคการศึกษาภาคอุตสาหกรรม ช่วยกระตุ้นนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นตลอดเวลา นอกจากความร่วมมือที่ดีแทคพร้อมสำหรับทุกภาคส่วนแล้ว


ทั้งนี้ ดีแทคยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์ เพื่อผู้ให้บริการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม คือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือแคท และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อประสานความรู้ ประสบการณ์ และพัฒนารูปแบบบริการสู่ 5G ในอนาคต