5G เปลี่ยนโลก! พาชมนวัตกรรมสุดล้ำจากผู้ประกอบการ ในงาน “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจออนไลน์” รายงานว่า ในงาน “5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน” ณ ห้องประชุมมหิตลาธิเบศร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทิศทาง 5G จากการร่วมมือของสำนังานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ “มติชน”

เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา นอกจากในงานจะมีการเสวนาถึงระบบโครงข่าย 5G ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะได้มี 5G อย่างเต็มรูปแบบใช้กันในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ก่อนที่จะไปถึงขั้นนั้น ภายในงาน “5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน” ได้มีการจัด นิทรรศการ 5G USE CASE จากผู้ประกอบการและผลงานวิจัย ที่มีการนำเอาโครงข่ายระบบ 5G มาทดลองใช้แล้ว และพร้อมที่จะพัฒนาต่อไปอีกขั้นเพื่อรองรับระบบ 5G อย่างเต็มที่ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยมีผลงานที่น่าสนใจอยู่หลากหลายชิ้นงานด้วยกัน ได้แก่

 

‘Water Crisis Sensor’ หรือมีอีกชื่อว่า “บัวลอย” ที่เป็นการร่วมมือระหว่างทรูและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.)

‘Water Crisis Sensor’ หรือ “บัวลอย” เป็นอุปกรณ์ติดตามระดับน้ำในแหล่งน้ำขนาดเล็ก มีเนื้อที่น้อยกว่า 50 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีแหล่งน้ำในลักษณะนี้กว่าแสนแหล่งที่ไม่มีมาตรวัดน้ำ จึงมีแนวคิดที่เน้นอุปกรณ์วัดระดับน้ำขนาดเล็ก ต้นทุนต่ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพฐานข้อมูลด้านทรัพยาการของประเทศเพื่อสนับสนุนการวางแผนการบริหารการจัดการน้ำและภัยพิบัติ จึงมีการดีไซน์ว่าขณะนี้สถานการณ์ของน้ำในแหล่งน้ำนั้นๆ เข้าขั้นวิกฤตแล้งขนาดไหน หรือเข้าขั้นวิกฤตท่วมขนาดไหน

เมื่อนำ ‘Water Crisis Sensor’ หรือ “บัวลอย” ไปติดตั้งไว้ในแหล่งน้ำในจุดที่ลึกที่สุด แล้วจะมีค่าบอกว่าขณะนี้ระดับน้ำในพื้นที่นั้ลึกแล้วกี่เมตร ระดับน้ำอยู่ที่เท่าไหร่ ซึ่งก่อนหน้านั้นจะมีการตั้งค่าโปรแกรมเอาไว้ด้านในพอระดับน้ำมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเช่น ระดับน้ำลดลง หรือเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทั้งหมดจะถูกส่งไปที่ สสนก.

ซึ่งข้างบนตัวอุปกรณ์จะใช้โซล่าเซลล์ในการที่จะส่งพลังงานเข้ามากักเก็บไว้ที่แบตเตอรี่ ตัวเครื่องด้านในจะมี board ส่งข้อมูล มีซิมโทรศัพท์ของทรูในการที่จะส่งค่าสัญญาณผ่านโทรศัพท์มือถือ และข้อมูลจะเก็บเอาไว้บนคลาวด์ ก่อนที่จะแสดงผลออกมา ซึ่งตัวที่เป็น Database ทั้งหมดจะถูกเก็บอยู่ที่ สสนก. ซึ่งขณะนี้ได้มีการนำลงไปทดลองใช้งานจริงอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นทั้งหมด 4 ตัว

ทั้งนี้ในระดับชุมชน เพื่อจะทำให้ทราบปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำต่างๆ ของชุมชนเพื่อวางแผนการใช้ให้สมดุล สามารถบริหารการจัดการน้ำทั้งอุปโภค บริโภค และการเกษตรให้มีใช้เพียงพอตลอดปี ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น และสร้างความเข้าใจในการใช้ทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัด

ส่วนในระดับองค์กร ก็จะมีข้อมูลปริมาณน้ำต้นทุนในแแหล่งน้ำขนาดเล็กที่ครอบคลุม ทำให้บริหารจัดการน้ำในระดับภูมิภาคได้ อีกทั้งยังสามารถวางแผนบริหารจัดการการใช้ทรัพยากรน้ำล่วงหน้า ทั้งในยามปกติ และยามมีภัยพิบัติ

และในระดับประเทศทำให้มีข้อมูลแหล่งน้ำต้นทุนของประเทศทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็กที่จะกระจายตัวอยู่ทั่วทั้งประเทศ ทั้งในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน เพื่อใช้ในการบริหารจัดการนำได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน

“บัวลอย” ยังได้รับรางวัลเหรียญทองแดง จากงาน Seoul International Invention Fair 2017 ที่ประเทศเกาหลีใต้

นอกจากนี้จะมีการเข้าไปเทรนนิ่งให้กับนักเรียนอาชีวะด้วยเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ รวมไปถึงเผยแพร่ข้อมูลแก่ชาวบ้าน ล่าสุดผลงานชิ้นนี้ได้รับผลตอบรับจากกรมชลประทานที่จะไปขยายผลต่อ และในอนาคตอันใกล้เมื่อมี 5G ใช้แล้วระบบการส่งสัญญาณการทำงานประมวลข้อมูลต่างๆ ก็จะรวดเร็วยิ่งขึ้นไปอีก

 

 

“PM 2.5 SENSOR FOR ALL” ที่เป็นความร่วมมือระหว่าง ทรู คอร์ปอเรชั่น และนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ เครื่องกล ชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

โดย “ทรู แล็บ” ได้เข้ามาร่วมพัฒนาอุปกรณ์เซ็นเซอร์ฝุ่น PM 2.5 สำหรับวัดค่าปริมาณฝุ่นในกรุงเทพ และปริมณฑล โดยได้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี True NB-IoT board ซึ่งเป็น board ที่ใช้ในการส่งข้อมูลผ่านระบบ 4G และ 5G ขึ้นมา โดยปริมาณฝุ่นที่สามารถวัดได้จากตัวเซนเซอร์ จะส่งเข้าไปขึ้นในระบบคลาวด์และให้ผู้ใช้สามารถติดตามได้ทางเว็บไซต์ซึ่งก็จะทำให้ทราบว่าขณะนี้มีปริมาณฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 กี่ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรในพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยอยู่ ซึ่งขณะนี้ชิ้นงานตัวที่เหลืออยู่ในระหว่างการตั้งค่าและมีแผนที่จะติดตั้งบริเวณพื้นที่ของจุฬาฯ ก่อนที่จะพัฒนาไปติดตั้งในพื้นที่รอบนอก

 

และในอนาคตข้างหน้าเมื่อทรูได้มีการพัฒนา NB-IoT board 5G ขึ้นมาอย่างเต็มรูปแบบแล้ว จะทำให้มีการส่งข้อมูลในปริมาณที่มากขึ้น และรวดเร็วขึ้น จะมีการพัฒนาติดตั้งกล้องร่วมกับบริเวณที่มีการติดตั้งตัวเซนเซอร์อยู่ ซึ่งข้อมูลที่ส่องจะมีทั้งค่าฝุ่น และสตรีมมิ่งที่เป็นภาพไปด้วยว่าบริเวณนั้นเป็นค่าฝุ่นมากน้อยเพียงใด และเพื่อดูว่ามีอะไรที่เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นได้บ้าง เพราะด้วยระบบ 5G ที่มีความรวดเร็วก็จะทำให้สามารถดูภาพและข้อมูลได้อย่างเรียลไทม์

 

 

“หุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟู สมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือกสมอง” ที่มาจากลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติและทดสอบ 5G เป็นเวลา 2 ปี ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชื่อ ศูนย์ 5G เอไอ/ไอโอที อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ร่วมให้การสนับสนุน โดยให้สำหรับการจัดเก็บข้อมูลไว้ที่ระบบคลาวด์เซอร์วิส

เนื่องจากผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (โรคสโตรก) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) เมื่อราว 4-5 ปีก่อน ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 200,000 คนต่อปี โดยมีอัตราการสะสมอยู่ที่ 500,000 คน ซึ่ง 70% ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด ต้องการการฟื้นฟู ขณะที่ 20% ได้รับการฟื้นฟูเพียงระยะเวลาสั้นๆ ก็สามารถหายได้ ซึ่งพบมากในผู้ป่วยที่อยู่ในวัยหนุ่มสาว และ 10% เป็นผู้พิการ ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดระบุว่า ต่อปีมีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง เพิ่มขึ้นเป็น 250,000-300,000 คน ซ้ำยังเกิดขึ้นในผู้ป่วยที่อายุยังน้อยลงเรื่อยๆ

ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ควรได้รับการฟื้นฟู ซึ่งหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยระบบหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้น เหมาะสมสำหรับใช้ในกิจกรรมกายภาพบำบัดที่มีหลากหลายรูปแบบ ซึ่งการได้รับการฟื้นฟูให้เร็วที่สุด และบ่อยครั้งที่สุด ถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากสำหรับผู้ป่วย ทั้งนี้ หุ่นยนต์ทางการแพทย์ ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการควบคุมการทำงาน โดยจะทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของข้อต่อต่างๆ ของหุ่นยนต์ รวมถึงสามารถควบคุมแรงที่แต่ละข้อต่อของหุ่นยนต์ได้

สำหรับการฝึกปฏิบัติหุ่นยนต์จะทำการบันทึกข้อมูลการฝึกปฏิบัติแบบเวลาจริง (เรียลไทม์) เช่น แรงฝึกปฏิบัติที่เกิดขึ้น เป็นแรงที่ผู้ฝึกปฏิบัติเป็นผู้ออกแรง หรือเป็นแรงที่หุ่นยนต์ออกแรงเสริม รวมถึงในกรณีที่ผู้ฝึกปฏิบัติไม่สามารถเคลื่อนไหวอวัยวะที่ต้องการฟื้นฟู ตามท่าทางที่กำหนดได้อย่างเหมาะสม ซึ่งแต่ละคนมีปัญหาที่แตกต่างกันไป โดยข้อมูลในการฝึกปฏิบัติดังกล่าว สามารถเก็บไว้ที่หุ่นยนต์ หรือส่งไปเก็บไว้ที่ส่วนกลางในลักษณะ “คลาวด์เซอร์วิส”

นอกจากโครงสร้างทางกลไกของหุ่นยนต์ รวมทั้งระบบการควบคุมการทำงาน ระบบตรวจรู้ การเชื่อมต่อสัญญาณของอุปกรณ์ต่างๆ เข้าด้วยกัน เพื่อใช้ในการสนับสนุนการทำงานทั้งระบบ ทำให้สามารถพัฒนาส่วนเสริมต่อ เพื่อทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการฝึกปฏิบัติของระบบหุ่นยนต์ต่างๆ สามารถทำงานผ่านระบบ 3G และ 4G ได้ อีกทั้งจะมีการพัฒนาเพื่อใช้ร่วมกับ 5G ได้อย่างมีประสิทธิภาพในอนาคต

 

 

“รถยนต์ไร้คนขับ” ที่ถือว่าอีกนึ่งเป็นไฮไลท์ เพราะเป็นรถยนต์ไร้คนขับคันแรกของไทยที่เชื่อมต่อบนเครือข่าย Live Network 5G (1st 5G Connected Car) ที่เกิดจากการศึกษาและทดลองอย่างจริงจังร่วมกันระหว่าง SMART MOBILITY RESEARCH CENTER จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การสนับสนุนของ กสทช.

โดยรถยนต์สามารถเดินทางจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งได้อย่างแม่นยำและปลอดภัย โดยไม่ต้องใช้คนขับ ผ่านการใช้งานเครือข่าย 5G ของเอไอเอส ที่สามารถรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูง ความหน่วงต่ำ ทำให้ระบบมีความเสถียรมาก ซึ่งจากการทดลอง ทดสอบครั้งนี้ จะทำให้ทุกภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหรรม คนไทย และผู้เกี่ยวข้องใน 5G Ecosystem เห็นภาพของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 5G มาถึง และสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อรองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน

 

 

“โรงเรือนอัจฉริยะ” ที่เป็นโครงการ ฟาร์มแม่นยำ ของ Dtac Smart Farmer ที่เกิดจากความร่วมมือกันของ ดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตร และ ศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) เป็นการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาพัฒนาด้านการเกษตร โดยหวังผลในการเพิ่มผลผลิต ควบคุมคุณภาพ และลดต้นทุนให้กับเกษตรกรไทย

ซึ่งดีแทคและเนคเทค – สวทช. ได้ร่วมกันพัฒนาโซลูชั่น IoT เพื่อควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ แสง และปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องในการเพาะปลูก ซึ่งจะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันในการแสดงผล การตั้งค่า เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ

โดยจะมีการปรับและตั้งเซนเซอร์ของแสง เซนเซอร์ของอุณหภูมิ และเซนเซอร์ในเรื่องของความชื้นในดินมาติดตั้งในโรงเรือน และเมื่อมีค่าของแสงที่มากขึ้นต่างจากที่เจ้าของฟาร์มได้ตั้งค่าไว้ว่าไม่เป็นผลดีต่อพืชผล การรับรู้ของเซนเซอร์ก็จะทำการเลื่อนม่านบังแสงในโรงเรือนได้โดยอัตโนมัติ และหากแสงลดลงอยู่ในระดับที่ดีแล้วม่านบังแสงก็จะถูกเปิดออกเองเช่นกัน อีกทั้งในเรื่องของอุณหภูมิ และความชื้นก็เช่นกัน เซนเซอร์จะส่งข้อมูลผ่านสัญญาณไปยังโทรศัพท์ของเจ้าของฟาร์ม เพื่อที่จะได้เข้ามาดูแลในจุดที่เป็นปัญหาต่อพืชผลได้อย่างถูกต้อง ซึ่งระบบดังกล่าวมีการทดลองกับพืชผลในโรงเรือนแบบปิด เช่น เมล่อน

โดยได้มีการทดลองมาแล้วกับกลุ่มเกษตรกรกว่า 1 ปี ปรกฎว่าได้ผลดี และคาดว่าจะนำออกขายได้ประมาณสิ้นปีนี้ และหากมีระบบ 5G เข้ามาก็จะสามารถช่วยในเรื่องของการประมวลผลที่รวดเร็วแม่นยำขึ้น เพราะเป็นการควบคุมผ่านแอปพลิเคชันด้วย

ซึ่งแอปพลิเคชันเพื่อการเกษตร โดยให้ข้อมูลสภาพอากาศเป็นรายแปลงของเกษตรกรที่มีความแม่นยำสูง และการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม ให้เกษตรกรรู้ถึงสุขภาพของพืชในแปลงเพาะปลูก เพราะการตัดสินใจการเพาะปลูกที่ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ (ฝน ลม แสงแดด ความชื้น) ส่วนมากข้อมูลที่เกษตรกรได้จะเป็นระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ฟาร์มแม่นยำแอปฯ ให้ข้อมูลอากาศระดับรายแปลง (Microclimate Weather Data) ที่ช่วยให้ข้อมูลกับเกษตรกรแบบแม่นยำในการตัดสินใจ โดยใช้ Big Data Analytics ในการ ทำ Numerical Weather Prediction Model ระดับ Micro-Scale โดยทั่วไปแล้วการพยากรณ์อากาศในท้องตลาดจะพยากรณ์ระดับ 50km square grid ซึ่งกว้างไปสำหรับเกษตรกร ด้วย Weather Model  สามารถให้ข้อมูลอากาศระดับรายแปลง

เกษตรกรจะได้รับรู้การเพิ่มผลิตและเพาะปลูกแบบถูกวิธี ด้วยข้อมูลด้านการเพาะปลูกพืชและวิธีการแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่พัฒนาโดยนักวิชาการเกษตร จากคณะพืชไร่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมที่ช่วยเกษตรกรตรวจหาปัญหา (Scouting for Problem) ในแปลงผลิต ช่วยประหยัดเวลาในการเดินหาปัญหาด้วยตัวเอง ลดเวลาจากหลายชั่วโมงต่อวันเหลือเพียงไม่กี่นาที ด้วยเทคโนโลยี Remote Sensing Algorithm ในการจับปัญหาในแปลงโดยการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Landsat (NASA) และ Copernicus Sentinel (European Space Agency)

 

นอกจากนี้ยังมีนวัตกรรมดีๆ ที่มาโชว์ในงาน “5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน” มากมาย อาทิ

“Face Detection” เทคโนโลยีการจดจำใบหน้าที่พัฒนาโดยทีมงานเอไอเอส เพื่อเป็นก้าวแรกของการนำไปสู่ Smart School โดยนำมาทดสอบใช้ที่โรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อช่วยบันทึกการเข้าออกโรงเรียนของนักเรียนและเป็นการยกระดับเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่ไปอีกขั้น

“หุ่นยนต์กายภาพบำบัดอัจฉริยะ” สำหรับผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงและอัมพฤกษ์ สามารถบันทึกและรายงานข้อมูลการออกแรง การเคลื่อนไหวในการทำกายภาพบำบัดของผู้ป่วยผ่านระบบ 5G ขึ้น Cloud Network มีระบบการตรวจสอบและติดตามเปรียบเทียบผลการฝึกได้แบบ Real Time

“Connected Drone” โดรนบังคับผ่านเครือข่ายมือถือข้ามประเทศ ระหว่างไทยและจีน ด้วยโดรนตัวแรกที่ใส่ซิม การ์ด 5G และสามารถ Streaming Video ที่มีความละเอียดสูงกลับมาหาผู้ใช้ได้ทันที

“5G IRB 120” หุ่นยนต์แขนกลที่สามารถนำไปปรับใช้การทำงานได้หลายอย่าง เช่น ควบคุมการทำงานระยะไกลผ่านเครือข่าย ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สะดวกสบายยิ่งขึ้น และไม่จำเป็นต้องลงไปในพื้นที่เสี่ยง เป็นต้น

 

บรรยากาศในงาน