กทม.-กสทช.เตรียมนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ตั้งเป้า 2 ปีเสร็จ ระยะทาง 2,450 กม.

เมื่อวันที่ 4 เมษายน ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมด้วย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แถลงข่าวหลังประชุมการดำเนินโครงการบริหารจัดการการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

พล.ต.อ.อัศวิน แถลงว่า กทม.มีแผนบริหารจัดการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพฯ ตามแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2556-2575) เพื่อให้เมืองมีทัศนียภาพสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รกรุงรัง อีกทั้งยังสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ดีอี) ครั้งที่ 2/2560 ที่ให้ กทม.จัดทำแผนการดำเนินงาน มาตรการและกลไกในการขับเคลื่อนการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ โดย กทม.รับเป็นเจ้าภาพ พร้อมทั้งมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ซึ่งเป็นวิสาหกิจของ กทม. เป็นผู้ดำเนินโครงการ รวมถึงขอใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้ถูกต้อง และนำเสนอแผนดำเนินโครงการต่อคณะกรรมการดีอี คณะกรรมการโครงสร้างพื้นฐาน และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ตามลำดับ

พล.ต.อ.อัศวิน แถลงว่า สำหรับการดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินนั้น กทม.ได้มีการแยกแผนดำเนินการออกจากแผนการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) โดยการนำสายสื่อสารลงใต้ดินจะดำเนินการขุดวางท่อร้อยสายบนทางเท้าที่ความลึกประมาณ 80 เซนติเมตร (ซม.) ความกว้างไม่เกิน 40 ซม. ในขณะที่ท่อร้อยสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง จะเป็นการขุดวางใต้ผิวจราจรที่ระดับความลึกประมาณ 4 เมตร (ม.) ซึ่งมีความยุ่งยากกว่า โดยจะเริ่มดำเนินโครงการหลังเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และยืนยันว่าจะไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน

“ทั้งนี้ เคทีจะดำเนินการก่อสร้างเพื่อวางท่อร้อยสาย โดยนำเทคโนโลยีท่อร้อยสาย จำนวนตั้งแต่ 14-21 ไมโครดัก ซึ่งมีความแข็งแรงทนทาน และเป็นมาตรฐานเดียวกับที่อื่นๆ ทั่วโลก มาใช้ในการดำเนินการบนถนนสายหลักและสายรองทั่วกรุงเทพฯ รวมระยะทางประมาณ 2,450 กิโลเมตร (กม.) ซึ่งแบ่งการดำเนินการเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพตอนเหนือ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ โดยจะมีการสำรวจและออกแบบโครงข่าย ซึ่งจะเริ่มก่อสร้างและติดตั้งโครงข่ายในเดือนพฤษภาคมนี้ และคาดว่าจะนำสายสื่อสารลงใต้ดินแล้วเสร็จทั้งโครงการภายใน 2 ปี” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์