โรดแมป-ต้นทุนคลื่น ค่ายโทรคมชงขอรัฐก่อนมุ่ง 5G

5G ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดบนเวทีเสวนา “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” ที่ บมจ.มติชน กสทช. กระทรวงดิจิทัลฯ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น ยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมได้ย้ำชัด ถึงประโยชน์และอุปสรรคในการก้าวสู่ยุค 5G ของประเทศไทย

หัวเว่ยหนุนสร้างระบบนิเวศ

ยักษ์ใหญ่แดนมังกรอย่าง “หัวเว่ย” โดย “หยาง เชาปิน” ประธานบริหาร ฝ่ายผลิตภัณฑ์เครือข่าย 5G บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า จากการพัฒนาโครงข่ายอินเทอร์เน็ตกว่า 10 ปี จากยุค 2G สู่ 4G และกำลังก้าวสู่ 5G อย่างเต็มตัว ได้พบว่า 5G มีขีดความสามารถส่ง-รับ “ข้อมูล” สูงซึ่งสำคัญในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี

“4G ได้เปลี่ยนการใช้ชีวิต ทำให้ธุรกิจสร้างรายได้มากขึ้น เกิดธุรกิจใหม่ ๆ แต่ 5G จะไปได้ไกลกว่า เร็วกว่า ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่กับทุกคน โดยหัวเว่ยหวังจะได้เห็นโรดแมปด้านคลื่นความถี่ 5G ของประเทศไทยได้ในเร็ว ๆ นี้”

โดยหัวเว่ยได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรเพื่อร่วมผลักดัน “ดิจิทัลไทยแลนด์” ทั้งด้านเทคโนโลยี และการใช้ศูนย์นวัตกรรมของหัวเว่ยเป็นพื้นที่ฝึกอบรมบุคลากร นิสิตนักศึกษาให้ได้มีประสบการณ์จริงจาก 5G วางรากฐานระบบนิเวศ 5G ในไทยให้แข็งแกร่ง

AIS ย้ำคลื่น 5G อย่าซ้ำรอย 4G

“วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) กล่าวว่า AIS สนับสนุน 5G ในไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะจากจุดเด่นด้าน “ความเร็วสูง-ความหน่วงต่ำ-การตอบสนองที่เร็วขึ้น”

“5G ต้องก้าวไป แต่ก็ต้องเตรียมธุรกิจ เตรียม use case ต่าง ๆ สำหรับ 5G ด้วยการทดลองทดสอบวิจัยและพัฒนา เพื่อเรียนรู้ให้เข้าใจ ที่สำคัญ คือ เตรียมคนให้พร้อม”

แต่การจะให้บริการ 5G ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ผู้ให้บริการจะต้องมี 3 ความถี่ ทั้ง high band ช่วงคลื่นที่สูงกว่า 6 GHz ซึ่งช่วยเรื่องสปีด, mid band ช่วงคลื่น 2-6 GHz สำหรับใช้งานในเมือง และ low band ช่วงต่ำกว่า 2 GHz ที่จะใช้ครอบคลุมพื้นที่ชนบท

“5G จะขาดย่านใดย่านหนึ่งไม่ได้ เพื่อความเร็ว ความครอบคลุมพื้นที่ ในต้นทุนที่เหมาะสม ซึ่งมาตรฐาน 4G จะใช้คลื่น 100 MHz แต่ขนาด AIS ที่มีคลื่นมากสุด ยังมีแค่ 60 MHz เพราะต้นทุนค่าคลื่น แต่ใช้การลงทุนสถานีฐานและเน็ตเวิร์กอื่นเพื่อชดเชย ซึ่งรวมแล้วถูกกว่าค่าประมูลคลื่น เพราะคลื่น 4G ไทยแพงที่สุดในโลก ทำให้ผู้บริโภคได้ใช้สปีด 4G น้อยกว่าที่ควรจะเป็น ก็หวังว่าประวัติศาสตร์จะไม่ซ้ำรอย เพราะ 5G ใช้คลื่นมากถึง 1 GHz”

มาตรฐาน 5G สากลจะประกาศออกมาในสิ้นปีนี้ หรือต้นปี 2563 และกว่าอุปกรณ์จะออกมาให้ใช้งานจริงก็อย่างน้อยครึ่งปี ส่วนตัวแฮนด์เซตกว่าจะออกมาในระดับ mass คือ ต้นปี 2564 ถึงปี 2565 ซึ่งจะทำให้การเข้าถึง 5G ถึงจะอยู่ในระดับราคาที่ผู้บริโภคพอสู้ไหว

“ประเทศที่มี 5G ให้บริการแล้ว ล้วนแต่เป็นผู้ผลิตเทคโนโลยีผลิตอุปกรณ์ สำหรับ AIS และประเทศไทยมองว่า น่าจะเป็นปี 2564-2565 มุมมองที่สำคัญ คือ ข้อมูลจากหัวเว่ย ที่เปรียบเทียบราคาแบนด์วิดท์ต่อ MHz ต่อประชากรของ 5G ที่เปิดประมูลไปแล้ว อย่างเกาหลีใต้ ราคา 5G อยู่ที่ 47% ของ 4G สเปนอยู่ที่ 30% อังกฤษอยู่ที่ 58% แต่ราคาประมูลคลื่น 4G ของไทยแพงโด่งมาก จนไม่รู้จะเทียบ 5G อย่างไร ทั้งที่มาตรฐานโลกต้นทุน 5G ควรจะอยู่ที่ 5% ของ 4G เท่านั้น”

ทรูชี้ต้องลงทุน 4G คู่ไปอีก 10 ปี

“วิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์” รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า ทรูมั่นใจเรื่อง 5G ในไทย พร้อมร่วมผลักดันระบบนิเวศให้แข็งแรง ที่ผ่านมาทรูเป็น “first mover” ในทุกเทคโนโลยี แม้จะเสี่ยงสูง แต่ 5G ไม่ใช่เทคโนโลยีสำหรับผู้บริโภคทั่วไป แต่จะเข้าไปสู่ภาคธุรกิจ ภาคการผลิตต่าง ๆ ก่อน และก่อให้เกิดจุดเปลี่ยน เกิดอุตสาหกรรมในแนวดิ่งมากขึ้น อาทิ การเงิน ยานยนต์ การแพทย์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของไทยอยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าผลักดัน 5G ให้ถูกทาง ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเปลี่ยนแปลง

“กลุ่มทรูมุ่งมั่นโฟกัส 5G ในเรื่องการแพทย์ สาธารณสุข ระบบซีเคียวริตี้ทั้งของส่วนบุคคลและสาธารณะ การขนส่งโลจิสติกส์ ระบบโรโบติก และการเกษตร ซึ่งเริ่มเทสต์ 5G มาตั้งแต่ ธ.ค.ที่ผ่านมา เพราะการทำ 5G ให้ได้ดีต้องมี use case ที่เหมาะสม ประเมินกันว่า 40-50% ของรายได้ 5G จะมาจากองค์กร แต่ก็ไม่มาในเร็ว ๆ นี้ ต้องมีการพัฒนาคู่ไปกับ 4G อีกเป็น 10 ปี โอเปอเรเตอร์ก็ต้องแบกรับการลงทุน 4G ให้มีคุณภาพสูงคู่ไปกับ 5G”

ดังนั้น กลไกกำกับของภาครัฐต้องเอื้อ โดยเฉพาะ “คลื่น” ที่ปัจจัยสำคัญ ต้นทุนค่าคลื่น 5G ไม่ควรแพงอย่างปัจจุบัน

“ไทยมีค่าคลื่นแพงที่สุดในโลก แต่มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายแค่ 1 ใน 3 ของค่ายมือถือในจีน ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ซึ่งค่าคลื่นถูกกว่าไทยมาก จึงอยากให้ภาครัฐพิจารณาเรื่องนี้ เพราะถ้าต้นทุนคลื่นเท่า 4G จะไป 5G ต้องใช้เงินประมูลถึง 7 แสนล้านบาท ประมูลได้ก็คงปิดบริษัทพอดี ไม่ต้องคิดถึงการลงทุนเรื่องอื่น ขณะที่ในประเทศจีน ค่ายมือถือเขามีฐานะทางการเงินแข็งแรงมาก แต่รัฐบาลให้ใช้คลื่นฟรี เพราะมองเห็นความสำคัญว่า 5G จะเป็นจุดเปลี่ยนของอุตสาหกรรมและสร้างผลตอบแทนกลับมาให้มากกว่าค่าประมูลคลื่น”

แผนคลื่นต้องชัด-กฎต้องเอื้อ

ขณะที่ “อเล็กซานดรา ไรช์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า 5G จะเกิดขึ้นในไทยได้ต้องมีกฎการกำกับดูแลที่เอื้อให้เกิดได้อย่างรวดเร็ว มีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ในระยะยาวอย่างชัดเจน ว่าแต่ละย่านคลื่นจะเกิดขึ้นเมื่อใด มีการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อให้เกิดความยั่งยืน อาทิ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน การร่วมกันพัฒนานวัตกรรมและบุคลากร

“ทุกวันนี้ดีแทคทดสอบ 5G โดยนำไปใช้กับสมาร์ทฟาร์มมิ่ง แต่กฎระเบียบในการขึ้นบินโดรนแต่ละครั้ง มีความยุ่งยากและซับซ้อนไม่ต่างจากการขอใบอนุญาตเปิดสนามบินขนาดเล็ก 1 แห่ง”

จัสมินพร้อมเกาะขบวน

ด้าน “ยอดชาย อัศวธงชัย” Chief Operating Officer หัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการ บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ผู้ให้บริการบรอดแบนด์ 3BB ในเครือจัสมิน ระบุว่า ในมุมมองของจัสมินมีความสนใจจะนำ 5G มาใช้ให้บริการ fixed wireless broadband ที่จะช่วยลดต้นทุนในการลากสาย ทั้งยังให้บริการได้ด้วยความเร็วสูง เป็นการเปลี่ยนแพตเทิร์นการออกแบบเน็ตเวิร์กในไทย และจะช่วยผลักดันให้การนำเทคโนโลยี IOT มาใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ด้วยจุดเด่นที่สามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ 1 ล้านชิ้นได้ในพื้นที่ 1 ตร.กม. ก่อให้เกิดข้อมูลมหาศาลที่จะนำไปใช้ประโยชน์ได้สูงสุด

“5G จะซัพพอร์ตให้ทุกอุตสาหกรรมมีศักยภาพในการผลิตที่เพิ่มขึ้น มีความหลากหลายในการใช้โซลูชั่นต่าง ๆ ซึ่งจัสมินมุ่งมั่นจะมีส่วนผลักดันให้เกิดการพัฒนา 5G ให้มีคุณภาพสูงสุด ซึ่งในหลายประเทศก็จะมีโอเปอเรเตอร์ให้บริการหลายรายเพื่อให้เกิดการแข่งขัน และซัพพอร์ตบริการได้หลากหลาย”