“Spotify” ยกทัพบุกตลาดไทย จุดพลุแข่งดุมิวสิกสตรีมมิ่ง

ยักษ์มิวสิกสตรีมมิ่งโลก “Spotify” ยกทัพบุกไทย ชูจุดเด่น “คลังเพลงกว่า 30 ล้านเพลง” รองรับหลายแพลตฟอร์ม พร้อมระบบจัดการ “เพลย์ลิสต์” ตามพฤติกรรมผู้บริโภค มีให้เลือกทั้งแบบฟังฟรีมีโฆษณาและแบบสมาชิกรายเดือน-รายวัน-รายสัปดาห์

นางสาวสุนิตา คอร์ กรรมการผู้จัดการทวีปเอเชีย Spotify กล่าวว่า Spotify เป็นผู้ให้บริการมิวสิกสตรีมมิ่งที่เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2551 ปัจจุบันให้บริการใน 61 ประเทศรวมประเทศไทยล่าสุด และมีผู้ใช้บริการรวมกันทั่วโลกกว่า 140 ล้านราย เป็นสมาชิกที่จ่ายเงินราว 60 ล้านราย และมีเพลงในคลังเพลงมากกว่า 30 ล้านเพลง รวมถึงมีเพลย์ลิสต์ที่สร้างโดยแฟนเพลง, กูรูเพลง และค่ายเพลงมากกว่า 2,000 ล้านเพลย์ลิสต์ โดยสามารถฟังได้ฟรีทั้งหมดเพียงแต่จะมีโฆษณาในคุณภาพเสียงปานกลาง และจะสุ่มเพลงให้ฟังเฉพาะผ่านโทรศัพท์มือถือ

สำหรับสมาชิกพรีเมี่ยมเลือกเพลงฟังได้โดยไม่มีโฆษณา คุณภาพสูง 320 kbps และฟังแบบ offline ได้ โดยค่าบริการอยู่ที่ 129 บาท/เดือน หรือ 39 บาท/สัปดาห์ และ 8 บาทต่อวัน หากสมัครสมาชิกแบบ family จะสร้างบัญชีแยกกันได้ 5 บัญชี 199 บาทต่อเดือน

“จุดแข็งของ Spotify คือ มีแค็ตตาล็อกเพลงทั้งอัลบั้มใช้ได้แบบฟรีและพรีเมี่ยมสามารถฟังได้ในหลายแพลตฟอร์ม เช่น มือถือ, แท็บเลต, คอมพิวเตอร์, Smart TV, playstation และมีการจัดเพลย์ลิสต์ตามความชอบของแต่ละคน โดยดูจากพฤติกรรมของผู้ใช้ โดย Spotify ใช้เวลาหลายปีในการศึกษาและลงทุนกับเทคโนโลยีนี้”

โดย Spotify จะส่งข้อมูลไปที่กูรูเพลงที่สิงคโปร์เพื่อสร้างเพลย์ลิสต์ใหม่สำหรับประเทศนั้น ๆ โดยปัจจุบัน Spotify มีกูรูเพลง 1 คนต่อ 1 ประเทศ ส่วนพันธมิตรของ Spotify มี 3 แสนรายทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยเบื้องต้นมี GMM Grammy ส่วนในอนาคตคาดว่าจะมีเพิ่มเติม ส่วนการลงทุนในไทยไม่สามารถเปิดเผยได้และการที่ Spotify เข้ามาทำตลาดในไทยช่วงเวลานี้เนื่องจากมองว่าตลาดไทยมีความพร้อมและตลาดเพลงก็เติบโตขึ้นในฝั่งสตรีมมิ่ง แม้ว่าตลาดเพลงดิจิทัลในไทยจะลดลงเหลือ 767 ล้านบาทในปี 2559 จากเมื่อปี 2555 ที่มีมูลค่ารวมอยู่ที่ราว 1.1 พันล้านบาท เนื่องจาก 50% ของรายได้ในอุตสาหกรรมเพลงมาจากบริการเพลงออนไลน์ ขณะที่ผู้บริโภค 88% ฟังผ่านบริการสตรีมเพลง โดย Spotify เชื่อว่าเมื่อเข้าสู่ไทยจะช่วยทำให้ตลาดเติบโตขึ้น

“Spotify มั่นใจว่าจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมเพลงดิจิทัลเติบโตได้ ดังเช่นประเทศอื่น ๆ ที่ได้เข้าไปให้บริการ เช่น ฟิลิปปินส์ที่เติบโตขึ้นถึง 38% อินโดนีเซียเติบโต 85% มาเลเซีย เติบโต 12% และสิงคโปร์เติบโตถึง 30% เนื่องจากศิลปินมีโอกาสเข้าถึงผู้ใช้กว่า 140 ล้านคนทั่วโลกได้”

ส่วนด้านการแข่งนั้นมองว่าการที่มีผู้ให้บริการหลายรายจะช่วยทำให้ตลาดรู้จักบริการเพลงสตรีมมิ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องดีในการแก้ปัญหาละเมิดลิขสิทธิ์