“ไดเมนชั่น”เล็งตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ใหม่รับคลาวด์บูม

ไดเมนชั่นฯตั้งเป้าโตเหนือตลาด ปักธง เติบโต 15% ทุกปี รุกหนัก “คลาวด์-ไซเบอร์ซีเคียวริตี้” เร่งเจาะตลาดภาคการเงิน-ผลิต-ปิโตรเคมิคอล และรีเทล เฮลท์แคร์ เล็งลงทุนสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่ในไทยรับกระแสดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม

นายสุทัศน์ คงดำรงเกียรติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไดเมนชั่น ดาต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมธุรกิจไอทีปีนี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นแต่ไม่มากนัก ดังนั้น หากต้องการผลักดันให้องค์กรเติบโตมากกว่าตลาด ต้องขยายไปสู่ตลาดและบริการใหม่ แม้ว่าธุรกิจของไดเมนชั่น ดาต้าในประเทศไทยจะโตเป็นอันดับต้น ๆ ในอาเซียน แต่ก็ตั้งเป้าจะเติบโตเพิ่ม 15-20% ทุกปี โดยอาศัยจุดแข็งจากการให้บริการครบวงจรและมีพาร์ตเนอร์อยู่ทั่วโลก สามารถพัฒนาบริการและโซลูชั่นให้สอดคล้องกับความต้องการของแต่ละธุรกิจได้ ซึ่งลูกค้าในไทยที่สำคัญอยู่ในกลุ่มการเงินการธนาคาร, การสื่อสารโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมการผลิต

“เทรนด์ไอทีจะไปเซอร์วิสคลาวด์มากขึ้นอีก เอไอ บล็อกเชน ไอโอที ออโตเมชั่น ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามาเปลี่ยนให้ทุกอย่างกลายเป็นข้อมูลเชื่อมโยงหมุนเวียนกันได้หมด ทั้งกับภายในบริษัทและกับคู่ค้า การมีระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้จึงกลายเป็นอีกหัวใจสำคัญ เพราะหากองค์กรเกิดปัญหาจากภัยไซเบอร์จะกระทบกับชื่อเสียงมาก บริษัทจึงมุ่งโฟกัสที่ระบบ security data center และแอปพลิเคชั่นให้เป็น open API เพื่อเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น รวมถึงการพัฒนาการให้บริการโซลูชั่นและระบบต่าง ๆ ในรูปแบบของเซอร์วิส”

โดยปัจจุบันไดเมนชั่น ดาต้ามีศูนย์ Security Operation Center ทั่วโลก 10 แห่ง เพื่อติดตามเรื่องความปลอดภัยให้ลูกค้า มีผู้ชำนาญการอยู่ในระบบคอยตามตลอดเวลา ทั้งยังมีศูนย์พัฒนาซอฟต์แวร์ในไทย รวมถึงกำลังศึกษาแผนลงทุนตั้งศูนย์คลาวด์ในประเทศไทย เพื่อรองรับปริมาณลูกค้าที่มากขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนภายในครึ่งปีแรกนี้

ขณะที่แผนธุรกิจในปีนี้จะมุ่งไปที่การผลักดันให้ลูกค้าแต่ละอุตสาหกรรมนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจให้มากขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนมาใช้บริการคลาวด์ ซึ่งตลาดเป้าหมายคือ ภาคการเงิน อุตสาหกรรมการผลิต รถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมิคอล และ “รีเทล เฮลท์แคร์” ที่กำลังพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค มีการใช้เทคโนโลยีอย่างมาก ทั้งเทคโนโลยี robotics process automation (RPA) พัฒนาระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ การบริหารจัดการข้อมูลที่เกิดขึ้นในทุกกระบวนการอย่างมหาศาลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์

ส่วนอุปสรรคในการทำธุรกิจ มองว่าเป็นปัญหาของทั้งอุตสาหกรรมไอทีคือ การขาดแคลนบุคลากร จึงเน้นพัฒนาคนในองค์กร และจับมือกับมหาวิทยาลัย จัดแข่งขันดิจิทัลแชลเลนจ์สำหรับนักศึกษาปี 3-4 เพื่อค้นหาและกระตุ้นผู้ที่มีความสามารถตั้งแต่ต้นทาง