ฉีกกรอบ-ปั้นนวัตกรรม โจทย์ยุค “ปลาเร็วกินปลาช้า”

เป็นที่ยอมรับกันว่า “นวัตกรรม” คือ เครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน เมื่อเร็ว ๆ นี้ “RISE” สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร เปิดเวที “Corporate Innovation Summit 2019” ระดมกูรูระดับโลกมากระตุ้นให้องค์กรทุกขนาดลุกขึ้นสร้าง “นวัตกรรม” ฝ่าพายุดิจิทัลดิสรัปต์ ซึ่ง “ศุภชัย ปาจริยานนท์” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร RISE ระบุว่า การสร้างนวัตกรรมองค์กรได้ต้องเปลี่ยน mindset ตั้งแต่ระดับผู้บริหารจนถึงคนในองค์กร และต้อง “ลงมือทำให้เร็ว” ในโลกยุค “ปลาเร็วกินปลาช้า” จะองค์กรเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ

ฉีกกรอบเดิม-โละทิ้ง “ต่อยอด”

“Alexander Osterwalder” ผู้คิดค้นโมเดลธุรกิจ Canvas เครื่องมือช่วยวิเคราะห์ธุรกิจจาก 9 ปัจจัย ผ่านตาราง 9 ช่อง ชี้จุดอ่อนขององค์กรส่วนใหญ่ในการสร้างนวัตกรรม นั่นคือ “ยังยึดติดกับรูปแบบธุรกิจและความสำเร็จเดิม ๆ” ด้วยการ “ต่อยอดประโยชน์” สิ่งที่มีอยู่ เน้นลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งสุดท้ายก็ยังเจอช่วงขาลงของธุรกิจที่ยอดขายอิ่มตัว เสี่ยงถูกกำจัดจากโลกธุรกิจฉะนั้น การจะสร้างนวัตกรรมใหม่ได้ องค์กรต้องเปลี่ยนการบริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอของธุรกิจที่มี ต้อง “กล้าเสี่ยง” ทดลองและลงทุนในไอเดีย-นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อหาโอกาสทางธุรกิจอยู่เสมอ ซึ่ง “เวนเจอร์แคปิทัล” เป็นตัวช่วยค้นหากลุ่มธุรกิจใหม่ที่เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ในอนาคต

โดยยกตัวอย่าง “Nestle” ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่ม มีการลงทุนโครงการใหม่ ๆ ถึง 250 โครงการ เฉลี่ยโครงการละ 1.5 แสนเหรียญสหรัฐ (4.8 ล้านบาท) ซึ่งมีแค่ 1 โครงการอย่าง “Nespresso” เท่านั้นที่ประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ถล่มทลาย กลายเป็นธุรกิจใหม่ที่เติบโตสูง แต่ก็ยังไม่หยุดจะลงทุนโครงการใหม่ต่อ หรือการฉีกไปสร้างธุรกิจใหม่ของ “ฟูจิฟิล์ม” ไปสู่ “ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว” ซึ่งเกิดขึ้นจากการนำความเชี่ยวชาญด้านเคมีที่มีอยู่มาพัฒนาแบบนอกกรอบ

ทั้งอย่าหมกหมุ่นว่า นวัตกรรมต้องเป็นสินค้าหรือบริการเท่านั้น เพราะธุรกิจนำนวัตกรรมมาใช้ได้ทั้งการบริหารจัดการ “คน-เงิน-การผลิต” รวมถึงลูกค้าแต่ถ้าจะใช้พัฒนาเป็นสินค้าหรือบริการ ต้องตั้งคำถามเสมอว่า เป็นที่ต้องการของตลาดจริงหรือไม่ (desirability) สามารถทำได้จริงแค่ไหน (feasibility) และจะอยู่รอดได้จริงไหม (viability)

หลักคิดสำคัญ คือ “ไอเดีย” มีอยู่ทุกที่ แค่เปิดหูเปิดตาพร้อมเรียนรู้ แต่ก็ต้องมี “สติและใช้เงินลงทุนให้เหมาะสม” อย่าเทหมดหน้าตัก รวมถึงอย่าลืมนำบทเรียนจากการเสี่ยงครั้งก่อนไปเป็นประสบการณ์ในครั้งถัดไปด้วย

Local innovation is possible

ด้าน “Arnaud Bonzom” ผู้ร่วมก่อตั้ง Map of the Money กล่าวย้ำว่า “กล้าเสี่ยง” คือ ทางออกที่ดีที่สุดของธุรกิจในการแสวงหาความสำเร็จ ทั้งมองว่า “พาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ” คือ วิธีที่ดีที่สุดในการขยายธุรกิจยุคนี้ เพราะใช้เงินลงทุนต่ำและมีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างบริษัทใหญ่ ๆ กับสตาร์ตอัพ ซึ่งเป็นแนวทางที่ win-win ทั้งคู่ แต่องค์กรใหญ่ต้องปรับมุมมองใหม่ ยกเครื่องทางความคิดใหม่ เพื่อให้ทำธุรกิจกับบริษัทเล็ก ๆ ได้ง่ายขึ้น

“นวัตกรรมของธุรกิจขนาดเล็กอาจมีความเป็นไปได้สูงที่จะขับเคลื่อนบริษัท บางทีกลยุทธ์เด็ด ๆ อาจไม่ได้เกิดจากคลังสมองในบริษัทใหญ่ หรือสำนักงานใหญ่เท่านั้น อย่างกรณีของ Microsoft, Dtac และ Allianz ก็เกิดจากแนวคิดเล็ก ๆ ในประเทศตัวเอง ก่อนขยายเป็นแบรนด์ใหญ่ระดับโลก”

เป็น “สตาร์ตอัพ” เป้าต้องชัด

ส่วนฟากของสตาร์ตอัพ “Sudhanshu Ahuja” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท impress.ai เปิดเผยว่า มีสตาร์ตอัพไม่น้อยที่ยังหลงทางจากการมีเป้าหมาย หรือทิศทางธุรกิจทั้งในระยะสั้นหรือยาวที่ไม่ชัดเจน ซึ่ง “Lionel Sinal-Sinelnikoff” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ บริษัท Ascent ย้ำว่า ธุรกิจสตาร์ตอัพจะเติบโตได้ สิ่งสำคัญคือ ต้องย้อนกลับไปเช็กทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นทุกครั้งที่เกิดข้อผิดพลาด หรือล้มเหลว ขณะที่การเดินตามบริษัทใหญ่ ๆ ที่ประสบความสำเร็จแล้วไม่ใช่เรื่องผิด

“แต่ต้องรู้ความต้องการและลิมิตของตัวเอง ยึด 3 หลักสำคัญคือ การวิเคราะห์ (analyse) การบริหารจัดการ (organize) และการป้องกัน (protect)”

และสำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการดึงคนรุ่นใหม่ หรือสตาร์ตอัพเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง สานต่อความยั่งยืน “สันติธาร เสถียรไทย” หัวหน้ากลุ่มนักเศรษฐศาสตร์ “Sea Group” ระบุว่า องค์กรต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เพราะจากผลสำรวจของทั้ง Sea Group และ World Economic Forum พบว่า 1 ใน 4 ของเยาวชนรุ่นใหม่ในอาเซียน ต้องการเป็นเจ้าของธุรกิจ มีแค่ 10% เท่านั้นที่อยากทำงานในบริษัท ฉะนั้น ความท้าทายที่สำคัญขององค์กร คือ การดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถให้ได้ ซึ่งจะเกิดขึ้นจากการสร้าง “ความอิสระ-ยืดหยุ่น” ในการทำงาน และเปิดโอกาสให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ

“รัฐ” ปลดล็อกปล่อยเอกชนลุย

ขณะที่ “ภาครัฐ” เป็นอีกกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมนวัตกรรม “Jonathan Lim” Director, Startup & Global Innovation Alliance. Enterprise Singapore ระบุว่า รัฐบาลสิงคโปร์เชื่อมั่นอย่างมากว่า หากสิ่งใดที่ภาคเอกชนหรือกลไกตลาดทำได้ดีอยู่แล้ว ภาครัฐไม่ควรเข้าไปก้าวก่าย หน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐคือการเข้าไปแก้ไขช่องว่างในระบบนิเวศบางอย่างที่เอกชนไม่ทำ ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องลงทุนสูงหรือมีความเสี่ยงในการลงทุน รวมถึงการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ

ตัวอย่าง เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการแพทย์ ซึ่งเอกชนใช้เวลา 5-10 ปี ในการนำผลิตภัณฑ์ประเภท MedTech เข้าสู่ตลาด เนื่องจากมีกฎระเบียบยุ่งยากทั้งยังมีความเสี่ยงในการลงทุนสูง ดังนั้น ภาครัฐจึงเข้ามาช่วยซัพพอร์ตให้ในส่วนที่จำเป็น สอดคล้องกับมุมมองของ “Stuart Rees” กรรมาธิการการค้าของคณะกรรมาธิการการค้าและการลงทุนของออสเตรเลีย ที่ย้ำว่า ภาครัฐต้องสนองตอบต่อความต้องการและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยการสร้างความมั่นใจว่า กฎระเบียบของภาครัฐจะไม่เป็นอุปสรรคสกัดกั้นการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่จากไอเดียของสตาร์ตอัพที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทางธุรกิจหรือต่อสาธารณะได้อย่างมาก