ยักษ์ “ซูเปอร์แอป” ปะทะเดือด ปูพรมขยายบริการชิงลูกค้า

ศึกซูเปอร์แอปปะทุเดือดแห่เปิดอีเพย์เมนต์ “Grab PAY” ลุยไตรมาส 2 ผนึกพันธมิตรเร่งเกมขยายบริการ “ปล่อยกู้” ปูทางครบวงจร “ไม่ใหญ่จริงอยู่ไม่ได้” น้องใหม่ “GET” มาครบ “เรียกรถมอ’ไซค์-ส่งอาหาร -อีวอลเลต” โฟกัสกรุงเทพฯ “ซีกรุ๊ป” มุ่ง “เกม-เพย์เมนต์-อีคอมเมิร์ซ” ต่อยอดฐานแฟนคลับรองรับตลาดโต

นายธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น “แกร็บ” (Grab) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในรอบปีที่ผ่านมา แกร็บยังคงมีการเติบโตสูงมากทั้งในส่วนของบริการเกี่ยวกับการเดินทางที่เปิดให้บริการแล้วใน 16 จังหวัด 18 เมืองทั่วประเทศ มีจำนวนผู้ร่วมขับในเครือข่ายเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า เช่นกันกับบริการส่งอาหาร (ฟู้ดดีลิเวอรี่) ก็ขึ้นเป็นผู้นำตลาดได้ตั้งแต่กลางปีที่แล้ว เติบโตถึง 40 เท่า ปัจจุบันมีร้านอาหารเข้าร่วมกว่าหมื่นร้านค้า สำหรับปีนี้แม้ในไตรมาสแรกภาพรวมเศรษฐกิจยังไม่ดี แต่แกร็บยังไปได้ดีมาก ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากเดิม

“ไลฟ์สไตล์คนที่เปลี่ยนไปมีส่วนช่วยให้เติบโตมาก อย่างกรุงเทพฯรถติดมาก หาที่จอดรถในห้างก็ยาก ค่าครองชีพในกรุงเทพฯไม่ถูก ดังนั้นพอมีโซลูชั่นในราคาที่เหมาะสมจึงขึ้นมาเป็นทางเลือกที่สำคัญของผู้บริโภค อีกส่วนที่น่าจับตามอง คือ เรื่องอาหาร แม้เราจะเป็นที่ 1 แต่การเติบโตยังเป็นเท่าตัวตลอด ชัดเจนว่าพฤติกรรมคนเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ในช่วงตรุษจีนเราทำแคมเปญ 7 วัน ผลตอบรับดีมาก มีการเรียกรถกว่า 2.5 ล้านครั้ง ส่งอาหารกว่า 8 แสนครั้ง เทียบประเทศอื่น ไทยเติบโตสูงมากในเรื่องอาหาร ถัดมาคือเรื่องการเดินทาง และส่งสินค้าที่เติบโต 2 เท่า”

และในปีนี้จะยิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลง และบริการใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งจากเทรนด์ของแชริ่งอีโคโนมีที่มาแรงมาก และความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจหลายรายที่เริ่มมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเซ็นทรัล และธนาคารกสิกรไทย โดยในราวไตรมาส 2 จะเปิดบริการ Grab pay เพื่อเป็นอีวอลเลตที่จะนำมาใช้ในอีโคซิสเต็ม รวมถึงขยายออกไปให้บริการภายนอกด้วย

ย้ำไม่ใหญ่จริงอยู่ไม่ได้

“ยอดผู้ใช้แอ็กทีฟของแกร็บอยู่ที่หลักล้านคนต่อเดือน ปัจจุบันมีบริการแล้วใน 16 จังหวัด 18 เมือง ครอบคลุมเมืองหลักทั่วประเทศแล้ว ถ้าจะขยายเพิ่มเติมอีกก็จะไปในจังหวัดที่มีเซ็นทรัล ทั้งโรงแรมและห้างสรรพสินค้า โดยเป้าหมายในไทยปีนี้ คือ Grab จะต้องเป็นเบอร์ 1 ในทุกบริการที่ให้กับลูกค้า และเติบโตอย่างน้อย 1 เท่าจากปีก่อน เชื่อว่าถ้ากฎหมายปลดล็อกเมื่อใดจะยิ่งโตกว่านี้แน่นอน”

นายธรินทร์กล่าวต่อว่า เป้าหมายในการมุ่งไปสู่การเป็น “ซูเปอร์แอป” ที่รวบรวมบริการต่าง ๆ ไว้ภายในแอปเดียว ทั้งบริการเดินทาง, บริการรับส่งอาหาร, บริการขนส่ง, บริการชำระเงินผ่านบัตร และบริการทางการเงินสำหรับผู้ใช้ภายในแอปพลิเคชั่นเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์และอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตให้ผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม ซึ่งถือได้ว่าเดินมาถูกทางและมาได้เร็ว แม้ยังไม่ครบทั้งหมด แต่ผู้บริโภคก็สามารถใช้ Grab ได้ทุกวัน และบ่อยขึ้นแล้ว หากเปิดบริการ “อีเพย์เมนต์” เพิ่มขึ้นก็จะยิ่งเชื่อมโยงกับบริการอื่น ๆ ที่ผู้บริโภคต้องการได้อีก เช่น การซื้อขายประกัน ซึ่งทำร่วมกับพันธมิตร รวมถึงบริการไมโครไฟแนนซ์ และปล่อยกู้

“การแข่งขันในตลาดซูเปอร์แอปเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ลูกค้าเปรียบเทียบได้ สำหรับ Grab ไม่เน้นวิ่งตามใคร แต่จะเปรียบเทียบเพื่อปรับปรุงให้เหนือกว่า ตอนนี้การแข่งขันด้านฟู้ดรุนแรงมาก กำไรอยู่ที่คนขายกับคนใช้บริการ แต่ถือว่ายังเป็นช่วงเริ่มต้นของตลาดจึงมีการเติบโตสูง เวลานี้คนที่เข้ามาในตลาดต้องเป็นรายใหญ่ ไม่ใหญ่จริงอยู่ไม่ได้”

GET น้องใหม่มาเร็ว จัดครบ

ด้านนายภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “GET” ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจาก “GO-JEK” ซูเปอร์แอปรายใหญ่ของอินโดนีเซีย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขยายพื้นที่บริการจนครบทั้ง 50 เขตในกรุงเทพฯแล้ว หลังเปิดทดลองให้บริการ 4 เดือน และจากที่มีแค่ GET WIN (เรียกรถจักรยานยนต์วิน) และ GET DELIVERY (ส่งของและพัสดุ) ได้เพิ่มบริการทั้ง GET FOOD (สั่งอาหาร) และ GET PAY (อีวอลเลต) แล้ว ซึ่งอีวอลเลตจะเป็นทางเลือกให้ใช้งานได้สะดวกขึ้น ไม่ต้องมีบัญชีธนาคาร และมีช่องทางเติมเงินที่เข้าถึงง่าย

GET มีคนขับจำนวนมากที่เป็นเอเย่นต์ในการเติมเงินให้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือถ้าใครมีบัญชีก็เลือกเติมเงินผ่านโมบายแอปของธนาคารได้ เราหวังว่าในอนาคตจะต่อยอดเพื่อให้คนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ทั่วถึง GET PAY จะช่วยเสริมอีโคซิสเต็มให้ใช้ได้สะดวกขึ้น โดยในช่วงทดลองยังใช้ได้เฉพาะจ่ายค่า GET WIN แต่ในอนาคตจะใช้จ่ายได้หมดทั้งในแอป GET เอง และนอกแอป”

สำหรับแผนธุรกิจในปีนี้จะโฟกัส 4 เรื่องหลัก คือ 1.การเข้าถึงตลาดในกลุ่มออฟไลน์ที่ยังไม่เคยใช้บริการประเภทนี้ เพื่อขยายกลุ่มผู้ใช้บริการ 2.โฟกัส 4 บริการที่มีให้มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งคนขับที่มีความรู้ความเข้าใจ มีร้านอาหารเข้ามาเป็นพันธมิตรเพิ่ม รวมถึงโปรโมชั่นและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ 3.การสร้าง GET ให้ก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นโดยคนไทยที่ทำงานแบบเวิลด์คลาส และ 4.ภายในปีนี้จะต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนกรุงเทพฯให้ได้ 1 ล้านคน รวมทั้งผู้ใช้บริการ, คนขับ และร้านอาหาร ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

“เชื่อว่ายิ่งแข่งขันมาก ยิ่งทำให้ตลาดคึกคักและเติบโต การที่ GET เข้ามาในตลาด ถือเป็นตัวเลือกใหม่ ซึ่งตัวเลือกเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะช่วยสร้างการรับรู้ในวงที่กว้างขึ้น สร้างการแข่งขันทั้งด้านราคาที่มีการแข่งขันทำให้ราคาโดยรวมทั้งตลาดถูกลง มีโปรโมชั่นมากขึ้น ทั้งในส่วนของผู้ใช้และคนขับ เป็นประโยชน์กับทุกคน”

โดยหลังจาก GET เปิดตัวเป็นทางการในเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ปัจจุบันมียอดดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น เกือบ 400,000 ครั้ง มีคนขับกว่า 10,000 คน และกว่า 20,000 ร้านอาหารในเครือข่าย

“ซีกรุ๊ป” มุ่ง 3 ธุรกิจ

นางสาวมณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sea (ประเทศไทย) ผู้ให้บริการเกมออนไลน์ ภายใต้แบรนด์ “การีนา”, แอปพลิเคชั่นเพย์เมนต์ “AirPay” และอีคอมเมิร์ซ “Shopee” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทพร้อมลงทุนต่อเนื่องในไทย เนื่องจากทั้ง 3 ธุรกิจเติบโตสูงต่อเนื่อง และตลาดยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก จากกำลังซื้อของผู้บริโภค ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน และพฤติกรรมผู้บริโภคที่พร้อมทำให้ธุรกิจในไทยโตอยู่ในอันดับต้น ๆ ในกลุ่มประเทศที่เข้าไปเปิดให้บริการ แม้การแข่งขันจะรุนแรงในทุกกลุ่มธุรกิจ แต่ Sea มีเครือข่ายที่แข็งแรง และมีแฟนคลับที่ใช้งานต่อเนื่อง อย่าง AirPay มียอดผู้ใช้งานแอ็กทีฟกว่า 6 ล้านราย เดิมเป็นกลุ่มที่ใช้เพื่อเติมเงินในเกมออนไลน์เป็นหลัก แล้วขยายมายังจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงบิลเพย์เมนต์ต่าง ๆ

“เราพยายามทำให้ลูกค้าที่ใช้งานแต่ละบริการเชื่อมโยงข้ามไปใช้บริการในเครืออื่น ๆ ได้ โดยมีสิทธิประโยชน์พิเศษจูงใจ ขณะที่ฐานแฟนคลับกลุ่มเกมที่เป็นธุรกิจเริ่มต้นก็เติบโตไปพร้อม ๆ กัน เป็นลูกค้าต่อเนื่อง ยังไม่มีแนวคิดจะพัฒนาเป็นซูเปอร์แอปที่รวมทุกบริการไว้ที่เดียว เพราะมองว่าผู้บริโภคควรมีสิทธิ์เลือกใช้งานด้วยตนเอง มากกว่ายัดเยียดในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ จึงเน้นพัฒนาฟีเจอร์และฟังก์ชั่นการใช้งานแยกเป็นแต่ละแอป รวมถึงการหาพันธมิตรร้านค้า เพิ่มจุดให้ใช้งาน และสิทธิพิเศษเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่าที่จะใช้”

และมองหาบริการใหม่ที่จะขยายธุรกิจ อาทิ บริการสินเชื่อ อย่างในประเทศไทยอาจจะเป็นการจับมือกับพันธมิตรเพื่อเป็นตัวกลางระหว่างสถาบันการเงินกับผู้ต้องการกู้เงิน

“Sea ให้ความสำคัญกับทั้งธุรกิจเกม เพย์เมนต์ และอีคอมเมิร์ซ พร้อมลงทุนต่อเนื่องในไทย โดยเฉพาะการทำแคมเปญการตลาด การนำ AI มาวิเคราะห์ข้อมูลกระตุ้นฐานลูกค้าและยอดการใช้ให้เติบโต ทั้ง 3 ตลาดโตสูง มีลูกค้าในมือมากเป็นช่องทางที่แบรนด์ต่าง ๆ ยินดีเข้ามาร่วมสนับสนุนแคมเปญเพิ่มขึ้นอย่างมาก แม้เงินลงทุนการตลาดโดยรวมจะเพิ่มขึ้น แต่ถ้าเฉลี่ยกับยอดลูกค้า ยอดรายได้ที่เติบโตขึ้นแล้ว ถือว่ามีค่าใช้จ่ายต่อผู้ใช้ลดลง ไม่ได้อยู่ในภาวะที่ยิ่งขายยิ่งขาดทุน เหมือนธุรกิจออนไลน์ในประเทศอื่นที่แข่งดุเดือด”