“ตู้เติมเงิน” ดิ้นสู้เร่งเพิ่มบริการปูพรมบุก ตจว.

ธุรกิจ “ตู้เติมเงิน” พลิกกลยุทธ์สู้ดิจิทัลดิสรัปต์เต็มสูบ ขาใหญ่เร่งขยายบริการเพิ่มเติมอุตลุด-ผนึกพันธมิตรทั้งค่ายมือถือ และธนาคาร นำร่อง “banking agent” จับจังหวะธนาคารแห่ปิดสาขา พร้อมรับเทรนด์ตู้ขายสินค้าอัตโนมัติจัดครบทั้ง “เครื่องดื่ม-ซิมมือถือ” มั่นใจสนามภูธรยังไปต่อได้อีก

นายณรงค์ศักดิ์ เลิศทรัพย์ทวี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟอร์ท สมาร์ท เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ FSMART ผู้ให้บริการตู้ “บุญเติม” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดตู้เติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ปัจจุบันไม่ได้เติบโตหวือหวา เนื่องจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จูงใจให้ลูกค้าเปลี่ยนไปใช้บริการแบบจ่ายรายเดือน (โพสต์เพด) แม้ในปีนี้จะหันกลับมาเน้นตลาดลูกค้าเติมเงิน (พรีเพด) มากขึ้น เพราะมีปัญหาเรื่องค้างชำระค่าบริการรายเดือนจำนวนมาก แต่ตลาดบริการเติมเงินเริ่มไม่เติบโตและมีกำไรไม่มาก ปัจจุบันมีตู้เติมเงินมือถือทั้งหมดในประเทศราว 3 แสนตู้ เน้นแข่งขันด้านทำเลและบริการเสริม สำหรับ “บุญเติม” มี 1.3 แสนตู้ โดย 70% ของการใช้บริการยังเป็นการเติมเงินมือถือ

ขยับสู่ Vending Machines

“ตลาดเติมเงินมือถือเริ่มไม่ทำรายได้ เติบโตเพียงหลักเดียว มองว่าอนาคตตู้เหล่านี้จะกลายเป็นตู้สำหรับจำหน่ายสินค้า (vending machines) และแทนที่ร้านสะดวกซื้อ”

ที่ผ่านมา “บุญเติม” ได้เริ่มติดตั้งตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติแล้ว 2,000 ตู้ และร่วมมือกับ “เอไอเอส” ติดตั้งตู้จำหน่ายซิมการ์ดโทรศัพท์เคลื่อนที่อัตโนมัติ แล้วราว 100 จุด ตั้งเป้าจะขยายเป็น 2-3,000 จุดในสิ้นปี นอกจากนี้ยังได้เริ่มธุรกิจตู้ชาร์จไฟสำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ “ดีแทค” ที่แตกไลน์ธุรกิจจำหน่ายมอเตอร์ไซค์พลังงานไฟฟ้า

“ตอนนี้ตู้อัตโนมัติที่รองรับบริการได้หลายอุตสาหกรรมยังโตได้อีกเยอะ เพราะลงทุนน้อยกว่าตั้งสาขา อย่างเซเว่น อีเลฟเว่นก็เริ่มหันมาทำตู้เวนดิ้งขายน้ำ ทุกคนเห็นโอกาสเพราะในไทยยังมีตู้อัตโนมัติแบบนี้แค่หลักหมื่นตู้ ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคไม่อยากเดินไกล ถ้าตู้ใกล้กว่าเซเว่น คนก็เลือกซื้อของผ่านตู้”

ลุยหาพาร์ตเนอร์ Banking Agent

ขณะที่บริการรับโอนเงินและฝากเงินกำลังได้รับความนิยม คิดเป็น 20% ของธุรกรรม แต่เชื่อว่าภายใน 2 ปีจะขยับสัดส่วนมาอยู่ที่ 50% เนื่องจากแนวโน้มการปิดสาขาของธนาคาร ทำให้ลูกค้าหันมาใช้บริการตู้อัตโนมัติมากขึ้น

“คนส่วนใหญ่มองว่า เดี๋ยวนี้มีโมบายแบงกิ้ง แอปพลิเคชั่นของธนาคารทำธุรกรรมทางการเงินได้ ไม่เสียค่าธรรมเนียมด้วย แต่ความจริงแล้ว เป็นผู้ใช้คนละกลุ่มกับตู้เติมเงิน ซึ่งเรามีจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งแม้ว่าจะมีร้านสะดวกซื้อผันตัวเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์แล้ว แต่ก็ยังเข้าไม่ถึงพื้นที่ได้มากเท่าเรา ฉะนั้น บุญเติมต้องเร่งหาพาร์ตเนอร์และออกบริการให้เร็ว”

และในปีนี้จะเน้น 4 ธุรกิจใหม่ ได้แก่ 1.การปล่อยสินเชื่อรายย่อย โดยจะเริ่มกับลูกค้าในเครือข่ายของ “บุญเติม” ก่อน คาดว่าจะเริ่มได้ช่วงไตรมาส 2-3 นี้ 2.บริการแบงกิ้งเอเย่นต์ โดยเพิ่มพาร์ตเนอร์ให้มากขึ้น จากที่มีธนาคารกสิกร กรุงเทพ และออมสิน 3.มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าช่วงครึ่งปีหลังจะบุกตลาดมากขึ้น และ 4.การขายประกันรายย่อย เช่น ประกันอุบัติเหตุรายสัปดาห์

“ปีนี้ตั้งเป้าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อนที่มียอดเงินราว 3,000 ล้านบาท กำไร 585 ล้านบาทและตั้งเป้ารายได้เพิ่มขึ้นอีก 10%”

จุดขายวัดกันที่ทำเล

นายชูเกียรติ รุจนพรพจี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มสบายเทคโนโลยี ผู้ให้บริการตู้ “เติมสบาย” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ”ว่า ธุรกิจตู้เติมเงินยังมีความต้องการ บริการในรูปแบบของแบงกิ้งเอเย่นต์ (banking agent) รับฝาก และโอนเงิน รวมถึงการจ่ายบิลใบแจ้งหนี้ต่าง ๆ กำลังได้รับความนิยม โดยสัดส่วนธุรกรรมผ่านตู้ “เติมสบาย” 85% ยังเป็นการเติมเงินมือถือ ที่เหลือเป็นการฝากเงินและจ่ายบิล แต่คาดว่าในอีก 2 ปี การฝากเงินจะขยับสัดส่วนเป็น 25%

“ตลาดยังพอไปได้ แม้จะทรงตัวมา 3 ปี สิ่งสำคัญคือ ทำเล นอกนั้นก็วัดกันที่บริการในตู้ว่าใครมีมากกว่ากันและขยายพาร์ตเนอร์ ดังนั้น รายเล็กก็จะเสียเปรียบเจ้าใหญ่ ๆ เพราะไม่มีบริการที่หลากหลายและคุณภาพตู้สู้ไม่ได้ แต่ก็จะมีรายใหม่เข้าตลาดน้อย ด้วยต้นทุนที่สูง”

ปัจจุบัน “เติมสบาย” มีมาร์เก็ตแชร์อันดับ 2 ของตลาดตู้เติมเงิน มีราว 5.1 หมื่นตู้ ตั้งเป้าขยายเพิ่มเป็น 6 หมื่นตู้ ภายในสิ้นปี มียอดเงินเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2 หมื่นบาท/ตู้/เดือน โดยกำลังเร่งเพิ่มการติดตั้งตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ “เวนดิ้งพลัส” ให้ได้ 4,000 ตู้ รวมทั้งหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มบริการในตู้อัตโนมัติ

“ตอนนี้เป็นพาร์ตเนอร์กับทรู เพื่อใช้ตู้เติมสบายจำหน่ายซิมการ์ด และยังเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์ให้กสิกร, กรุงไทย และออมสิน สภาวะเศรษฐกิจมีผลไม่มาก เพราะสุดท้ายเป็นของที่คนต้องใช้”

ไม่โตแต่ ARPU ไม่ลด

ด้านนายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมี 30,000 ตู้ ปีนี้คงไม่เพิ่มจำนวน รวมถึงขยายบริการใหม่ ๆ เพราะตลาดไม่โต โดยการใช้งานกว่า 80% ยังเป็นการเติมเงินโทรศัพท์มือถือที่เหลือยังเป็นการชำระบิล และขายบัตรเติมเกม

“มีรายใหม่เกิดขึ้นบ้าง แต่เชื่อว่าคงอยู่ได้ไม่นาน ด้วยบริการที่สามารถทำได้มีน้อยกว่ารายใหญ่ เรื่องการเป็นแบงกิ้งเอเย่นต์เรายังไม่มีแผน เพราะมีข้อจำกัดเรื่องการโอนเงินที่ยังมีค่าธรรมเนียม”

แม้ว่าธุรกิจจะเติบโตไม่มาก แต่ซิงเกอร์ยังไม่ทิ้ง เพราะรายได้เฉลี่ยต่อตู้ไม่ลดลง ทั้งมีบริการซื้อแพ็กเกจเสริมอินเทอร์เน็ตเป็นจุดเด่นที่ยังมีโอกาสเติบโตได้จึงถือเป็นช่วงเน้นการรักษารายได้ต่อเดือนต่อตู้ไว้

“เอไอเอส-ทรู” ร่วมวง

บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) รายงานว่า การเติมเงินมือถือผ่านตู้ “บุญเติม” มีสัดส่วนกว่า 40% ของช่องทางเติมเงินที่ลูกค้าระบบพรีเพดเอไอเอสใช้งาน ซึ่งส่วนใหญ่ลูกค้าพรีเพดจะอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด สอดคล้องกับข้อมูลของ “ทรูมูฟ เอช” จึงเป็นเหตุผลที่ทั้ง 2 ค่ายเร่งจับมือเป็นพันธมิตรกับผู้ให้บริการตู้เติมเงินเพื่อขยายช่องทางจำหน่ายซิมการ์ด


ด้านนางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดีแทคเน้นการเพิ่มช่องทางการเติมเงินและชำระค่าบริการให้ลูกค้าผ่านระบบดิจิทัล ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคตอบรับมากขึ้นเรื่อย ๆ การให้บริการตู้อัตโนมัติมีตามศูนย์บริการลูกค้า ไม่มีแผนขยายพื้นที่ติดตั้งเพิ่มเติม รวมถึงเพิ่มบริการใหม่ ๆ แต่อย่างใด