“เข้าใจ-ใส่ใจ-Passion” เคล็ดลับขายออนไลน์ให้รวย

การค้าขายออนไลน์กลายเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงลูกค้าได้แบบทุกที่ทุกเวลาไร้พรมแดน แต่ก็แลกมาด้วยการมีคู่แข่งมหาศาลบนแพลตฟอร์ม เมื่อเร็ว ๆ นี้ “ไปรษณีย์ไทย” จึงเปิดเวทีเชิญผู้ประสบความสำเร็จจากการใช้ช่องทางออนไลน์ทำธุรกิจมาเคลียร์ทุกคำถามคาใจ “ขายออนไลน์ให้ปัง”

เข้าใจลูกค้าคือหัวใจ

ประเดิมที่แบรนด์เก่าแก่ที่กลับมาฮิตอีกครั้งด้วยการตลาดออนไลน์อย่าง “แป้งศรีจันทร์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีจันทร์สหโอสถ จำกัด “รวิศ หาญอุตสาหะ” เปิดเผยว่า หัวใจสำคัญของธุรกิจคือ “เข้าใจลูกค้า” ไม่ใช่จะขายแต่สิ่งที่อยากขายจึงเป็นที่มาของการเข้าไปพูดคุยกับวัยรุ่น ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการเติบโตสูงเพื่อสำรวจความต้องการและพฤติกรรม จนพบว่าวัยรุ่นยุคนี้ถ่ายรูปเซลฟีกันมาก การแต่งหน้าคือการลงทุนเพื่อให้ตัวเองดูดี ถ่ายรูปออกมาสวย แต่หลายโรงเรียนไม่อนุญาตให้นักเรียนแต่งหน้า

“เด็ก ๆ จึงต้องแต่งหน้าให้ครูจับไม่ได้ ศรีจันทร์จึงได้ออกแบรนด์ SASI เครื่องสำอางสำหรับวัยรุ่นอายุ 13-20 ปี โดยทำโฆษณาว่าเป็นเครื่องสำอางที่แต่งแล้วดูเป็นธรรมชาติจนครูจับไม่ได้ ซึ่งปีที่ผ่านมาเติบโตเป็นเท่าตัวทุกเดือน เป็นแบรนด์ที่ราคาค่อนข้างถูก แพ็กเกจอาจไม่ได้ลักเซอรี่มาก แต่เน้นที่ตัวผลิตภัณฑ์ให้ถูกใจเด็กวัยรุ่น”

สั้น กระชับ โดนใจปุ๊บ ซื้อปั๊บ

กลยุทธ์ออนไลน์ของศรีจันทร์ มี 2 ส่วน

1) สื่อโฆษณา พยายามเก็บข้อมูลให้ได้มากขึ้น เพื่อจะได้ทราบว่าโฆษณามีผลกับการซื้อของที่ร้านออฟไลน์อย่างไร 2) อีคอมเมิร์ซ เน้นการเก็บข้อมูลของลูกค้าและคุยกับลูกค้าให้มากขึ้น และต่อเนื่องไม่ใช่แค่ขายของแล้วจบ

“บนโซเชียลมีเดีย โลกออนไลน์ ผู้บริโภคมีสิ่งที่น่าสนใจมากขึ้น สิ่งที่จะสื่อสารไปยังลูกค้าจึงต้องนำเสนอแบบสั้น เร็ว กระชับ และลูกค้าตัดสินใจซื้อของง่ายขึ้น ชอบก็ซื้อเลย ผู้ขายจึงต้องมีกระบวนการซื้อที่ง่าย ตอบโจทย์ลูกค้า”

ตลาดเครื่องสำอาง ปกติจะโตปีละ 6-8% เฉลี่ยประมาณนี้มาเป็นสิบปีแล้ว

“ธุรกิจเครื่องสำอาง แทบไม่มี barrier of entry ใครอยากทำก็ทำได้ ทำให้มีคู่แข่งมากขึ้น ต้องทำงานหนัก แต่เป็นเรื่องดีที่ตลาดนี้ยังโต สิ่งที่ศรีจันทร์ให้ความสำคัญในปีนี้ คือ การทำให้ลูกค้าที่รู้จักเราอยู่แล้ว อยากกลับมาซื้อซ้ำ การรักษาฐานลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ”

เครื่องมือช่วยออนไลน์

“กัญญาณัฐ ปิติเจริญ” Facebook Thailand Client Solutions Manager ระบุว่า คนไทยชอบขายของบนโซเชียล คอมเมิร์ซ แตกต่างจากยุโรป เฟซบุ๊กจึงเปิดตัวหลายฟีเจอร์ใหม่เพื่อรองรับ ได้แก่ “Facebook Shop” ฟีเจอร์ที่ทำให้วางขายสินค้าง่ายขึ้น ใช้ได้ฟรี รวมถึง “messenger payment” ฟีเจอร์หลังจากเจรจาซื้อขาย ผู้ค้าสามารถส่งบิลไปถึงลูกค้าได้ทันที ลูกค้าสามารถกดชำระเงินผ่านธนาคารได้เลย ระบบจะส่งต่อไปยังแอปพลิเคชั่นธนาคารระบุยอดเงินให้อย่างถูกต้อง โดยในช่วงแรกร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย เมื่อชำระเงินเรียบร้อยจะส่งใบเสร็จไปยังผู้ขาย และฟีเจอร์ “market place” รวบรวมสินค้าทั้งหมดจากเฟซบุ๊กช็อปมาไว้ที่เดียวกัน แบ่งเป็นแคทิกอรี่ต่าง ๆ เช่น ไอที เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า

นอกจากนี้ ยังมีฟีเจอร์ “Facebook Watch” พื้นที่สำหรับคอนเทนต์วิดีโอสำหรับคนที่มีเวลาดูนาน ๆ ซึ่งในไทยมียอดคนดูติด top 3 แล้ว และมีฟีเจอร์โฆษณาคั่นชื่อว่า “In Stream” ที่จะมีอัลกอริทึ่มวิเคราะห์ตามพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นรายคน

“ผู้ใช้เฟซบุ๊ก หากพบคอนเทนต์วิดีโอจะใช้เวลาตัดสินใจเพียง 1.7 วินาที ว่าจะรับชมต่อหรือไม่ การทำโฆษณาของครีเอทีฟจึงต้องสั้นกระชับ”

ปัจจุบันคนไทยเล่นเฟซบุ๊ก 52 ล้านบัญชี อินสตาแกรม 19 ล้านบัญชี คนไทยไม่ค่อยเล่นอินสตาแกรม เพราะคิดว่าจะโพสต์รูปก็ต่อเมื่อมีอะไรน่าอวด จึงมีฟีเจอร์ “story” เพื่อแชร์โมเมนต์ที่เกิดขึ้นของผู้ใช้ เมื่อผ่านไป 24 ชั่วโมงโพสต์จะหายไป คนเริ่มมีการโพสต์ลง story มากขึ้น การลงโฆษณาจึงย้ายจากหน้าฟีดมาอยู่ที่ story

“เฟซบุ๊กมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เพราะเป็นแพลตฟอร์มที่ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ที่พฤติกรรมเปลี่ยนตลอดเช่นกัน”

ใส่ใจสิ่งที่ทำ

“ยศสินี ณ นคร” ผู้ผลิตละครและเจ้าของธุรกิจบราวนี่ “Yossiebistro” กล่าวว่า ทำขนมด้วยใจที่รัก อยากให้ลูกค้ามีความสุข

“ในฐานะคนขาย เมื่อของ 2,000 ชิ้นออกจากมือเราไป จะกลายเป็น 1 ชิ้นของลูกค้า ฉะนั้น ของทุกชิ้นต้องดี”

อุปสรรคของการขายของออนไลน์ คือ ของเลียนแบบ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ควรใช้เวลามาใส่ใจกับงานของตัวเองมากกว่ากังวลกับการลอกเลียนแบบของคู่แข่ง


“ถ้าเขาไม่มี passion เดี๋ยวเขาก็ไป วันนี้ถ้าใครอยากหา passion ให้ตั้งคำถามตัวเอง ไม่ใช่แค่ชอบอะไร อยากทำอะไร แต่ตั้งคำถามว่าอยากทำอะไร เพื่อใคร เปิดใจกับทุกอย่าง ใส่ใจกับสิ่งที่ตัวเองกำลังทำให้มากที่สุด และตั้งใจกับสิ่งที่ทำ แบรนดิ้งของ Yossiebistro คือ ความตั้งใจ”