แฟลชเอ็กซ์เพรสทุ่ม 2.5 พันล้าน 4 ปีปูพรมทั้งอาเซียน

“แฟลช เอ็กซ์เพรส” พร้อมทุ่มอีก 2,500 ล้านบาท แถมจ้างพนักงานเพิ่มเท่าตัวทะลุ 10,000 คน หวังอัพเกรดบริการโลจิสติกส์สู่ same day ปักธงก้าวเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซครบวงจร ไล่เทกโอเวอร์ 7 บริษัทสร้างเครือข่ายเสริมแกร่ง หลังเติบโตเท่าตัวทุกเดือน ฝันไกล 4 ปีบริการครบทั้ง 10 ประเทศอาเซียน

นายคมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร แฟลช เอ็กซ์เพรส จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เป้าหมายของบริษัทคือการเป็นผู้ให้บริการ “อีคอมเมิร์ซ” แบบครบวงจร ไม่ใช่แค่ขนส่ง แต่มีบริการทางการเงิน การแพ็กสินค้าและอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับอีคอมเมิร์ซ โดยมีจุดเด่น คือ ให้บริการไม่มีวันหยุด รับพัสดุฟรีจากหน้าบ้านผู้ส่งเปิดให้บริการในไทยเกือบ 1 ปีแล้ว ลงทุนไป 2,500 ล้านบาท เติบโตกว่า 100% ในทุกเดือน เฉพาะ ม.ค.ที่ผ่านมามียอดส่งพัสดุกว่า 1 ล้านชิ้น ปัจจุบันมีพนักงานกว่า 6,500 คน สาขากว่า 500 แห่งทั่วประเทศ ปีนี้เตรียมจะลงทุนอีก 2,500 ล้านบาท

และภายใน มิ.ย.นี้ จะเพิ่มพนักงานเป็น 1 หมื่นคน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการขนส่ง จากปัจจุบันส่งแบบ “วันถัดไป” (next day) ปีนี้จะพัฒนาให้ส่งถึงผู้รับได้ในวันเดียวกัน (same day) “แม้ปัจจุบันการแข่งขันจะสูง ทั้งการแย่งลูกค้า ตัดราคา ทำการตลาด แต่เรื่องการจ้างคนเป็นสงครามหลัก เพราะยิ่งมีคนเยอะคาพาซิตี้ยิ่งสูง ต้นทุนยิ่งลด ยิ่งแฟลช เอ็กซ์เพรส รับฟรีถึงบ้าน สิ่งที่ต้องโฟกัสคือ เจ้าหน้าที่ เพราะยิ่งเยอะยิ่งรับ-ส่งได้แบบเรียลไทม์ ขณะที่ธุรกิจโลจิสติกส์การจอดหรือหยุดเท่ากับมีต้นทุน ดังนั้น ต้องวิ่งตลอดเวลา สาขาจะเป็นเพียงระบบพักและกระจายสินค้า ฉะนั้นยิ่งมีสาขาเยอะแปลว่าต้นทุนคงที่ยิ่งสูง จึงมองว่าที่มีอยู่เพียงพอแล้ว จึงไม่เน้นขยายจุดเพิ่ม แต่จะขยายพื้นที่สาขาให้ใหญ่ขึ้น”

แต่ด้วยการแข่งขันและบุคลากรที่มีความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซยังไม่มากพอ ทำให้บริษัทต้องริเริ่มโครงการ Flash Express @ University Shop หรือศูนย์ฝึกประสบการณ์โลจิสติกส์แบบครบวงจร ลงทุนกว่า 100 ล้านบาท จับมือกับสถาบันการศึกษากว่า 31 แห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล ธรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ เพื่อให้จบออกมาแล้วทำงานได้ทันที ซึ่งมีเป้าหมายจะจับมือร่วมกับทั้ง 160 สถาบันการศึกษาในไทย

โดยที่ผ่านมาได้ใช้งบฯการตลาด 200 ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ในช่วงแรก และสร้างภาพลักษณ์บริษัทผ่านพรีเซ็นเตอร์อย่าง “ติ๊ก เจษฎาภรณ์ ผลดี” แต่จากนี้จะไม่ได้โฟกัสเรื่องสร้างแบรนด์เป็นหลัก เพราะบริการที่ดีเยี่ยมให้ผลดีกว่าการทำโฆษณา จึงเน้นที่การพัฒนาคุณภาพเพื่อให้เกิดกระแส “ปากต่อปาก”

นอกจากนี้ บริษัทยังตั้งเป้าหมายระยะยาวคือ ขยายให้ครบ 10 ประเทศอาเซียนภายใน 4 ปี เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งทั้งหมดให้เป็นหนึ่งเดียว โดยเฟส 1 เม.ย.นี้ จะเริ่มเปิดตลาดใน CLMV ส่วนเฟส 2 จะเริ่มที่ประเทศอินโดนีเซีย

“บริษัทยังอยู่ในช่วงลงทุน และเราก็ไม่ได้หวังรายได้จากธุรกิจโลจิสติกส์ อย่างอาลีบาบายังไม่มีกำไรในช่วง 10 ปีแรก ขณะที่บริษัทไม่ได้ทำขนส่งดั้งเดิม แต่จะเริ่มทำกำไรได้จากบริษัทในเครือทั้ง 7 บริษัท ที่เทกโอเวอร์มา ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจสนับสนุนอีคอมเมิร์ซทั้งหมด และจะเปิดตัวในเร็ว ๆ นี้”

“ไทยยังเป็นศูนย์กลางของอาเซียน มีความพร้อมในการลงทุนกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งความเสรี คุณภาพคน แต่สิ่งที่อยากให้ภาครัฐเสริมคือ บริการทางด้านการเงินให้กับ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น”