เอไอเอสใช้ข้อมูลติดสปีดธุรกิจ ปั้นแอดเวอร์ไทซิ่งฟอร์ไทย-ดีลเลอร์ 4.0

เอไอเอส ลุยปั้น “Advertising for Thai” เชื่อม Top 100 ของ Thailand Ads Network หวังเบียดชิง 1.8 หมื่นล้านจากกูเกิล-เฟซบุ๊ก พร้อมดันโมเดล “ดีลเลอร์ 4.0” จับมือพาร์ตเนอร์ลดต้นทุนหนุนโกออนไลน์ เล็งพลิกโฉมแบรนด์ครั้งใหญ่ก้าวสู่ everyday life uses

นายวิศรุต เอื้ออานันท์ head of online channel management บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ให้น้ำหนักกับการทำออนไลน์มาร์เก็ตติ้งมากว่า 5 ปีแล้ว เห็นได้จากแคมเปญการตลาดที่เข้มข้น ทั้งพรีเซ็นเตอร์ บริการใหม่รองรับยุคดิจิทัล โดยเฉพาะการให้น้ำหนักกับการสร้างคอนเทนต์และสร้างกระแสผ่านโซเชียลมีเดีย อาทิ แฮชแท็ก #AISNEXTGXPECKBAMBAM ที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ทั้งในไทยและท็อป 10 ของโลก หรือ #แรงข้ามภพข้ามชาติ ที่จับกระแสละครบุพเพสันนิวาส จนในปีที่แล้ว ทวิตเตอร์ @AIS_Thailand อยู่ในอันดับ 1 ของแบรนด์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดบนทวิตเตอร์

4 กลยุทธ์ออนไลน์

โดยกลยุทธ์สำคัญคือ มุ่งที่ 4 แกน ได้แก่ paid, owned, earned และ social เพื่อให้มีจุดโฟกัสที่ชัดเจนท่ามกลางสื่อออนไลน์ที่มีหลากหลายรูปแบบมาก แม้ว่า เอไอเอสจะมีโซเชียลมีเดียครบทุกแพลตฟอร์มก็ตาม แต่ได้ให้ความสำคัญกับการวางแผน วิเคราะห์โดยการใช้ data-driven marketing

ที่สำคัญคือ เปลี่ยนจากโซเชียลคอนเทนต์ธรรมดา เป็นโซเชียลคอมเมิร์ซ ขายหมดทุกอย่างตั้งแต่สมาร์ทโฟน ซิม แพ็กเกจ และคอลลิ่งเมโลดี้บนโลกออนไลน์ เพราะพฤติกรรมลูกค้าอยู่บนออนไลน์ทั้งสิ้น

“สื่อที่เสียเงิน (paid) ต้องผลักดันให้กลับมาที่สื่อหลัก (owned) เช่น เว็บไซต์ จากนั้น owned ต้องพยายามโพสต์บนโซเชียล เพื่อให้เกิดการแชร์บนโซเชียล(social) จากนั้นถึงจะได้ earned ที่เกิดจากการบอกต่อหรือ in direct แต่ก็มีการเขียนคอนเทนต์เพื่อดันจาก owned ให้มาเป็น earned เช่นกัน สมัยก่อนการวัดผลยาก เพราะมีแค่ Google Analytics ทำให้วัดได้แค่ owned ดังนั้นก็ต้องฟังเอเยนซี่อย่างเดียว แต่ปัจจุบัน เอไอเอสทำทุกอย่างเอง 100% ทั้ง bid, graphic โดยใช้ดาต้ามาเป็นตัวขับเคลื่อน เช่น แบนเนอร์แบบไหนคนกด แบบไหนคนไม่กด ส่วนต่อมาคือ consider หรือส่วนที่ใช้พิจารณา เช่น ดูรีวิว รีเสิร์ช เราก็ทำเว็บไซต์ทั้งให้ข้อมูลและขายของ เพื่อดันให้เขามาซื้อ และเกิด loyalty”

ปั้น “Advertising for Thai”

และเมื่อ เอไอเอสตั้งเป้าจะเป็น “digital data service provider” ที่ไม่ได้จำกัดแค่เฉพาะกับลูกค้าตัวเอง แต่เป็นลูกค้าผู้บริโภคทั่วประเทศ จึงสร้างแพลตฟอร์ม “Advertising for Thai” เพื่อเชื่อมพาร์ตเนอร์สื่อ “Thailand Ads Network” (THAN) ที่เป็น top 100 ของประเทศ ข้ามแพลตฟอร์ม และใช้ดาต้าอนาไลติกมาช่วย

“เป้าหมายจะดึงค่าโฆษณาออนไลน์กลับมาสื่อโลคอล เพราะปัจจุบันโฆษณาออนไลน์มีมูลค่าถึง 18,000 ล้านบาท แต่ 90% ไหลไปที่เฟซบุ๊ก กูเกิลหมด เมื่อเอไอเอสเป็นคนที่รู้จักลูกค้าดีที่สุด ทาร์เก็ตลูกค้าได้ เป็น digital data ser-vice provider ต่อไปจึงจะเปิดดาต้าให้พาร์ตเนอร์ใช้ ให้สามารถเข้าถึงแดชบอร์ดและขายโฆษณาของตัวเองส่งตรงถึงลูกค้าตามกลุ่มเป้าหมายได้ เอไอเอสจะคิดค่าแพลตฟอร์ม แทนที่จะใช้กูเกิลอนาไลติก ก็มาใช้เราแทน”

ปัจจุบันได้เริ่มใช้กับส่วนการตลาดภายในองค์กรก่อน โดยเอไอเอสจะใช้ช่องทางโฆษณาของพาร์ตเนอร์ในเครือข่ายก่อนเป็นอันดับแรก ตั้งเป้าจะให้ภายในเอไอเอสใช้งานแพลตฟอร์มนี้ให้ได้ 50% แทนที่จะใช้ช่องทางเฟซบุ๊ก กูเกิลหรืออื่น ๆ ทั้งหมด หลังจากนั้นจึงเริ่มขยายไปทำตลาดภายนอกเพื่อใช้แพลตฟอร์มสร้างรายได้ และเริ่มแบ่งรายได้กับพาร์ตเนอร์ในเครือข่าย ปัจจุบันมีหลายแบรนด์เริ่มสนใจใช้งานแล้ว เช่น พันทิป, เมเจอร์

ดีลเลอร์ 4.0

“ทำไมเราต้องจ่ายผ่านกูเกิล เพื่อให้กูเกิลไปลงแอดให้คนอื่น ๆ ทำไมเราไม่ต่อตรงกันเอง ตัดคนกลางทิ้ง จ่ายกันตรง ๆ อนาคตสื่อโลคอลก็ได้เงินเพิ่ม เอไอเอสก็อยู่รอดได้ แพลตฟอร์มก็สามารถต่อยอดสร้างรายได้ แต่เราไม่ได้มองว่าช่องทางของต่างชาติเป็นศัตรู แต่มองว่าเป็นพาร์ตเนอร์ เพราะทุกคนมีสภาพแวดล้อมเฉพาะของตัวเอง แค่เราต้องเลือกว่าช่องทางไหนดีสุด แต่จะเน้นที่โลคอลเป็นลำดับแรก”

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดทรานส์ฟอร์มพาร์ตเนอร์ให้เป็น “ดีลเลอร์ 4.0” ผลักดันระบบร้านค้าออนไลน์เพื่อลดต้นทุน และสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคด้วย อย่าง AIS Store มียอดขายเติบโตจากปีที่แล้ว 100 เท่า ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนยอดขายให้ขยับเป็น 10% ของยอดขายทั้งหมด และตั้งเป้าไว้สูงสุดที่ 50%

“ไม่ใช่แค่ทำโฆษณาร่วมกัน แต่ยังขายของร่วมกันด้วย อย่างให้ Telewiz เขียนโปรโมตสินค้าบนเฟซบุ๊ก ถ้ามีการกดลิงก์จากเว็บนั้น ๆ เอไอเอสก็จะจ่ายส่วนแบ่งให้ ดีลเลอร์ก็ไม่ต้องสต๊อกของเยอะ หรือพาร์ตเนอร์เว็บไซต์ด้วย เช่น พาร์ตเนอร์เขียนเรื่องเกี่ยวกับสินค้า แล้วมีคนซื้อผ่านช่องทางนั้น ก็จะได้ส่วนแบ่งให้ ปีนี้คาดว่าระบบเสร็จจะพร้อมให้ดีลเลอร์ได้ใช้”

Everyday Life Uses

สุดท้าย เอไอเอสเริ่มเปิดให้ลูกค้าของคู่แข่งใช้บริการต่าง ๆ เพิ่มได้มากขึ้น อาทิ “AIS Play” แอปพลิเคชั่นสำหรับดูคอนเทนต์ ปัจจุบันลูกค้าที่ใช้งานเว็บไซต์ เอไอเอสกว่า 9 ล้านคน/เดือน แอปพลิเคชั่นมียอดดาวน์โหลด 10 ล้านครั้ง มีการใช้ประมาณ 1 ล้านครั้ง/วัน

“มิ.ย.นี้จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ให้เป็น everyday life uses”