ย้อนดูแสตมป์ที่ระลึกเกี่ยวเนื่อง “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” รัชกาลก่อน

เมื่อ 4 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นวันแรกจำหน่ายตราไปรษณียากรที่ระลึก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชานุญาตให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดสร้าง (คลิก : 4 พ.ค. วันแรกจำหน่ายแสตมป์ที่ระลึก “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จัดพิมพ์ด้วยเทคนิคพิเศษงดงามสมพระเกียรติ

ย้อนไปในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งก่อนนี้  แม้กิจการไปรษณีย์จะก่อตั้งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ภายใต้ชื่อ “กรมไปรษณีย์” เปิดให้บริการ ณ วันที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2426  แต่ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีการผลิตในช่วงแรก ทำให้กว่าจะมีการจัดสร้างตราไปรษณียากรที่ระลึก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ครั้งแรก ก็ล่วงมาถึงครั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 (5 พฤษภาคม 2493)

ตราไปรษณียากรที่ระลึก พระราชพิธีบรมราชาภิเษก รัชกาลที่ 9

โดยจัดพิมพ์ทั้งหมด 8 ชนิดราคา 8 โทนสี เป็นภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 9 อยู่ภายในวงรูปไข่ใต้พระมหามงกุฎ ประกอบด้วยภาพพระบรมมหาราชวัง  ขนาด 23 x 28 มม. ออกแบบโดยกรมไปรษณีย์โทรเลข (นายเกลา แสงชูโต) พิมพ์ที่ บริษัท วอเตอร์โลว์ แอนด์ ซันส์ จำกัด ประเทศอังกฤษ ใช้วิธีการพิมพ์แบบ สตีลเอนเกรฟ

ส่วนวันแรกจำหน่ายแตกต่างกันตามชนิดราคา โดยแสตมป์ราคา 5 และ 20 สตางค์ วันแรกจำหน่าย ณ วันที่ 5 พฤษภาคม 2493  ราคา 80 สตางค์  แรกจำหน่าย ณ 15 สิงหาคม 2493 และขนาด 10, 15 สตางค์ 1 – 3 บาท  วันแรกจำหน่ายคือ 1 ตุลาคม 2493  จัดพิมพ์รวมทุกชนิดราคาราว 24 ล้านดวง

และในปี 2531 ได้มีการจัดสร้างตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก (2 กรกฎาคม 2531) ทั้งสิ้น 3 ชุด ทั้งหมดมีวันแรกจำหน่ายคือ 2 กรกฎาคม 2531

ตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก (2531) ชุดที่ 1

ชุดที่ 1    ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ 9 ในฉลองพระองค์ชุดบรมขัตติยราชภูษิตาภรณ์ พร้อมพระปฐมบรมราชโองการ  “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” 

ชนิดราคา 2 บาท ขนาด 45×27 มม. จัดพิมพ์ทั้งหมด 6 ล้านดวง ออกแบบโดยนายประวัติ พิพิธปิยะปกรณ์  พิมพ์ที่ สำนักพิมพ์ โซ ซิเอเต้ นูแว การ์ตอร์ ซาร์ล ประเทศฝรั่งเศส ใช้เทคนิคพิมพ์แบบ ลิโธกราฟี่

ตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก (2531) ชุดที่ 2

ชุดที่ 2    ภาพเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ อันเป็นเครื่องราชูปโภคประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ ใน 1 ชุด มี 5 แบบ ประกอบด้วย พระมหาพิชัยมงกุฎ  พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกรไม้ชัยพฤกษ์ พระวาลวิชนี และฉลองพระบาททองคำ

ชนิดราคา 2 บาท ขนาด 48×33 มม.และ 33×48 มม. มีผู้ออกแบบ 3 คน ได้แก่ นายเรวัตร ทองแดง น.ส.อัจฉรา ลิวิสิทธิ์ นายสมชัย จงธนาไพฑูรย์ จัดพิมพ์รวม 20 ล้านดวง พิมพ์ที่สำนักพิมพ์รัฐบาล กระทรวงการคลัง ประเทศญี่ปุ่น ใช้เทคนิคการพิมพ์แบบโฟโตกราวูร์

ตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก (2531) ชุดที่ 3

ชุดที่ 3  ภาพพระที่นั่งและพระแท่นสำคัญ ใน 1 ชุดมี 6 แบบประกอบด้วย ภาพพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์  พระที่นั่งภัทรบิฐ พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาส์นบนพระราชบัลลังก์  พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน  พระแท่นราชบัลลังก์ประดับมุก  และภาพพระที่นั่งพุดตานถม

ชนิดราคา 2 บาท ขนาด 45×27 มม. จัดพิมพ์ทั้งหมด 18 ล้านดวง ออกแบบโดยนายทวีพร ทองคำใบ พิมพ์ที่สำนักพิมพ์ ลีห์-มาร์ดดอน พีทีวาย จำกัด ประเทศออสเตรเลีย ด้วยเทคนิคแบบลิโธกราฟี่

และในปี 2539 ได้จัดสร้าง ตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี (9 มิถุนายน 2539)ประกอบด้วย 5 ชุด ชุดที่ 1 – 4 มีวันแรกจำหน่าย  9 มิถุนายน 2539

ตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี (2539) ชุดที่ 1 – 3

ชุดที่ 1 ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 9 ในฉลองพระองค์บรมขัตติยราชภูษิตากรณ์

ชนิดราคา 100 บาท ขนาด 48×33 มม. พิมพ์ทั้งหมด 3 ล้านดวง ออกแบบโดย การสื่อสารแห่งประเทศไทย(นายสวาสดิ์ พูลสวัสดิ์) พิมพ์ที่ สำนักพิมพ์การ์ตอร์ เอส.เอ ประเทศฝรั่งเศส ด้วยเทคนิค ลิโธกราฟี่ พิมพ์ด้วยทองคำแท้ดุนนูนเป็นลายเถาพุดตาน

ชุด 2     ภาพพระราชพิธีบรมราชาภิเษก มีทั้งหมด 5 แบบ ประกอบด้วย พระราชพิธีสรงพระมูรธาภิเษก ทรงหลั่งทักษิโณทก เสด็จออกมหาสมาคม  เสด็จฯ โดยขบวนราบใหญ่ ภาพเสด็จออกสีหบัญชร  ชนิดราคา 3 บาท ขนาด 48.5×33 มม. ออกแบบโดยนายทวีพร ทองคำใบ จัดพิมพ์ทั้งหมด 75 ล้านดวง พิมพ์ที่บริษัท เฮลิโอคูร์วัวซิเอร์ เอส.เอ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  ด้วยเทคนิค โฟโตกราวูร์

ชุด 3     ภาพเครื่องอิสริยราชูปโภคประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มี 3 แบบ ประกอบด้วย พานพระขันหมากทองคำลงยาราชาวดี  พระมณฑปรัตนกรัณฑ์ และภาพพระสุพรรณศรีทองคำลงยาราชาวดีและพระสุพรรณราชทองคำเกลี้ยง

ชนิดราคา 3 บาท ขนาด 48×33 มม. และ 33×48 มม. ออกแบบโดย น.ส.อัจฉรา ลิวิสิทธิ์  จัดพิมพ์ทั้งหมด 45 ล้านดวง พิมพ์ที่สำนักพิมพ์รัฐบาล กระทรวงการคลัง ประเทศญี่ปุ่น  ด้วยเทคนิคโฟโตกราวูร์

ตราไปรษณียากรที่ระลึกชุดงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี (2539) ชุดที่ 4 – 5

ชุด 4     ภาพพระราชกรณียกิจในด้านต่างๆ  มี 5 แบบ ประกอบด้วย ภาพการพัฒนาดินโดยการปลูกหญ้าแฝกเพื่อแก้ปัญหาการพังทลายของดิน  ภาพการปรับปรุงคุณภาพน้ำด้วยกังหันน้ำชัยพัฒนา  ภาพการแก้ปัญหาภัยแล้ง ด้วยการทำฝนหลวง  ภาพการสำรวจเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำตามธรรมชาติ และภาพการปลูกป่าตามโครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ

ชนิดราคา 3 บาท พิมพ์รวม 75 ล้านดวง ออกแบบโดยการสื่อสารแห่งประเทศไทย (นายธเรศ พลไชยวงศ์) ขนาด 33×48 มม.  พิมพ์ที่ บริษัท ไทยบริติชซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด(มหาชน) ประเทศไทย ด้วยเทคนิค ลีโธกราฟฟี่

ชุดที่ 5   ภาพเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณรัชกาลที่ 9  วันแรกจำหน่าย 7 พฤศจิกายน 2539 ชนิดราคา 9 บาท ขนาด 30.4×116 มม. ออกแบบโดยนายทวีพร ทองคำใบ  พิมพ์ทั้งหมด 10 ล้านดวง พิมพ์ที่ บริษัท เฮลิโอคูร์วัวซิเอร์ เอส.เอ. ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยเทคนิค โฟโตกราวูร์

ตราไปรษณียากรที่ระลึกชุด 60 ปีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก (ปี 2553)

แสตมป์ชุด 60 ปี บรมราชาภิเษก (5 พฤษภาคม 2553)

พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในฉลองพระองค์ครุยมหาจักรีบรมราชวงศ์ วันแรกจำหน่าย 5 พฤษภาคม 2553 ชนิดราคา 9 บาท ขนาด 33×48 มม. ออกแบบโดย นายเจนวิทย์ ทองแก้ว จัดพิมพ์ 1 ล้านดวง พิมพ์ที่ บริษัท ไทยบริติชซีเคียวริตี้ พริ้นติ้ง จำกัด(มหาชน) ประเทศไทย ด้วยเทคนิค ลีโธกราฟฟี่


ภาพประกอบ : บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด