สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯ ตั้งข้อสังเกต “การจัดสรรคลื่น” ของ กสทช.

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สทค.) ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยผู้ประกอบการโทรคมนาคม นักวิชาการ และบุคลากรด้านโทรคมนาคม ได้เผยแพร่เอกสาร “ตั้งข้อสังเกตการจัดสรรคลื่นความถี่” โดยระบุว่า เพื่อเป็นข้อมูลต่อการกำหนดแนวทางการบริหารจัดสรรคลื่นของประเทศ

โดยระบุว่า ข้อมูล ของ GSM Association (GSMA) ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก เมื่อปี 2561 พบว่า “ค่าคลื่นหรือมูลค่าคลื่นความถี่ที่สูง” เป็นปัญหาของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มของประเทศกำลังพัฒนา ในช่วงปีปี 2550 ถึง 2560 มีค่าใช้คลื่นสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้วกว่า 3 เท่า และหากเป็นกรณีประมูลคลื่น ราคาตั้งต้นจะสูงกว่าถึง 5 เท่า ส่งผลให้การขยายโครงข่ายมีราคาสูง เกิดความล่าช้า และอาจส่งผลต่อคุณภาพการบริการที่ต่ำลง

ขณะที่การประมูลคลื่นในประเทศไทยเมื่อปี 2558  ด้วยราคากว่า 75,000 ล้านบาท มีมูลค่าสูงที่สุดและต่างจากค่าใช้คลื่นของประเทศอื่นในงานศึกษานี้อย่างชัดเจน อีกทั้งในที่สุดปรากฏว่า มีผู้ชนะประมูลหนึ่งรายไม่สามารถนำเงินมาชำระได้ตามเงื่อนไขแสดงให้  จึงแสดงว่าไม่ได้สะท้อนมูลค่าคลื่นที่แท้จริง ทำให้ต้นทุนการให้บริการสูงมาก

ด้านบริษัทที่ปรึกษา NERA Economic Consulting ได้วิเคราะห์ข้อมูลในยุค 4G จากกลุ่มประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงและรายได้ปานกลางตั้งแต่ปี 2551 ถึง 2559 “The Impact of  High Spectrum Costs on Mobile Network Investment and Consumer Prices” พบว่า ประเทศที่มีต้นทุนค่าใช้คลื่นที่สูงจะมีการลงทุนขยายโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระดับที่ต่ำ และผู้ใช้ต้องจ่ายค่าบริการที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศที่มีต้นทุนค่าใช้คลื่นต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

อาทิ กรณี การประมูลคลื่น 3G ครั้งแรกของโลกที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2543 ซึ่งราคาสิ้นสุดประมูลสูงกว่าที่คาดถึง 7 เท่า ส่งผลให้กว่าจะเปิดบริการ 3G ก็คืออีก 3 ปีถัดมา

ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โดยคำสั่งที่ 4/2562 ของหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม  ได้ส่งผลให้มีการขยายเวลาการชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz จากเดิม 4 งวดเป็น 10 งวด พร้อมเงื่อนไขว่าต้องเข้าร่วมการจัดสรรคลื่น 700 MHz ที่จะเรียกคืนจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัลพร้อมกับมาตรการเยียวยานั้น

แสดงให้เห็นว่าภาครัฐมีความเข้าใจสภาพปัญหา และให้ความสำคัญในการช่วยแก้ปัญหาที่ผู้ประกอบการกำลังประสบอย่างเป็นองค์รวม และแสดงถึงแนวทางการบริหารจัดการคลื่นที่เป็นทรัพยากรมีค่าที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ซึ่งเป็นหลักการบริหารคลื่นที่ประเทศชั้นนำทั่วโลกให้ความสำคัญ

อย่างไรก็ดี จากกรณีตัวอย่างที่ได้กล่าวถึงข้างต้นว่า รูปแบบการจัดสรรคลื่นที่นำไปสู่ต้นทุนค่าใช้ความถี่ที่สูงเกินควรจะส่งผลทางลบต่อการพัฒนาโครงข่าย คุณภาพการให้บริการ และที่สำคัญที่สุดคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพิจารณาทบทวนรูปแบบ การจัดสรรและบริหารคลื่นความถี่ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาวการณ์อย่างสม่ำเสมอ