“ศัพท์บัญญัติ” ออนไลน์ เมื่อเทคโนโลยีบรรจบศาสตร์ภาษา

ภาษาไทย เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์ของชาติ แต่ปัจจุบันมีจำนวนไม่น้อยที่ “เขียนผิดเขียนถูก” และก่อให้เกิดการ “สื่อสาร” ที่ผิดพลาด สำนักงานราชบัณฑิตยสภา จึงร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) นำเทคโนโลยีช่วยแก้ปัญหานี้ ด้วยการพัฒนา “ระบบศัพท์บัญญัติ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ออนไลน์” เพื่อให้การตรวจสอบ “ศัพท์บัญญัติวิชาการ” ทำได้ทุกที่ทุกเวลา สะดวกรวดเร็ว ง่ายแค่คลิก

“ดร.อลิสา คงทน” รองผู้อำนวยการ เนคเทค กล่าวว่า ประโยชน์ของเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นได้อย่างสูงสุดด้วยการการบูรณาการ ผสมผสานระหว่างศาสตร์ที่ต่างกันเข้าหากัน เพื่อประยุกต์ใช้ทั้งในชีวิตประจำวันและแวดวงวิชาการ ซึ่งเนคเทคได้วิจัยด้าน “เทคโนโลยีกับภาษา” มากกว่า 30 ปีแล้ว ตั้งแต่การสร้างพจนานุกรมอิเล็กทรอนิกส์ ภาษาไทย-อังกฤษ “LEXiTRON” (lexitron.nectec.or.th)

การพัฒนาระบบประมวลผลภาษาไทย เพื่อให้คอมพิวเตอร์เข้าใจภาษาไทยได้ดีขึ้น อาทิ การตัดคำ ไปจนถึงการ “รู้จำเสียง” แปลเอกสารภาพเป็นข้อความ แม้แต่การพัฒนาระบบถอดความเสียงพูดแบบทันต่อเวลาผ่านระบบสื่อสารทางไกล ซึ่งล่าสุดกำลังนำเทคโนโลยีเหล่านี้มารวมกันสร้างเป็น AI platform เพื่อต่อยอดการใช้งานให้มากขึ้น

รวมถึงการร่วมกับ “สำนักงานราชบัณฑิตยสภา” นำความรู้ด้านภาษาไปสู่ผู้ใช้ให้ง่ายขึ้น ด้วยการพัฒนาโมบายแอปพลิเคชั่น ทั้ง “Royal Society” แอปพลิเคชั่น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานฉบับปี 2554 ซึ่งมีรูปแบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ให้ใช้งานได้ด้วย “Read and Write” แอปพลิเคชั่น ที่พัฒนาจากหนังสือ “อ่านอย่างไร เขียนอย่างไร” ช่วยค้นหาคำที่มักเขียนผิด สะกดผิด และแอปพลิเคชั่น “ชื่อบ้านนามเมือง”

ล่าสุดได้มีการอัพเกรดระบบค้นหาออนไลน์ “ศัพท์บัญญัติ” ที่รวบรวมศัพท์วิชาการ 15 สาขา ได้แก่ ศัพท์คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ศัพท์วิทยาศาสตร์ ศัพท์พลังงาน (เทอร์โมไดนามิกส์) ศัพท์เทคโนโลยีทางภาพ ศัพท์ยานยนต์และเครื่องยนต์ ศัพท์เศรษฐศาสตร์ ศัพท์นิติศาสตร์ ศัพท์ภูมิศาสตร์ ศัพท์ประกันภัย ศัพท์สังคมวิทยา ศัพท์ภาษาศาสตร์ทั่วไป ศัพท์ภาษาศาสตร์ประยุกต์ ศัพท์ศิลปะ ศัพท์วรรณกรรม และศัพท์สถาปัตยกรรม ซึ่งจะค้นได้ทั้งจากหมวดตัวอักษร และค้นจากศัพท์ จึงเป็นแหล่งอ้างอิงที่สำคัญที่ใช้งานสะดวกผ่านเว็บไซต์สำนักงานราชบัณฑิตยสภา www.royin.go.th


ด้าน “กนกวลี ชูชัยยะ” เลขาธิการราชบัณฑิตยสภา กล่าวเสริมว่า การบัญญัติศัพท์ภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยเป็นอีกภารกิจหลักของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ. 2485 เมื่อครั้งเป็นราชบัณฑิตยสถาน โดยแต่งตั้งคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภาษาไทยทำหน้าที่บัญญัติศัพท์คำภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งปัจจุบันมีการขยายงานออกเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ มากมาย โดยมีคณะกรรมการวิชาการเฉพาะสาขาเป็นผู้รับผิดชอบ และเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลอ้างอิง