เช็กลิสต์พฤติกรรม “เสี่ยง”

ยิ่งอินเทอร์เน็ตกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก ยิ่งเปิดช่องให้โจรไซเบอร์ทำมาหากินได้มากขึ้นเท่านั้น แล้วจะท่องเน็ตอย่างไรให้ปลอดภัย

“เชอรีฟ เอล-นาบาบิ” รองประธานฝ่ายวิศวกรรมการขาย ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและญี่ปุ่น ไซแมนเทค ระบุว่า แนวโน้มการโจมตีทางไซเบอร์ด้วยการดักเก็บข้อมูลบัตรเครดิตจากหน้าเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ (Formjacking) เพิ่มขึ้นทุกวัน ผู้บริโภคจำเป็นต้องเฝ้าระวังด้วยการตรวจสอบข้อมูลการใช้บัตรเครดิตของตัวเองอยู่เสมอ

ทั้งยังพบพฤติกรรมเสี่ยงจากการดาวน์โหลดซอฟต์แวร์ หรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ โดยไม่ตระหนักถึงการยินยอมให้ระบบเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวได้อย่างมาก

“แอปพลิเคชั่นที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรียอดฮิต พบว่า มีไม่น้อยที่ดึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานเอาไปใช้งานต่อ โดยไม่ได้ระบุว่าใช้ทำอะไร อย่างไร ทั้งยังมีหลายแอปมากที่การกดยินยอมเปิดเผยข้อมูลก่อนให้ดาวน์โหลด ครอบคลุมตั้งแต่การให้ track location ให้เข้าถึงกล้องถ่ายรูป ให้เข้าถึงรายละเอียดการใช้โทรศัพท์ ไปจนถึงเข้าอ่าน SMS ได้ ทั้งที่บางครั้งเป็นแค่แอป ไฟฉาย LED”

นอกจากนี้ ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้มีการ back up ข้อมูลของคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเลย ฉะนั้น วิธีป้องตัวเองที่ดีที่สุด คือ หมั่น back up ข้อมูล เพราะถ้าถูกแฮกก็จะเสียหายไม่มาก ไม่ใช้รหัสผ่านในการเข้าใช้งานบริการออนไลน์ หรือเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่เดาง่ายและต้องเปลี่ยนรหัสอย่างสม่ำเสมอ อัพเดตระบบปฏิบัติการของอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ รวมถึงแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด และอัพเดตจากช่องทางของผู้ให้บริการโดยตรง

“ที่สำคัญ คือ ไม่คลิกอ่านอีเมล์ที่มีไฟล์แนบ แบบเรื่อยเปื่อย ต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าไม่ได้โดนสวมรอยมา”

“สุริพงษ์ ตันติยานนท์” ผู้จัดการวีซ่า ประจำประเทศไทย ระบุว่า การระบุตัวตนด้วยเทคโนโลยีไบโอเมตริกปลอดภัยกว่าการใช้รหัสผ่านแบบปกติ เพราะอาชญากรจะต้องใช้ขั้นตอนพิเศษในการขโมยอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์เพื่อฉ้อโกง ดังนั้น หากอุปกรณ์ที่ใช้งานสามารถเปลี่ยนไปใช้ระบบไบโอเมตริกได้ ก็จะปลอดภัยขึ้นในการทำธุรกรรมการเงิน แต่ถ้าเปลี่ยนไม่ได้ ก็ต้องสร้างรหัสผ่านที่ซับซ้อนและรัดกุมขึ้นแต่ก็ยังไม่มีโซลูชั่นใดป้องกันโจรได้ 100% ดังนั้น การตั้งค่าการใช้งานที่เกี่ยวกับธุรกรรมการเงินให้แจ้งเตือนเมื่อเข้าระบบ จึงเป็นอีกวิธีป้องกันที่ดี