AFTER SCHOOL เครื่องมือเลี้ยงลูกยุค 4.0

“เลี้ยงลูกสมัยนี้ยากกว่าเมื่อก่อน” เป็นข้อกังวลของทั้งคุณพ่อคุณแม่ยุคนี้ทำให้หลายคนตัดสินใจไม่มีลูก ส่งผลให้อัตราเจริญพันธุ์และจำนวนการเกิดของไทยลดลงต่อเนื่องและรวดเร็วสุดในเอเชีย แต่การเกิดที่ “ด้อยคุณภาพ” มีสูงขึ้น โดยข้อมูลกรมอนามัยพบว่า ในปี 2560 เด็กที่เกิดจากแม่อายุ 10-14 ปี และ 15-19 ปี มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 20.3 และร้อยละ 15.1 ทั้งมีประมาณการจำนวนผู้ทำแท้งเฉลี่ยที่ 60,000 รายต่อปี

โครงการวิจัยครอบครัวไทยในเขตเมือง 2557 ระบุว่า สัมพันธภาพของครอบครัวในเมือง 1 ใน 3 อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง มีครอบครัวถึง 40% ไม่ค่อยเล่าหรือไม่เล่าอะไรให้คนในครอบครัวฟัง 60% ใช้อำนาจ บังคับ ขู่เข็ญ 34% ด่าทอหยาบคาย ทำร้ายจิตใจ ละเลยทอดทิ้ง

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย จึงเริ่มโครงการ “AFTER SCHOOL : รอลูกหลังเลิกเรียน” แพลตฟอร์มออนไลน์ของผู้ปกครองไทย ที่จะพัฒนาทักษะการสื่อสารกับลูกหลานวัยรุ่น (อายุ 12-18 ปี) ให้เข้าใจและเคียงข้างลูกหลานในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญเริ่มออกอากาศตั้งแต่ 1 เม.ย. 2562 ผ่านสื่อออนไลน์ ทั้ง Facebook, YouTube, LINE และwww.afterschoolonline.tv หรือเพจ สสส.และ Toolmorrow

“ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์” ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า ครอบครัวไทยยุค 4.0 เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และสลับซับซ้อนการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมตามแต่ละช่วงวัย ทำให้สมาชิกภายในครอบครัวมีความเข้าใจกัน เป็นองค์ประกอบที่สำคัญต่อความสุขและความเข้มแข็งของครอบครัว

เนื้อหาของ “รอลูกหลังเลิกเรียน” จะชวนผู้ปกครองสำรวจความรู้สึกนึกคิดของลูกเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันในครอบครัว โดยเน้นการปรับพฤติกรรม “พ่อแม่” ไม่ใช่ลูกด้วยการนำเสนอเรื่องจากประสบการณ์จริงของครอบครัวหนึ่ง ให้ผู้ชมได้เรียนรู้ ภายใต้การแนะนำจากจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ใน 10 ปัญหาหลัก เช่น ติดเกม ติดมือถือ ไปจนถึงเรื่องลูกไม่มั่นใจ ลูกไม่กล้าสั่งอาหารเอง ซึ่งเหมือนเป็นเรื่องเล็กแต่เป็นบ่อเกิดของปัญหาต่อไปในอนาคต

“สสส.เชื่อว่าการจะปรับพฤติกรรมคน ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ต้องมีแรงกระตุ้นต่อเนื่อง ทางเพจจึงคิดวิธีทำกรุ๊ปไลน์เฉพาะกิจ แยกตามประเด็นปัญหา โดยร่วมมือกับมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ซึ่งเป็นภาคีของ สสส. เขาก็จะคุยกันว่าจะมาออนไลน์พูดคุยแลกเปลี่ยนเทคนิคกันเอาไปใช้แล้วเป็นอย่างไร จากนั้นจะมีการประเมินผล สรุปผล เพื่อดูว่าเดินมาถูกทางหรือไม่ และควรทำอะไรต่อ”

“พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ” รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ปัญหาสำคัญที่มักเกิดขึ้นคือ ผู้ปกครองไม่เคยคิดว่า “แค่การพูดดี ๆ ต่อกัน” จะทำให้ครอบครัวเปลี่ยนได้ มักยึดติดว่า ต้องเสียงดัง ต้องทำให้ลูกกลัว ต้องใช้อำนาจลูกถึงจะเชื่อฟัง ทั้งที่ยิ่งผู้ปกครองใช้อำนาจกับลูกหลาน เด็กจะยิ่งดื้อ

ดังนั้นเนื้อหาแพลตฟอร์มออนไลน์จะช่วยทำให้ผู้ปกครองได้เรียนรู้ว่า ไม่ต้องใช้ความรุนแรงแค่มีเทคนิคการสื่อสารเพิ่ม ลูกก็พร้อมเปิดใจมากขึ้น