แจกเงินเยียวยาคืนช่อง นโยบาย “เอื้ออาทร” ธุรกิจทีวี

หลังคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ปลดล็อกให้ “ทีวีดิจิทัล” คืนใบอนุญาตได้ แถมสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

“กสทช.” ยังจัด “เงินเยียวยา” ให้อีก โดยจากสูตรที่ออกแบบไว้จะได้ราว 200 ล้านบาทสำหรับช่องเด็ก ส่วนช่องข่าวอยู่ที่ 300-400 ล้านบาท และช่องวาไรตี้ความคมชัดปกติอยู่ที่ 500-700 ล้านบาท จึงไม่แปลกที่จะมี 7 ช่อง คืนใบอนุญาต ได้แก่ “ไบรท์ทีวี” ช่อง 20, “วอยซ์ทีวี” ช่อง 21, “MCOT Family” ช่อง 14, “3 Family” ช่อง 13, “3 SD” ช่อง 28, “สปริงนิวส์” ช่อง 19 และ “สปริง 26” ช่อง 26

ได้เงินรัฐแต่ไร้เงื่อนไขการันตี

“สุภิญญา กลางณรงค์” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ประธานคณะทำงานคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และอดีต กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เท่าที่ทราบ คลื่น 700 MHz ที่ กสทช.จะนำมาจัดสรรใหม่ให้ฝั่งโทรคมนาคมนั้น เป็นการเรียงคลื่นใหม่ โดยนำส่วนที่กันไว้สำหรับทีวีชุมชนมาให้ช่องธุรกิจใช้งานแทน ดังนั้นผู้ที่ควรได้รับการชดเชยการเรียกคืนคลื่น 700 MHz ครั้งนี้ จึงไม่ควรเป็นช่องทีวีธุรกิจ แต่ควรเป็นกลุ่มชุมชนที่เสียโอกาสการใช้งานจากคลื่นที่ กสทช.กันไว้

ส่วนการเปิดให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถคืนช่องได้ ก็เห็นด้วยในแง่ที่ควรเปิดทางออกให้กับผู้ประกอบการที่ไปต่อไม่ไหว แต่ไม่ใช่การเปิดให้คืนช่องพร้อมให้เงินเยียวยาจากการขาดทุน ซึ่ง กสทช.ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ ที่จะการันตีเลยว่า เงินที่ได้จากรัฐไปจะมีส่วนช่วยเหลือดูแลพนักงานที่ต้องตกงาน หรือต้องมีส่วนที่คืนประโยชน์ให้แก่คนดู หรือการันตีว่า ผู้บริโภค สังคมจะได้ประโยชน์จากส่วนนี้อย่างไรหรือไม่ทั้งยังเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง แต่ไม่มีการชี้แจงว่าได้มีการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่สูตรคำนวณเงินเยียวยาต่าง ๆ มีพื้นฐานแนวคิดจากอะไรบ้าง ทำไมต้องมีก็ยังไม่ได้ชี้แจง

อุ้มเป็นทีวีสาธารณะ

ขณะที่อีก 15 ช่องทีวีที่ไปต่อ เลขาธิการ กสทช.ก็ระบุว่า อาจจะได้เงินชดเชยหากสามารถจัดสรรคลื่น 700 MHz ออกไปได้ แต่ที่แน่ ๆ คือ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน (MUX) ไปอีกเป็น 10 ปีจนสิ้นสุด ใบอนุญาต ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะทุกวันนี้ผู้ประกอบการแต่ละช่องต้องจ่ายค่าเช่าเองในราคาแพงแล้ว ยังมีปัญหาด้านคุณภาพโครงข่าย ต่อไปถ้า กสทช.จ่ายแทนให้ คุณภาพ MUX จะเป็นอย่างไร กลไกการกำกับของ กสทช.ยังอ่อนแอ ที่สำคัญ ถ้าผู้ประกอบการได้เงินอุดหนุนจากรัฐมากขนาดนี้จะกล้าวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล หรือ กสทช.หรือไม่

“กสทช.ควรกำกับค่าเช่า MUX ให้เป็นธรรมตั้งแต่แรก เพราะที่ผ่านมาคิดกันแพงเกินจริง ทางช่องก็ร้องเรียนมา แต่ก็เพิ่งจะมาลดราคากันไปนิดหน่อย ก่อนนี้อุดหนุนให้ 50% จริง ๆ ต่อให้ไม่จ่ายก็ยังครอบคลุมต้นทุนที่ลงทุนไปได้อยู่ ก็คิดดูว่าถ้าช่องจ่ายเดือนละ 10 ล้าน ปีหนึ่งก็ร้อยล้าน แล้ว ททบ.5 จะได้กี่พันล้านต่อปี เพราะมีช่องเช่าตั้งหลายช่อง ขณะที่การทำ MUX ก็มีลูกค้ากึ่งผูกขาดอยู่แล้ว”

ส่วนกติกาตอนนี้คนที่ได้ประโยชน์สูงสุด้ ก็คือหน่วยงานรัฐที่ได้สิทธิในการทำโครงข่าย เพียงแต่ก็มีข้อดีที่ทำให้ MUX ทิ้งช่องไม่ได้ แต่โครงข่ายที่ช่องเช่าลดลงไปจะทำอย่างไรต่อ ตอนนี้ก็ยังไม่ชัดเจน สิ่งที่ กสทช.ควรจะต้องทำคือ กำกับ MUX ให้ปูพรมโครงข่ายให้ละเอียด มีคุณภาพมากขึ้น เพื่อให้คนดูมากขึ้น แก้ปัญหาทีวีดิจิทัลให้ตรงจุด การใช้เงินกองทุนของ กสทช.มาสนับสนุนการสร้างคอนเทนต์ที่ดี หาทางกำกับ OTT เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่ใช่แค่คิดจะเซ็นเซอร์เนื้อหา

“ที่สำคัญ คือ ทั้งหมดไม่ควรเป็นงานของบอร์ด กสทช.ชุดรักษาการ เพราะจะทำให้มีคำถามตามมาได้อีกมาก เหมือนกับการใช้มาตรา 44 ออกคำสั่ง ในช่วงวันหยุดยาว ช่วงหลังเลือกตั้ง ทั้งที่กำลังรอรัฐบาลใหม่ เป็นอะไรที่ไม่ควรทำในเรื่องใหญ่ ถูกมองได้ว่า ขาดธรรมาภิบาลสูงมาก คนก็สงสัยว่าทำไมต้องเร่งขนาดนี้ ทำให้ กสทช.ลอยตัว โดยที่ตรวจสอบอะไรก็ไม่ได้”

เยียวยา MUX-15 ช่องที่เหลือ

ด้านเลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เปิดเผยว่า การเยียวยา MUX และอีก 15 ช่องทีวีที่ยังดำเนินการต่อ เป็นขั้นตอนที่จะทำหลังจากนี้ เนื่องจากตามคำสั่ง คสช. ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการคืนช่องทีวีไว้แล้ว จึงเร่งทำในส่วนนี้ก่อน ส่วนการเยียวยา MUX กับอีก 15 ช่อง สำนักงาน กสทช.จะต้องมีการออกประกาศแยกไว้ต่างหาก ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดอีกครั้ง โดยทุกขั้นตอนจะมีคณะทำงานตรวจสอบให้โปร่งใส และพิจารณาผลกระทบอย่างรอบคอบ

ส่วนการเรียงช่องทีวีที่เหลือ 15 ช่องให้อยู่ติดกัน ไม่ต้องมี “จอดำ” แทรกกลางนั้น เป็นอำนาจของบอร์ด กสทช.จะต้องลงมติ ไม่ได้เป็นสิ่งที่คำสั่ง คสช.ระบุให้ สำนักงาน กสทช.มีอำนาจพิจารณาได้ ซึ่งจะเตรียมนำเสนอให้ที่ประชุมบอร์ดพิจารณาในเร็ว ๆ นี้

ขณะที่แหล่งข่าวในวงการบรอดแคสต์กล่าวว่า หลังจากมี 7 ช่องคืนใบอนุญาตแล้ว จะทำให้โครงข่ายของไทยพีบีเอส เหลือผู้เช่าเพียง 2 ราย คือ ช่อง “3HD” และ “ช่อง 8” เท่านั้น ซึ่งคงต้องรอดูว่าจะมีช่องทีวีรายอื่นขอย้ายเข้าไปใช้ MUX ของไทยพีบีเอสหรือไม่ เนื่องจากเป็น MUX ที่มีคุณภาพดีสุด

“ก่อนนี้เคยมีหลายช่องอยากขอย้ายไปใช้ MUX ของไทยพีบีเอส แต่เหลือช่องสัญญาณไม่มากพอ แต่ตอนนี้ช่องส่วนใหญ่ทำสัญญากับ MUX ระยะยาวไปแล้ว เพื่อการต่อรองราคาให้ถูกลง ก็คงต้องดูว่า MUX นี้จะอยู่อย่างไรต่อ เพราะก่อนหน้านี้ ทาง กสทช.เคยเปรยว่า อยากจะปิด MUX ของ ททบ.5 ที่เดิมมี 2 MUX ให้เหลือ MUX เดียว แล้วจ่ายค่าชดเชยให้แทน”