ปกป้องข้อมูลเอเชียยังด้อย แนะตั้งองค์กรให้คำปรึกษา

ไมโครซอฟท์ชี้ กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลส่งผลดี แนะรัฐบาลตั้งหน่วยงานเป็นที่ปรึกษา-วางไกด์ไลน์ภาคเอกชน พร้อมเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อบริการทางดิจิทัล ระบุคนไทยเกินครึ่งไม่เชื่อถือ

นายโอม ศิวะดิตถ์ ผู้บริหารด้านนโยบายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับบริษัทวิจัย ไอดีซี เอเชีย-แปซิฟิก สำรวจความเห็นเรื่อง “Understanding

Consumer Trust in Digital Services in Asia Pacific” จากผู้บริโภค 14 ประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก รวมถึงประเทศไทย พบว่ากว่า 70% ไม่มีความมั่นใจในความโปร่งใส แต่เชื่อมั่นสถาบันการเงิน การแพทย์ และการศึกษา ว่าจะสามารถปกป้องข้อมูลได้ดี โดยปัจจัยที่กระทบต่อความเชื่อมั่น ได้แก่ ความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัย ความเสถียร จริยธรรม และกฎหมาย

ขณะที่ผู้บริโภคไทยที่สำรวจ 51% ยังไม่มั่นใจว่า ผู้ให้บริการจะนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้อย่างโปร่งใส และเชื่อถือได้ โดยอุตสาหกรรมที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าปกป้องข้อมูลได้ดี คือ การแพทย์ การเงิน และการศึกษา

ด้านเทรนด์ปัญญาประดิษฐ์ “AI” ภาพรวมทั้งเอเชีย-แปซิฟิก 49% ผู้บริโภคมองว่า AI จะเข้ามาช่วยงานได้ โดยเฉพาะในธุรกิจการเงิน เฮลท์แคร์ แต่ภาครัฐและรีเทลเป็น 2 กลุ่มรั้งท้าย

ขณะที่ 69% ของผู้บริโภคคนไทยมอง AI ในแง่ดี โดยอุตสาหกรรมการผลิต รถยนต์ โทรคมนาคม น่าจะใช้ประโยชน์ได้มาก แต่ค้าปลีกและภาครัฐยังรั้งท้ายเช่นกัน

“AI มีผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจดิจิทัล ไมโครซอฟท์มองว่าการสร้างความเชื่อมั่นไม่ใช่แค่ทำ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ ต้องมีใจที่จะทำจริง ๆ ต้องร่วมกันสร้างมาตรฐาน”

และด้วยจำนวนการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนไทยที่มากกว่า 10 ชั่วโมง/วัน ทั้งมีมูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซกว่า 3 ล้านล้านบาท รวมถึงเป็นประเทศที่มีการใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิ้งมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก จึงเปิดทางให้เกิดการโจมตีทางไซเบอร์ได้ง่าย

ดังนั้น การที่ประเทศไทยจะมีกฎหมายใหม่ที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการรักษาความปลอดภัยของระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีทีใน 7 กลุ่มผู้ให้บริการสำคัญ อาทิ ผู้ให้บริการสาธารณูปโภค คมนาคม รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และมาตรการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นเรื่องที่ดีแต่ควรมีหน่วยงานที่ให้ความรู้กับภาคเอกชน มีเป็นตัวอย่างว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ใช่มีบทบาทแค่การออกกฎหมาย เพื่อให้องค์กรได้ทราบแนวทางการเตรียมตัวและการลงทุนในช่วง 1 ปีก่อนจะมีการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งคาดว่าการลงทุนด้านความปลอดภัยของข้อมูล โดยเฉพาะดาต้าเซ็นเตอร์จะเติบโตขึ้นแน่นอน

“กฎหมายใหม่นี้จะเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรม และทำให้การเก็บ-การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต้องได้รับการยินยอม ทำให้ข้อมูลเราจะได้รับการคุ้มครองโดยอัตโนมัติ ซึ่งที่ผ่านมาไมโครซอฟท์ได้ลงทุนเรื่องมาตรฐานซีเคียวริตี้กว่า 1 พันล้านเหรียญ/ปี”