ศึกการค้าโลกลาม’TechWar’ ค่ายมือถือตั้งรับพิษ’หัวเว่ย’

สงครามการค้า “สหรัฐ-จีน” ลามหนัก ขยายจาก trade war เป็น tech war ชิงมหาอำนาจเทคโนโลยีโลก กระทบชิ่งยักษ์โทรคมนาคม “หัวเว่ย” สะเทือน หวั่นกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภค เชนสโตร์ดัง “เจมาร์ท” ชี้มีผลแค่ระยะสั้น อาจเปิดช่องให้คู่แข่งฉวยจังหวะชิงลูกค้าคืน “ค่ายมือถือ” ตั้งรับเดินหน้าจัดโปรโมชั่นต่อ ขณะที่ “หัวเว่ย” ออกโรงยันยังอัพเดตซอฟต์แวร์-ดูแลหลังการขายปกติ

หลังจากรัฐบาลอเมริกันเพิ่มชื่อ “หัวเว่ย” เข้าอยู่ในรายชื่อบริษัทที่ห้ามใช้เทคโนโลยีจากบริษัทอเมริกันโดยไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล ทำให้บริษัทอเมริกันอย่าง “กูเกิล” ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนของ “หัวเว่ย” ไม่สามารถเข้าถึงบริการบางอย่างของ “กูเกิล” ได้ เช่น จีเมล์ และยูทูบ เป็นต้น แต่ยังใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ เนื่องจากเป็นระบบเปิดในโครงการ Android Open Source Project (AOSP) กรณีที่เกิดขึ้นแม้ไม่ได้ส่งผลโดยตรงกับประเทศไทย แต่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่ผู้บริโภคในวงกว้าง โดยเฉพาะผู้ใช้และกลุ่มลูกค้าที่ต้องการซื้อสมาร์ทโฟน “หัวเว่ย” แบรนด์ยอดนิยมจากจีนที่กำลังมาแรง

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration/File Photo
“เจมาร์ท” ชี้กระทบระยะสั้น

นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาด บมจ. เจมาร์ท เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ประเมินปัญหานี้กระทบความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในระยะสั้นแน่นอน เพราะทำให้ผู้ที่ใช้งานอยู่ หรือผู้ที่กำลังมองหาเครื่องรุ่นใหม่เกิดคำถามและลังเลที่จะซื้อ จึงต้องรอดูว่าหัวเว่ยจะแก้สถานการณ์อย่างไร เพราะเป็นช่องว่างให้คู่แข่งฉวยจังหวะทางการตลาดได้ โดยเฉพาะคู่แข่งหลัก ๆ อย่างซัมซุงและแอปเปิล เนื่องจากฐานลูกค้าที่ใช้หัวเว่ยส่วนใหญ่ย้ายมาจากทั้ง 2 แบรนด์นี้ แต่อาจส่งผลกระทบต่อแบรนด์จีนอื่น ๆ ในภาพรวมของทั่วโลก

“นี่ไม่ใช่เรื่องที่หัวเว่ยไม่ได้คาดคิด เพราะปัญหาการค้าระหว่างสหรัฐและจีนมีมาต่อเนื่อง จะเห็นว่าเขาเริ่มพัฒนาระบบปฏิบัติการ หรือ OS ของตนเองแล้ว จึงยังพอมีเวลาก่อนที่จะถึงคิวเปิดตัวรุ่นใหม่ตุลาคมนี้ และนี่ไม่ใช่วิกฤตแรก เคยมีปัญหาเรื่องชิปเซต แต่หัวเว่ยก็สามารถผ่านไปได้”

3 ปีในไทยหัวเว่ยเติบโตก้าวกระโดด จนปัจจุบันมีส่วนแบ่งตลาด 30% รุ่นเรือธงได้รับการตอบรับที่ดีทุกรุ่น

ค่ายมือถือไทยยังจัดแพ็กเกจปกติ

นายปรัธนา ลีลพนัง หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าทั่วไป บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอไอเอสและหัวเว่ยยังคงมีแพ็กเกจโปรโมชั่นร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่าจะสามารถดูแลให้ลูกค้าใช้งานได้ต่อเนื่องตามโปรโมชั่นที่มี ทั้งการใช้งานในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งประเทศอเมริกา แต่ยอมรับว่าส่งผลต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค ส่วนจะเป็นช่องว่างให้คู่แข่งชิงแชร์ได้มากน้อยแค่ไหน เร็วเกินไปที่จะประเมิน ซึ่งการแข่งขันทางธุรกิจถือเป็นเรื่องปกติ

“เอไอเอสเป็นหนึ่งในผู้จัดจำหน่ายหัวเว่ย เราจึงมีหน้าที่ให้ข้อเท็จจริงลูกค้า ตอนนี้มีข่าวออกมาเยอะ ทั้งในโซเชียลและอินเทอร์เน็ต ซึ่งเราได้ติดต่อกับหัวเว่ยอยู่ตลอดเพื่ออัพเดตข้อมูล เพราะตอนนี้ลูกค้ากังวลค่อนข้างเยอะ บางรายมาหน้าร้านเพื่อสอบถามเรื่องนี้ก็มี”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากการโทรสอบถามไปยัง call center ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย ได้แก่ เอไอเอส, ทรูมูฟ เอช และดีแทค ทั้งหมดยืนยันว่า ยังคงสามารถซื้อสินค้าหัวเว่ยในราคาโปรโมชั่น และยังสามารถใช้แพ็กเกจได้ตามปกติ รวมทั้งสามารถใช้บริการสมาร์ทโฟนหัวเว่ยในประเทศสหรัฐอเมริกาได้แน่นอน

รายงานข่าวจากเอไอเอสเปิดเผยด้วยว่า ได้รับคำยืนยันอย่างเป็นทางการจาก “หัวเว่ย” ว่า สมาร์ทโฟนรุ่นปัจจุบันยังคงสามารถใช้งานได้ตามปกติ รวมถึงซอฟต์แวร์ และกูเกิลแอปพลิเคชั่น

รายงานข่าวจากทรู ระบุว่าได้รับการยืนยันจากหัวเว่ยว่าจะไม่มีผลกระทบเกิดขึ้นกับผู้ใช้งานอย่างแน่นอน

REUTERS/Marko Djurica/Illustration

กระทบสมาร์ทโฟนรุ่นถัดไป

ด้านนายสิทธิพล พรรณวิไล นักพัฒนาและบล็อกเกอร์ด้านไอที กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สมาร์ทโฟนรุ่นถัดไปของหัวเว่ยจะไม่สามารถเข้าใช้บริการต่าง ๆ ของกูเกิลได้ ซึ่งต้องบอกว่า สำคัญเพราะถ้าใช้งานไม่ได้ อาจทำให้ลูกค้าหันไปซื้อยี่ห้ออื่นแทน แต่สมาร์ทโฟนของหัวเว่ยยังคงใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ได้ เพราะเป็นระบบเปิด (โอเพ่นซอร์ซ) ในโครงการ Android Open Source Project หรือ AOSP

“รุ่นที่ขายออกไปแล้วจะแบนไม่ได้เพราะผิด license ที่ขายไปแล้ว แต่ที่น่ากังวลกว่าคือสเกลสงครามการค้าระดับประเทศที่อาจกระทบให้ทุกอย่างแพงขึ้นได้ ไม่ใช่แค่มือถือ ซึ่งแบรนด์จีนอื่น ๆ ไม่น่าโดน เพราะคงหาประเด็นมาแบล็กลิสต์ไม่ได้ อีกทั้งแบรนด์อื่นไม่ได้ใหญ่มาก และนวัตกรรมไม่ได้สูงนัก ถ้ามองภาพใหญ่ไม่น่าใช่สงครามระหว่างหัวเว่ยและอเมริกา แต่เป็นจีนกับอเมริกา ทำให้มีผลพวงอย่างอื่นตามมา”

“หัวเว่ย” อัพเดตซอฟต์แวร์

รายงานข่าวจาก “หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป (ประเทศไทย)” ระบุว่า หัวเว่ยขอให้ความมั่นใจว่าจะยังให้บริการอัพเดตซอฟต์แวร์ด้านความปลอดภัยและบริการหลังการขายแก่ผลิตภัณฑ์สมาร์ทโฟนและแท็บเลตของหัวเว่ยที่มีอยู่ในปัจจุบันทั้งหมดต่อไป ครอบคลุมถึงโมเดลที่ได้จำหน่ายออกไปแล้ว และที่ยังรอการจัดจำหน่ายอยู่ในสต๊อกทั่วโลก รวมถึงขอยืนยันว่า จะยังมุ่งมั่นเดินหน้าสร้างอีโคซิสเต็มของซอฟต์แวร์ที่ปลอดภัยและยั่งยืน เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดสู่ผู้ใช้ทั่วโลก

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration

รั้งที่สองสมาร์ทโฟนโลก

สำหรับภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนทั่วโลกในไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา อันดับหนึ่งยังคงเป็น “ซัมซุง” ด้วยยอดขาย 71.9 ล้านเครื่อง อันดับสอง “หัวเว่ย” 59.1 ล้านเครื่อง อันดับสาม “แอปเปิล” 36.4 ล้านเครื่อง อันดับสี่ “เสียวหมี่” 25 ล้านเครื่อง อันดับห้า วีโว่ 23.2 ล้านเครื่อง และอันดับหก “ออปโป้” 23.1 ล้านเครื่อง โดย 4 ใน 6 แบรนด์ล้วนเป็นแบรนด์จีน

ก่อนหน้านี้ นายริชาร์ด หยู กรรมการบริหารและซีอีโอ หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป ได้กำหนดเป้าหมายให้หัวเว่ยและออเนอร์แบรนด์ลูก จะก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายใหญ่ที่สุดของโลกในปีนี้

จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายมองว่าเป้าหมายของหัวเว่ยอาจจะเป็นไปได้ยากขึ้น

REUTERS/Stringer

แย่งมหาอำนาจเทคโนโลยีโลก

ก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตมาอย่างต่อเนื่องจากทั้งนักวิเคราะห์และสื่อชั้นนำต่าง ๆ ว่า สหรัฐพยายามเชื่อมโยงมาตรการทางการค้าเข้ารวมกับการสกัดกั้นการเข้าสู่เทคโนโลยี 5G ซึ่งจีนประสบความสำเร็จก่อนสหรัฐ โดยนายเบน วูด นักวิเคราะห์ของ CCS Insight กล่าวกับไฟแนนเชียล ไทมส์ ระบุว่า สงครามการค้าสหรัฐ-จีน กำลังพัฒนากลายเป็น “สงครามทางเทคโนโลยี” ลุกลามไปถึงระบบปฏิบัติการมือถือ หลังจาก “กูเกิล” จำกัดการใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของหัวเว่ย

นายเบน วูด กล่าวว่า ปี 2018 สหรัฐเริ่มโจมตีจีนด้วยการเรียกร้องชาติพันธมิตรทั่วโลกไม่ให้ใช้อุปกรณ์หัวเว่ย ในการวางเครือข่ายโทรคมนาคมความเร็วสูง 5G ถือเป็นการส่งสัญญาณการให้ “เลือกข้าง” ระหว่างการเป็นพันธมิตรกับสหรัฐ และพันธมิตรกับจีน ปัจจุบันมีหลายประเทศประกาศเลือกข้างฝั่งสหรัฐแล้ว ได้แก่ ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์

ขณะที่ “ริชาร์ด วินด์เซอร์” นักวิเคราะห์ของ ไฟแนนเชียล ไทมส์ ระบุว่า ในปี 2018 บริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญ 20 บริษัทแรกของโลก หากวัดจากมูลค่าทางการตลาดพบว่าเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันและจีนในสัดส่วนเกือบเท่า ๆ กัน จึงไม่น่าแปลกใจหากสหรัฐพยายามอย่างหนักที่จะสกัดกั้นการพัฒนาทางเทคโนโลยีของจีน ซึ่งสถานะการเป็น “มหาอำนาจโลกทางเทคโนโลยี” มีความสำคัญในยุคปัจจุบัน

ZTE รายแรกที่สหรัฐแบน

ในปี 2018 สหรัฐเคยเล่นงาน ZTE บริษัทรายใหญ่ด้านโทรคมนาคมของจีนอีกรายหนึ่ง ทั้งยังเป็นแบรนด์มือถือที่มียอดขายสูงเป็นอันดับ 4 ในตลาดอเมริกา โดยอ้างว่า ZTE ละเมิดความร่วมมือการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือและอิหร่าน เป็นเหตุให้สหรัฐสั่งระงับการติดต่อค้าขายระหว่าง ZTE กับบริษัทในสหรัฐเป็นเวลา 7 ปี

แต่ ZTE ยอมที่จะจ่ายค่าปรับมูลค่าสูงเกือบ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับอเมริกา นอกจากนี้รัฐบาลปักกิ่งยังตกลงจะยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐเป็นการชดเชยการละเมิดที่เกิดขึ้นด้วย

จับตาแผนสำรอง “หัวเว่ย”

ขณะที่ “นิก ฟิลด์ส” นักวิเคราะห์ด้านเทเลคอมของ ไฟแนนเชียล ไทมส์ มองว่า ภายในปีนี้จะเห็นความเคลื่อนไหวมากขึ้นเกี่ยวกับระบบปฏิบัติการภายใต้แบรนด์ “หัวเว่ย” ซึ่งซุ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2012 โดยระบบปฏิบัติการดังกล่าว มีชื่อว่า “HongMeng OS”

นายริชาร์ด ยู ซีอีโอ ฝ่ายผู้บริโภคของหัวเว่ย เปิดเผยว่า “หัวเว่ย” ได้สร้างระบบปฏิบัติการขึ้นเอง เผื่อในกรณีไม่สามารถใช้ระบบปฏิบัติการของเจ้าอื่นได้ โดยมีศูนย์วิจัยในฟินแลนด์สำหรับการสร้างระบบปฏิบัติการ OS โดยเฉพาะ และจะประสานงานโดยตรงกับวิศวกรที่ศูนย์วิจัยในจีน

ก่อนหน้านี้ หัวเว่ยได้พัฒนาโปรเซสเซอร์ซึ่งในโทรศัพท์มือถือของหัวเว่ย ได้มีการใช้ชิปของ HiSilicon ซึ่งเป็นบริษัทลูกของหัวเว่ย จึงประเมินได้ว่า ระบบปฏิบัติการ OS ของหัวเว่ยจะสามารถใช้งานได้จริง และคาดว่าจะนำมาทดลองใช้เร็ว ๆ นี้ จากเดิมคาดการณ์ว่าจะเริ่มทดลองใช้ในปี 2023

รัฐร่วมทดสอบ 5G “หัวเว่ย” ต่อ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ได้สอบถามไปยังสถานทูตสหรัฐอเมริกาถึงรายละเอียดการห้ามทำการค้ากับ “หัวเว่ย” เพื่อประเมินผลกระทบกับผู้บริโภคชาวไทย โดยทางสหรัฐชี้แจงว่า ผู้ใช้อุปกรณ์ในปัจจุบันมีความเสี่ยงที่อาจจะมีปัญหาในการอัพเดตให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุด แต่ยังสามารถใช้งานได้แต่ในส่วนอุปกรณ์โครงข่ายเทคโนโลยี 5G ซึ่ง กสทช.และค่ายมือถือกำลังร่วมมือกับหัวเว่ย เพื่อทดลองทดสอบการให้บริการนั้น จะไม่มีผลกระทบใด ๆ เพราะไทยไม่ใช่ 1 ในรายชื่อ 40 ประเทศที่มีโครงข่ายเกี่ยวข้องกับสหรัฐอเมริกา

“5G กับหัวเว่ย ยังเดินหน้าต่อไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายในระดับประเทศ”

แม้อุปกรณ์โทรคมนาคม รวมถึงสมาร์ทโฟนจะต้องยื่นขออนุญาต กสทช. ก่อนนำเข้ามาในราชอาณาจักร แต่ กสทช.จะตรวจสอบเฉพาะมาตรฐานของฮาร์ดแวร์ที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงตัวซอฟต์แวร์หรือระบบปฏิบัติการอื่น ๆ ในกรณีของหัวเว่ยจึงไม่เข้าข่ายที่จะกระทบกับการขออนุญาตนำเข้าสมาร์ทโฟน

“เท่าที่ได้สอบถาม ทางหัวเว่ยยืนยันว่า สมาร์ทโฟนเป็นหน่วยธุรกิจสำคัญ ไม่ลอยแพผู้บริโภคแน่นอน”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!