เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ยังโตวันโตคืนและสร้างรายได้ให้กับ “ไลน์” มหาศาล สำหรับ “สติ๊กเกอร์” นั่นทำให้ “ไลน์” พร้อมที่จะทุ่มเทสรรพกำลังในการส่งเสริมให้มี “ครีเอเตอร์” หรือผู้สร้างสรรค์สติ๊กเกอร์หน้าใหม่ ๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในตลาดสำคัญทั้งในแง่การมีฐานคนใช้ไลน์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น รวมถึงการสร้างรายได้จากการขาย “สติ๊กเกอร์”
“นาโอโตโมะ วาตานาเบ” ผู้จัดการฝ่ายผลิต และวางแผนสติ๊กเกอร์ ไลน์ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ตลาดสติ๊กเกอร์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้เติบโตเร็ว คือ “ครีเอเตอร์” ที่ผลิต “สติ๊กเกอร์” โดยตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีครีเอเตอร์ทั่วโลกประมาณ 8.5 แสนราย มีสติ๊กเกอร์ 5.3 แสนชุด โดยในประเทศญี่ปุ่นมีครีเอเตอร์มากที่สุด รองลงมาคือไทย มี 1.2 แสนราย และมีสติ๊กเกอร์ 4.8 หมื่นชุด ขณะที่ยอดขายสติ๊กเกอร์ทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 14,500 ล้านบาท และประเทศไทยมียอดเป็นที่ 3 รองจากญี่ปุ่น และไต้หวัน
สำหรับครีเอเตอร์ท็อป 10 ทั่วโลก มีรายได้เฉลี่ยที่ 161 ล้านบาท ส่วนรายได้ของครีเอเตอร์ไทยทั้งหมดรวมกันมีมูลค่าประมาณ 400 ล้านบาท ดังนั้น ไลน์จึงอยากสนับสนุนครีเอเตอร์ เพราะเชื่อว่าสามารถทำเป็นอาชีพได้ ล่าสุดมี “ครีเอเตอร์สตูดิโอ” ที่ช่วยทำให้เกิดครีเอเตอร์หน้าใหม่ โดยเปิดตัวไปแล้วที่ประเทศญี่ปุ่นในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้มีครีเอเตอร์เพิ่ม 4 เท่า และมีความหลากหลายขึ้น 3 เท่า โดยเทรนด์ที่น่าจับตามองคือ สติ๊กเกอร์ที่สามารถปรับให้เข้ากับผู้ใช้ได้
ด้านนายกณพ ศุภมานพ หัวหน้าธุรกิจสติ๊กเกอร์ไลน์ ประเทศไทย กล่าวว่า สติ๊กเกอร์ไลน์ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.สปอนเซอร์สติ๊กเกอร์ที่โหลดฟรีจะเป็นรูปแบบ B2B ที่ทำกับแบรนด์ต่าง ๆ 2.สติ๊กเกอร์สำหรับจำหน่าย โดยมีทั้งแบบออฟฟิเชียลและครีเอเตอร์ โดยมีการแบ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายในอัตราส่วน 50 : 50 โดยในปีนี้ ไลน์ต้องการส่งเสริมให้ตลาดครีเอเตอร์เติบโตมากขึ้น เพื่อให้สร้างสรรค์ผลงานออกมาจำหน่ายได้มากขึ้น โดยต้องการทำให้ “ครีเอเตอร์” เป็นอาชีพที่ได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ เริ่มจากการจัดงานประกาศรางวัลผู้สร้างสรรค์สติ๊กเกอร์เป็นครั้งแรกใน 3 ปี เพื่อขอบคุณเจ้าของผลงานและทำให้แฟน ๆ ได้พบปะกับเจ้าของผลงาน
นอกจากนี้ ยังจะมีอีก 4 กิจกรรมที่ช่วยสนับสนุน คือ 1.ไลน์จะต่อยอดแคแร็กเตอร์ของครีเอเตอร์ที่มีผลงานอยู่แล้วให้เป็นสินค้า โดยมีรางวัลให้ผู้ที่ได้ยอดการซื้อสูงสุดในแต่ละเดือนเป็นเงิน 50,000 บาท เพื่อนำไปผลิตสินค้ามาจำหน่าย เรียกว่า รางวัล Rising Star โดยในวันที่ 1 กันยายนนี้จะเปิดให้ขายสินค้าบน “ไลน์กิฟต์ช็อป” เรียกว่า “ไลน์ครีเอเตอร์กิฟต์ช็อป” 2.จัดเวิร์กช็อปใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ขอนแก่น และภูเก็ต เพื่อให้บุคคลทั่วไปได้เรียนรู้วิธีการเบื้องต้นในการทำสติ๊กเกอร์ ด้วยการเชิญครีเอเตอร์ที่ได้รับความนิยมมาให้ความรู้ โดยหวังว่าจะเกิดครีเอเตอร์ใหม่ ๆ จำนวนมาก
3.ไลน์ครีเอเตอร์สตูดิโอ (Line Creators Studio) เป็นแอปพลิเคชั่นให้ทดลองทำสติ๊กเกอร์ โดยในประเทศไทยเปิดให้ใช้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 สิงหาคมนี้ มีจุดประสงค์เพื่อให้คนทำสติ๊กเกอร์ได้ง่าย ๆ และสามารถสร้างเป็นอาชีพได้ โดยสร้างเพียงแค่ 8 ตัวใน 1 เซต ไม่ต้องถึง 40 ตัวเหมือนที่ผ่านมา และ 4.กิจกรรมไลน์สติ๊กเกอร์ครีเอเตอร์คอนเทสต์ ในหัวข้อ Express Your Love via LINE มีรางวัลไปศึกษาดูงานจากครีเอเตอร์ที่ประเทศญี่ปุ่น 10 รางวัล เปิดรับผลงานวันที่ 22 สิงหาคม-15 ตุลาคมนี้
นายกณพกล่าวต่อว่า ไลน์ยังพัฒนาช่องทางการชำระเงินให้มากขึ้น จากปัจจุบันการซื้อสติ๊กเกอร์ทำได้ 1.ผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ 2.ผ่านไลน์สโตร์ https://store.line.me/ โดยชำระเงินได้โดยผ่านค่ายมือถือทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน ปัจจุบันยังทำตลาดร่วมกับโอเปอเรเตอร์ เรียกว่า (DOB-direct operator billing) โดยเอไอเอสและดีแทคจะชำระได้ทั้งรายเดือนและเติมเงิน ส่วนทรูได้ในระบบเติมเงิน ล่าสุดจ่ายเงินสดได้ด้วย โดยร่วมกับพันธมิตรให้ซื้อผ่านตู้เติมเงินโดยเลือกเฉพาะสติ๊กเกอร์ที่ได้รับความนิยม ราคา 30-150 บาท
“ปีนี้เราต้องการส่งเสริมให้ครีเอเตอร์เป็นอาชีพใหม่ที่สร้างรายได้ได้จริง โดยสร้างครีเอเตอร์รายใหม่และสนับสนุนรายเก่า รวมถึงขยายช่องทางการจัดจำหน่ายให้เข้าถึงกลุ่มคนที่ยังไม่สะดวกชำระในช่องทางที่มีช่วยให้ครีเอเตอร์มีรายได้มากขึ้น”
จำนวนครีเอเตอร์ของไทยปัจจุบันมี 1.2 แสนราย จาก 1 แสนรายปีที่แล้ว คาดว่าสิ้นปีจะเป็น 1.5 แสนราย ส่วนยอดขายสติ๊กเกอร์โต 15%
“เทรนด์การซื้อสติ๊กเกอร์ในไทยผู้ชายเริ่มซื้อสติ๊กเกอร์มากขึ้น และชอบสติ๊กเกอร์รูปแบบตลก ๆ กวน ๆ ส่วนผู้หญิงจะโหลดการ์ตูนน่ารัก ๆ และช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สติ๊กเกอร์ที่มีแค่ตัวหนังสือแทนคำพูดหลาย ๆ คนขายดี ย้ำว่า ใคร ๆ ก็ขายสติ๊กเกอร์ได้ ขอแค่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ต้องมีฝีมือทางศิลปะ”