เจาะงบการเงิน 3 ค่ายยักษ์ ทุ่มโฆษณา-ซิบซิไดร์เครื่อง

3 ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ของไทย ทั้ง “เอไอเอส-ทรู-ดีแทค” ล้วนประกาศผลประกอบการประจำไตรมาสแรกปี 2562 กันครบแล้ว โดยมีรายได้รวมกันถึง 96,419 ล้านบาท แต่เนื่องจากทั้ง “เอไอเอส” และ “ทรู” ล้วนขยับสู่ตลาดการให้บริการอื่นนอกจากโทรศัพท์เคลื่อนที่แล้ว ผลประกอบการล้วน ๆ จึงไม่อาจสะท้อนถึงภาพของตลาดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ชัดเจน “ประชาชาติธุรกิจ” พาชำแหละเฉพาะส่วนนี้ให้เห็นสถานการณ์ชัด ๆ

YoY รายได้เพิ่ม 3 พันล้าน

ถ้าเจาะเฉพาะธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ มีรายได้รวม 88,355 ล้านบาท แบ่งเป็นเอไอเอส 42,536 ล้านบาท ดีแทค 19,660 ล้านบาท ทรูมูฟ เอช 26,159 ล้านบาท หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YOY) แล้ว รายได้รวมของทั้ง 3 ค่ายอยู่ที่ 85,092 ล้านบาท แบ่งเป็นเอไอเอส 39,920 ล้านบาท ดีแทค 19,255 ล้านบาท และทรูมูฟ เอช 25,917 ล้านบาท 1 ปีผ่านไปรายได้ของโอเปอเรเตอร์เพิ่มขึ้นลง 3,263 ล้านบาท

ขณะที่จำนวนลูกค้าของทั้ง 3 ค่ายเพิ่มขึ้น โดยเมื่อไตรมาส 1 ปี 2561 มีลูกค้ารวม 89.48 ล้านเลขหมาย แต่ล่าสุดไตรมาส 1 ปี 2562 มีลูกค้ารวม 91.8 ล้านเลขหมาย แบ่งเป็นเอไอเอส 41.5 ล้านเลขหมาย เพิ่มจากไตรมาสก่อน 3.21 แสนเลขหมาย ทรูมูฟ เอช 29.6 ล้านเลขหมาย เพิ่มขึ้น 3.38 แสนเลขหมาย และดีแทค 20.7 ล้านเลขหมาย ลดลง 5 แสนเลขหมาย

ARPU-รายได้ Voice วูบ

ส่วนรายได้ต่อเดือนต่อเลขหมาย (ARPU) ถ้าเทียบ YoY “เอไอเอส” และ “ทรูมูฟ เอช” มียอด ARPU ลดลง โดยเอไอเอสลดจาก 258 บาท มาอยู่ที่ 253 บาท “ทรูมูฟ เอช” ลดจาก 207 บาท เหลือ 205 บาท แต่ “ดีแทค” ARPU ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย ขยับเพิ่มมาอยู่ที่ 242 บาท จากปีก่อนอยู่ที่ 240 บาท นอกจากนี้ ยังสะท้อนสถานการณ์ชัดเจนว่า บริการ Voice อยู่ในเทรนด์ขาลงอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าแบบเติมเงิน (พรีเพด)

“เอไอเอส” ลูกค้าพรีเพดลดจากที่เคยโทร.เดือนละ 148 นาที/เบอร์ ก็ลดเหลือ 113 นาที/เบอร์ (YoY) ส่วนลูกค้ารายเดือนลดจาก 251 นาที/เบอร์ มาอยู่ที่ 237 นาที/เบอร์ ส่วนปริมาณใช้งานดาต้ายังเพิ่มมาอยู่ที่ 11.4 GB/เลขหมาย/เดือน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ใช้ 7.6 GB แม้จะลดการออกแพ็กเกจแบบใช้ไม่อั้น ส่วนสมาร์ทโฟนที่รองรับ 4G ในเครือข่ายอยู่ที่ 63%

“ดีแทค” ลูกค้าพรีเพดลดลง YoY 21.7% เหลือ 87 นาที/เบอร์/เดือน ส่วนลูกค้ารายเดือนลดลง 9.9% เหลือ 228 เดือน ขณะที่ลูกค้าที่ใช้งาน 4G เพิ่มเป็น 10.2 ล้านเลขหมาย คิดเป็น 49% ของลูกค้ารวม และมีสมาร์ทโฟน 69% ในเครือข่ายที่รองรับ 4G

ซับซิไดซ์เครื่อง-ทุ่มโฆษณา

สำหรับ “ทรูมูฟ เอช” ยังมุ่งจัดกิจกรรมการตลาดแบบเจาะกลุ่มลูกค้า และขยายช่องทางการขายที่แข็งแกร่งขึ้น ส่งเสริมการเติบโตของรายได้ และฐานลูกค้าทั้งในระบบรายเดือนและเติมเงิน รวมถึงการรุกหนักในกลุ่มตลาดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทำให้รายได้ของบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนได้ 9.3% มาอยู่ที่ 1,109 ล้านบาท

ทั้งยังมองว่าการแข่งขันกันอุดหนุนค่าเครื่องสมาร์ทโฟนและการออกแพ็กเกจโมบายอินเตอร์แบบใช้ได้ไม่จำกัดจะค่อย ๆ ลดลง สร้างโอกาสในการเพิ่ม ARPU ให้มากขึ้นได้ พร้อมเน้นการให้ความสำคัญกับคุณภาพเครือข่ายและแพ็กเกจที่หลากหลายในการขยายฐานลูกค้า

แต่ “ดีแทค” มองว่า ส่วนลดค่าเครื่องยังจำเป็นในการดึงดูดและรักษาฐานลูกค้าโดยเฉพาะบริการแบบรายเดือน แม้ว่ารายได้จากการขายเครื่องและเลขหมายล่าสุดจะลดลงถึง 17.7% (YoY) มาอยู่ที่ 1,895 ล้านบาท และผลขาดทุนจากการขายเครื่องอยู่ที่ 734 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังใช้รายจ่ายเพื่อการขายและการตลาด 1,156 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.9% โดยเน้นด้านการโฆษณา

ฟาก “เอไอเอส” ยังเน้นการทำแพ็กเกจราคาต่ำและโปรโมชั่นค่าเครื่อง โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเติมเงิน และใช้จูงใจให้ลูกค้าเติมเงินย้ายมาระบบรายเดือนได้ดี โดยมีรายได้การขายซิมและอุปกรณ์อยู่ที่ 6,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.8% (YoY) แต่ถ้าเทียบกับไตรมาสก่อนจะลดลง 11% เนื่องจากเน้นทำตลาดในกลุ่มเครื่องราคาระดับกลาง ส่วนอัตราขาดทุนจากการขายซิมและอุปกรณ์ของไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ 4.2% เทียบกับ 1.1% ในไตรมาส 1/2561


ส่วนค่าใช้จ่ายการตลาดอยู่ที่ 2,587 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% (YoY) จากการโฆษณาเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ โดยปัจจุบันอัตราส่วนค่าใช้จ่ายการตลาดต่อรายได้รวมอยู่ที่ 5.9% เพิ่มจาก 5.5% ในไตรมาส 1/2561