ลองก่อนรู้ก่อนเหนือคู่แข่ง กูรูแนะปรับ “คน” รับมือดิจิทัล

กระแสดิจิทัลดิสรัปต์ยังคงเป็นตัวเร่งให้องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกตื่นตัวกับ “ทรานส์ฟอร์ม” เพื่อรับมือ แต่ไม่ใช่ทุกองค์กรจะทำได้สำเร็จ เมื่อเร็ว ๆ นี้ บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี เปิดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนมุมมองของผู้เชี่ยวชาญ ชี้ชัด ๆ ว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้การทรานส์ฟอร์มสำเร็จหรือล้มเหลว

“คน” ปัญหาใหญ่ 

“ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร” ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ MFEC เปิดเผยว่า ความยากของการเปลี่ยนองค์กรเพื่อรับมือดิจิทัลดิสรัปชั่นคือ การต้องเปลี่ยนให้พร้อมกันทั้ง 3 แกนสำคัญ

ธุรกิจ คือ “เทคโนโลยี-ความต้องการลูกค้า-พนักงาน” ซึ่งพนักงานในองค์กรเป็นส่วนที่ยากที่สุด เพราะต่อให้ทุ่มเงินลงทุนกับเทคโนโลยีมากแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีคนนำไปใช้ และถ้า “คน” ยังมีรูปแบบการทำงานแบบเดิม ๆ ก็ไม่สำเร็จ

“ส่วนใหญ่จะทรานส์ฟอร์มล้มเหลว เพราะถ้าไม่มี passion จะไม่รอด คนในวงการไอทีถูกกระตุ้นจากเงินเดือน ทำให้แรงงานขาดรุนแรงมาก เพราะคนที่เก่งมาก ๆ จะไปอยู่ต่างประเทศ คนเก่งน้อยลงมาก็เป็นสตาร์ตอัพหรืออยู่กับสตาร์ตอัพ ส่วนธุรกิจอื่น ๆ ก็จะได้เกรดลงมาหน่อย ดังนั้นอย่าไปคาดหวังกับการศึกษาอย่างเดียว เพราะจบมาก็มีความรู้ไม่ตรงตามที่ทำงาน ซึ่งคนไทยมีความรู้เยอะ แต่คนที่ทำน้อย ดังนั้นนอกจากไอเดียที่ดี ต้องมีทีมที่ดี”

อย่างในส่วนของ MFEC เอง เริ่มทรานส์ฟอร์มมา 2 ปี เพิ่งเห็นผลในปีนี้ที่ผลประกอบการกลับมาสู่ภาวะปกติ ที่ช่วยยืนยันว่า ทรานส์ฟอร์มได้ถูกทาง หลังจากได้ปิดบริษัทในเครือไป 5 แห่ง และเปิดบริษัทใหม่มุ่งไปที่ด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ เอไอ บิ๊กดาต้า คลาวด์และบล็อกเชน ปีนี้คาดจะมีรายได้ 3-4 พันล้านบาท กำไรแตะ 200 ล้านบาท

“ปีที่แล้วเอาคนออก 300 คน รับคนมาเพิ่ม 350 คน เน้นที่ทักษะใหม่ทั้งหมด แล้วเปลี่ยนจากธุรกิขายฮาร์ดแวร์เป็นซอฟต์แวร์ มีการลงทุนในสตาร์ตอัพ และสร้างทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานด้านเอไอ แมชีนเลิร์นนิ่ง”

Ex Academy ช่วยสร้างคน 

ขณะเดียวกัน MFEC ยังสร้างเอ็กซ์ อะคาเดมี (Ex Academy) เป็นโครงการที่รวบรวมกูรูทางด้านธุรกิจและไอทีมาถ่ายทอดเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ทั้งในเชิงบริหารจัดการและเทคนิค เพื่อแก้ปัญหาหลักของตลาด มุ่งไปที่บุคคลทั่วไปที่ต้องการพัฒนาทักษะ นักศึกษา และภาคธุรกิจ มีกิจกรรมทั้งการอบรมระยะสั้น เวิร์กช็อป และสัมมนา เริ่มแล้วใน 3 หลักสูตร ได้แก่ 1.ไซเบอร์ซิเคียวริตี้ 2.ซิสเต็มส์เอ็นจิเนียร์ และ 3.ดาต้าอนาไลติก โดยให้เรียนฟรี เปิดโอกาสให้องค์กรทุกอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมได้

Change คือ นำธุรกิจมาปรับใหม่

“ดำรงศักดิ์ รีตานนท์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความปลอดภัยทางไซเบอร์และผู้รับผิดชอบ Ex Academy กล่าวว่า การทรานส์ฟอร์มในปัจจุบันมี 2 มุม

1.หาผู้รู้ในเทคโนโลยีมาเปลี่ยนแปลงองค์กร 2.พาตัวเองออกนอกกรอบ เพื่อหาไอเดียใหม่ ๆ หาเทคโนโลยีให้ตอบโจทย์

“การทำแบบที่ 1 นั้นทำได้ แต่เห็นผลช้า ขณะที่คู่แข่งไม่ปล่อยให้เรามีเวลาลองผิดลองถูก แต่แบบที่ 2 จะไปได้เร็วกว่า เพราะเริ่มจากระดมความคิด หาสิ่งใหม่ ๆ แล้วค่อยหาเทคโนโลยีที่เหมาะมาใช้ ถือเป็นการ change คือนำธุรกิจเดิมมาปรับใหม่ ไม่ใช่แค่ทรานส์ฟอร์ม”

ค้นหา “เหตุและปัจจัย” 

“เกรียงไกร นิตรานนท์” เจ้าของบ้านไร่ปาล์มปิยา (Farm Stay & School Camping) อดีตวิศวกรคอมพิวเตอร์ ไอบีเอ็ม กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดเกิดจากเหตุและปัจจัยไม่ได้เกิดสะเปะสะปะ จึงนำโมเดลของธรรมะมารวมกับโมเดลของการทำธุรกิจ ด้วยการศึกษาหาสาเหตุและจุดเชื่อมโยงของเหตุและผล

“เพราะถ้าเราทำให้สอดคล้องกับเหตุและปัจจัย ก็จะได้ผลลัพธ์คืนมา ไม่ได้มีอะไรได้มาง่าย ๆ หรือฟรี ๆ แต่สามารถบริหารจัดการเรื่องต่าง ๆ ได้”

ลองก่อนรู้ก่อนก้าวเร็วกว่า 

นายชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ กล่าวว่า ความกลัวทำให้ไม่กล้าทำอะไรในสิ่งที่ไม่คุ้น ธุรกิจในยุคนี้คือการลองผิดลองถูก เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องตามให้ทัน การริเริ่มทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ก่อน ยิ่งทำให้กระบวนการเรียนรู้ทำได้เร็วขึ้น เรียกว่า ลองก่อนรู้ก่อนและนำไปปรับให้เข้ากับธุรกิจและกลุ่มลูกค้าขององค์กรได้เร็วกว่าคู่แข่ง


“ธุรกิจยุคนี้ตกมาก็ไต่ขึ้นไปใหม่ แค่หาทางป้องกันความเสี่ยงไว้ด้วยการขีดเส้นเงินทุนที่ยอมให้สูญได้ การลองผิดลองถูกเยอะ ๆ เต็มที่ก็แค่เหนื่อย แต่เวลาจะเปลี่ยนอะไรแรง ๆ ต้องเริ่มจากผู้ใหญ่ก่อน ถ้าผู้ใหญ่ไม่ทำ เด็กก็ไม่กล้าทำ สิ่งสำคัญของการจะเรียนรู้อะไรสักอย่าง คือต้องตัดข้อจำกัดในใจให้ได้เร็วที่สุด”