กดดัน “กสทช.” ลดราคา 700 MHz

หลังจากปล่อยให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ “กสทช.” กระหยิ่มยิ้มย่องว่า คำสั่ง คสช. ยืดเวลาให้ค่ายมือถือจ่ายเงินประมูลค่าคลื่น 900 MHz ไม่ทำให้รัฐเสียประโยชน์แน่นอน เพราะได้ “มัดมือชก” ให้ทั้ง 3 บริษัทอย่างเอไอเอส ดีแทค ทรู ต้องเข้ารับการจัดสรรคลื่นย่าน 700 MHz ทำให้รัฐได้เงินเพิ่มอีก 7 หมื่นกว่าล้านบาท แถมยังได้เงินไปช่วยเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล

แต่ล่าสุดในเวทีประชาพิจารณ์ หลักเกณฑ์จัดสรรคลื่น 700 MHz ทุกค่ายพร้อมใจกันตอกย้ำว่า ราคาใบอนุญาต 17,584 ล้านบาท “แพงเกินไป”

แม้แต่ตัวแทนของ “ทรู” ที่คาดกันว่า ต้องการยืดเวลาจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 MHz มากที่สุด แต่ “จักรกฤษณ์ อุไรรัตน์” รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังระบุว่า ราคาใบอนุญาตแพงเกินไป ไม่ได้ประเมินราคาจากสภาพแวดล้อมที่แท้จริง

“กสทช.จะเอาราคาจัดสรรคลื่นของสวีเดนมาใช้กับประเทศไทยไม่ได้ เพราะรายได้ประชากรต่างกัน และการที่ กสทช.กลัวว่า สังคมจะกล่าวหาว่าเอื้อเอกชนจึงตั้งราคาไลเซนส์ให้แพง ๆ ไว้นั้นเป็นสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะหาก ม.44 ออกมาแล้ว ไม่มีใครเข้ารับการจัดสรรคลื่น ม.44 ก็ออกมาเสียเปล่า”

ทั้งปัจจุบันยังไม่มี used case ที่จะนำคลื่นนี้ไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

“ถ้าจุดประสงค์ของการใช้ ม.44 ออกคำสั่ง คสช. ต้องการเงินของโอเปอเรเตอร์ไปช่วยเยียวยาทีวีดิจิทัลที่ขาดทุน กสทช.ก็ควรคิดค่าเยียวยามาเลยว่าต้องการเท่าไร แล้วนำมาหารให้โอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 รายจ่ายค่าไลเซนส์ไปเลยจะดีกว่า เพราะจะนำคลื่น 700 MHz มาหารายได้ ต้องรออีก 3 ปีถึงจะเหมาะสม คลื่นที่ต้องการจริง ๆ คือ 2600 MHz และ 3500 MHz”

ขณะที่ “สุเทพ เตมานุวัตร์” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานธุรกิจสัมพันธ์และพัฒนา บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า การจะผลักดันให้ 5G เกิดขึ้นในประเทศไทย ต้องมีคลื่นความถี่ย่านสูง ย่านกลาง และย่านต่ำ มาผสม ซึ่งเอกชนก็ต้องมีเงินมาลงทุนเพิ่มอีก

“กสทช.จะนำเงินจากคลื่น 700 MHz ไปช่วยแก้ปัญหาทีวีดิจิทัลที่ขาดทุนจนต้องคืนใบอนุญาต หากวันหนึ่งโอเปอเรเตอร์ไม่มีเงินลงทุน ไปต่อไม่ไหว จะขอคืนใบอนุญาตได้หรือไม่”

ส่วนกรณีที่ กสทช.ระบุว่า สามารถนำคลื่น 700 MHz มาใช้รองรับบริการ 4G ก่อนได้นั้น สำหรับเอไอเอสก็ไม่มีความจำเป็น เพราะได้วางโครงข่ายบริการครอบคลุมเกือบหมดแล้ว

ฟาก “ดีแทค” ที่ประเมินกันว่า แทบไม่จำเป็นต้องขอใช้สิทธิ์ตามคำสั่ง คสช. เพราะงวดการชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz ที่เป็นก้อนใหญ่สุด 3 หมื่นกว่าล้านบาทอยู่ในปี 2565 แตกต่างจาก 2 รายใหญ่ที่ครบกำหนดในปี 2563 กว่า 6 หมื่นล้านบาท (ไม่รวม VAT)

“นฤพนธ์ รัตนสมาหาร” ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า ในทวีปยุโรป ราคาประมูลคลื่นถ้าเฉลี่ยเป็น MHz แล้ว ราคาจะอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท ประเทศในโซนเอเชียอยู่ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท แต่ กสทช.กำหนดไว้ที่ 17,584 ล้านบาท จึงอยากให้ทบทวนทั้งราคาและห้วงเวลาในการจัดสรรให้เหมาะสมกว่านี้

ขณะที่ฝั่งเลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ระบุว่า การจัดสรรครั้งนี้ไม่ใช่การประมูล จึงได้ตั้งราคาไว้สูงกว่ามูลค่าคลื่นราว 7-10% หากจะลดราคาลงก็คงได้แค่ 7-10% เช่นกัน แต่ก็ต้องตอบสังคมให้ได้ว่า ทำไมต้องลด”