กองทุน “กสทช.” อู้ฟู่ 4 หมื่นล้าน พร้อมจ่ายเงินคืนช่อง-ปั้นระบบเรตติ้งใหม่

กองทุนวิจัยฯ กสทช. สภาพคล่องทะลุ 4 หมื่นล้าน พร้อมสำรองจ่ายชดเชยทีวีดิจิทัลตามคำสั่ง คสช.ได้ทันที “ฐากร” ย้ำ 7 ช่องทีวีดิจิทัล “เอกสารครบ” เคาะจ่ายได้ทันที พร้อมควัก 400 ล้านบาท ให้ “องค์กรกลาง” สร้างระบบเรตติ้งใหม่

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 จะใช้เงินเยียวยาการแก้ปัญหาทีวีดิจิทัล 5 ส่วน ได้แก่ 1.การจ่ายเงินชดเชยให้กับ 7 ช่องทีวีดิจิทัลที่คืนใบอนุญาตเบื้องต้นน่าจะใช้เงินราว 3,100 ล้านบาท 2.การยกเว้นเงินค่าประมูลช่อง 2 งวดสุดท้าย 13,622.4 ล้านบาท 3.ค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน (MUX) จนครบอายุไลเซนส์ 4.ค่าชดเชยหรือเยียวยาของ MUX ที่ได้รับผลกระทบ และ 5.เงินสนับสนุนการทำระบบสำรวจความนิยมรายการทีวี

โดยได้กันเงินของ “กทปส.” กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อสำรองจ่ายก่อนที่จะได้รับเงินจากการจัดสรรคลื่น 700 MHz เรียบร้อยแล้ว

ยื่นครบ-เคาะจ่ายเงินได้ก่อน

“ช่องสปริงนิวส์ยื่นเอกสารเข้ามาแล้ว ช่องไหนเอกสารครบก็พิจารณาก่อน ได้เงินเยียวยาก่อน ส่วนค่าเช่า MUX กำลังคำนวณเฉพาะ 15 ช่องที่ไปต่อว่าเท่าไร น่าจะน้อยกว่า 18,775 ล้านบาทที่ประเมินไว้ก่อนนี้ เพราะมีช่องคืนเยอะกว่าที่คาด ส่วนเงินชดเชยให้ MUX ที่ได้รับผลกระทบ ต้องให้ชมรมผู้ประกอบการฯ ส่งหนังสือแจ้งรายละเอียดมาก่อน แต่ในส่วนระบบเรตติ้งเตรียมกันไว้ 400 ล้านบาท”

เปิดทางสร้างระบบเรตติ้งใหม่

สำหรับเกณฑ์การจัดสรรเงินในการสำรวจความนิยมช่องรายการทีวี ได้กำหนดให้ผู้มีสิทธิจะขอเงินสนับสนุนส่วนนี้ได้ ต้องจดทะเบียนนิติบุคคลไม่น้อยกว่า 3 ปี มีกรรมการองค์กรไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เป็นผู้แทนจากผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นเพื่อบริการทีวีดิจิทัล สมาชิกขององค์กรต้องเป็นผู้แทนจากผู้รับไลเซนส์ทีวีดิจิทัล จาก กสทช. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนผู้ได้รับไลเซนส์ทีวีดิจิทัลในปัจจุบัน (ไม่นับรวมผู้ที่ขอใช้สิทธิคืนไลเซนส์ตามคำสั่ง คสช.)โดยจะต้องทำหนังสือแจ้งความประสงค์มายังสำนักงาน กสทช.ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่น 700 MHz (19 มิ.ย. 2562)

“ทางผู้ประกอบการต้องการให้มีระบบสำรวจเรตติ้งใหม่ที่แม่นยำกว่าเดิม จึงจะให้เงินสนับสนุนกับทางสมาคมผู้ประกอบการ ให้หาระบบที่คิดว่าเหมาะสมเอง”

แต่มีเงื่อนไขว่า ต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ต้องสนับสนุนข้อมูลต่อหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ สถาบันการศึกษาในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการวิจัยและการพัฒนากิจการที่เกี่ยวข้อง รวมถึงช่องทีวีดิจิทัลบริการสาธารณะ ต้องมีสิทธิเข้าร่วมระบบนี้ และ กสทช. เข้าใช้ข้อมูลนี้ได้ฟรีเพื่อกำกับการแข่งขัน

กองทุนอู้ฟู่ 4 หมื่นล้าน

ด้านแหล่งข่าวภายในสำนักงาน กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เม็ดเงินที่จะต้องจ่ายเยียวยาทีวีดิจิทัลตามคำสั่ง คสช. ไม่กระทบกับสถานะการเงินของกองทุน กทปส. เนื่องจากมีเงินคงเหลือกว่า 4.7 หมื่นล้านบาท และราวเดือน มิ.ย.นี้จะมีเงินสมทบจากผู้ประกอบการฝั่งโทรคมนาคมที่จะต้องจ่ายเข้ากองทุนอีกราวหมื่นล้านบาท

ขณะที่มีภาระผูกพันตามโครงการที่อนุมัติก่อนหน้านี้ราว 3 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (zone C) หรือ “เน็ตชายขอบ” เฟสแรก 1.3 หมื่นล้านบาท เฟส 2 ราว 1.5 หมื่นล้านบาท และอีก 1 พันล้านบาทสำหรับกรอบวงเงินการจัดสรรเงินกองทุนประจำปี 2562 ที่ได้อนุมัติไว้แล้ว

เมื่อหักส่วนที่ต้องกันไว้ตามโครงการที่อนุมัติแล้วก็จะมีเงินกองทุนเหลือราว 1.3 หมื่นล้านบาท ส่วนนี้ก็จะเบิกไปสำรองจ่ายให้ทีวีดิจิทัลที่คืนช่องก่อนได้ รวมถึงค่าทำเรตติ้ง ค่าชดเชยผู้รับไลเซนส์ MUX แต่ส่วนค่าเช่า MUX ที่ประเมินไว้หมื่นกว่าล้านบาท เป็นการทยอยจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปีตามสัญญาที่แต่ละช่องทำไว้กับ MUX


“ปกติเงินของกองทุนจะนำไปใช้ได้เฉพาะที่มีวัตถุประสงค์ของกองทุนกำหนดไว้เท่านั้น แต่เมื่อมีคำสั่ง คสช. ระบุไว้ เลขาธิการ กสทช. ก็มีอำนาจเบิกเงินมาใช้ในส่วนนี้ได้”