TDRI ชี้ ม.44 = ลุงสั่งเฮียอุ้มเสี่ยด้วยเงินเรา “ธนาธร” ย้ำเป็น “อาการของประเทศ” ไม่เฉพาะโทรคม-บรอดแคสต์

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 พ.ค. 2562 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาและคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาสาธารณะ “ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล: รัฐเอื้อทุน ประชาชนได้อะไร”

รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศาสตร์ กล่าวว่า 5 ปีของรัฐบาลนี้ได้มีการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แล้วกว่า 200 ฉบับ ซึ่งได้ฉายภาพของการเกื้อกูลกันระหว่างภาครัฐกับกลุ่มทุน ที่มีแนวโน้มจะมีการใช้อำนาจรัฐเกื้อกูลกลุ่มทุนมากขึ้นเรื่อยๆ

ด้าน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การออกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ถ้าแปลงเป็นภาษาง่ายๆ แบบภาษานิยาย นี่คือ นิยาย ที่มี 4 ตัวละคร เรื่องของลุงสั่งเฮียอุ้มเสี่ยด้วยเงินเรา

“นี่เป็นนิทานที่ซ้อนนิทานกันอยู่ 4 – 5 เรื่อง คือ ทีวีดิจิทัลถูกดิสรัปต์ ธุรกิจล้มละลาย รัฐจึงต้องเข้าอุ้ม เรื่องที่ 2 คือ ถ้าประเทศไทยไม่รีบเปิดบริการ 5G จะเสียประโยชน์มากมาย ผสมกันจึงเป็นนิทานเรื่องที่ 3 เพราะฉะนั้น ดีเลย เอาคลื่นทีวีดิจิทัล มาทำบริการ 5G แทนใช้ทำทีวีที่ล้มไป แล้วก็ได้โอกาสจากการเอาเงินที่ได้จัดสรร 5G มาอุ้มทีวีดิจิทัล แล้วเพื่อจูงใจให้ 3 ค่ายมือถือมาให้บริการ 5G ก็ต้องยืดเวลาจ่ายหนี้ 4G ที่ทั้ง 3 ค่ายค้างอยู่ แล้วจะทำให้ทั้งหมดเกิดขึ้นได้ต้องใช้ดาบกายสิทธิ์คือ ม.44 ”

เหตุที่ระบุว่าเป็นนิยายหรือนิทาน เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เป็นความจริง แม้ว่า การถูกดิสรัปต์ของทีวีดิจิทัลจะเป็นจริง แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ไม่ใช่เป็นแค่รายเล็ก แต่ก็มีกลุ่มทุนใหญ่ด้วย ทั้งยังทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสจากการมีผู้ประกอบการ 5G รายใหม่ ทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมผูกขาดเหมือนเดิม

“สิ่งที่รัฐควรจะทำเมื่อเกิดเทคโนโลยีดิสรัปชั่น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจล้ม คนมีโอกาสตกงานอีกเยอะ ไม่ใช่การเข้าไปอุ้มธุรกิจ อุ้มเสี่ย แต่เป็นการพัฒนาทักษะใหม่ให้คนหางานใหม่ได้  ส่วนนิทานเรื่องการที่ไทยต้องไป 5G ให้เร็วที่สุด เพราะไทยเกิด 3G ช้า ทั้งที่หากไปย้อนดูมันคือเรื่องเจ้าพ่อเจ้าแม่ เรื่องของเสี่ย ที่มีการแอบทำ 3G ไปก่อนแล้ว ขณะที่การทำ 5G ประเทศที่ทำ 5G เป็นเรื่องเป็นราวมีน้อยมาก และทั้งหมดคือ ผู้ผลิตอุปกรณ์ 5G ขายถึงรีบทำ”

ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า การออกคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 เพื่ออุ้มทีวีดิจิทัลและยืดเวลาจ่ายเงินประมูลของค่ายมือถือ ไม่ใช่การเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนเป็นครั้งแรก แต่เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว รวมถึงการใช้อำนาจรัฐเข้ามาแทรกแซงเพื่อเอื้อประโยชน์กับบางกลุ่ม อย่างการเกิด 3G ในประเทศไทยช้าก็เป็นเพราะเหตุผลนี้ด้วยเช่นกัน รวมถึงการยืดเวลาจ่ายเงินค่าประมูลให้เอกชน หรือการยกหนี้ให้ ทำให้ผู้ประกอบการมีภาระด้านดอกเบี้ยที่น้อยกว่ากู้เงินจากสถาบันการเงิน ทั้งที่หากเป็นเทียบกับกรณีของเกษตรกรต้องการยืดเวลาชำระหนี้ทางการเกษตร กลับต้องถูกคิดดอกเบี้ยแพงขึ้น

“กรณีนี้จึงเป็นกรณีศึกษาที่ดีมากสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจทุนขนาดใหญ่กับการเมือง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เป็นรัฐบาลที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะการต่อรองกับทหาร ง่ายกว่า การต่อรองกับนักการเมืองที่ถูกตรวจสอบโดยสภาได้ และนี่ไม่ใช่อาการที่เกิดเฉพาะกับโทรคมนาคม แต่เป็นอาการของประเทศ ที่หันไปทางไหนก็เจอปัญหานี้ จึงควรเรียนรู้จากกรณีนี้ เพื่อนำมาใช้จัดสรรทรัพยากรในประเทศให้ดีกว่านี้”