Open API อีกสเต็ป “SCB” ต่อยอด Data สู้ศึกไร้พรมแดน

ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภคที่คุ้นชินกับบริการ “ดิจิทัล” เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ทำให้ผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศหลายรายปักธงจะพัฒนา “ซูเปอร์แอป” ที่รวมทุกอย่างไว้ให้ผู้บริโภคในแอปพลิเคชั่นเดียว ซึ่งรวมถึงการขยายตัวสู่ “บริการทางการเงิน” สะเทือนความแข็งแกร่งของธุรกิจธนาคาร

“ธนา โพธิกำจร” ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ยอมรับว่า ธุรกิจก้าวสู่ยุคไร้พรมแดน ทั้งในแง่ของพรมแดนระหว่างประเทศและพรมแดนที่เป็นเส้นแบ่งกลุ่มธุรกิจต่าง ๆ ให้แยกออกจากกัน ทำให้ทุกวันนี้ธนาคารต้องต่อสู้กับคู่แข่งมากหน้าหลายตา ไม่ได้จำกัดแต่เฉพาะแวดวงการเงินแบบเดิม ๆ อีกต่อไป

ฉะนั้น “ผู้บริหารต้องเปลี่ยนทัศนคติ” เพื่อก่อให้เกิดการเชื่อมต่อสู่ระบบนิเวศใหม่ ซึ่ง SCB มีเป้าหมายที่จะมุ่งสู่การเป็น open bank อย่างสมบูรณ์เพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้พันธมิตรธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาเชื่อมต่อได้

สู่เป้า “SCB เป็นทุกอย่าง”

ดังนั้นการเปิด API (application programming interface) หรือช่องทางสำหรับการเชื่อมต่อระหว่างแอปพลิเคชั่นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างซอฟต์แวร์ เพื่อแชร์ทรัพยากรของธนาคารให้นักพัฒนาอิสระเข้ามาเชื่อมต่อเพื่อทดลองสร้างนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ จึงเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างระบบนิเวศ (eco-system) ในโลกธุรกิจยุคดิจิทัล

“SCB จะเป็นทุกอย่างให้ลูกค้า ให้นักพัฒนา ทุกวันนี้ทุกอย่าง cross กันมากขึ้น ขณะที่บริการทางการเงินล้วนผูกเข้าไปในทุกกิจกรรม จึงสร้างแพลตฟอร์ม SCB Banking API เพื่อเปิดให้นักพัฒนาเข้ามาสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เชื่อมต่อกับบริการทางการเงินได้สะดวกขึ้น ซึ่ง SCB เป็นธนาคารไทยแห่งแรกที่เปิด API ให้นักพัฒนาภายนอกเข้ามาเชื่อมต่อได้แบบเปิดกว้างจริง ๆ ผ่าน http://developer.scb แตกต่างจากเดิมที่เปิดให้พันธมิตรเป็นราย ๆ ไป และกว่าจะเปิดได้ต้องมีขั้นตอนยุ่งยากซับซ้อนใช้เวลาเป็นเดือน ๆ เป็นปี”

แต่ open API นี้จะเข้าใช้งานได้ทันที ในรูปแบบของการทดลองผ่าน sandbox โดยสามารถศึกษาวิธีการพัฒนา วิธีการเชื่อมต่อระหว่างแอปพลิเคชั่นของผู้พัฒนาและธนาคารได้เอง รวมถึงมี simulator app ให้นักพัฒนาได้จำลองการทำงานได้เหมือนจริงด้วย ซึ่งเมื่อบริการมีความพร้อมแล้วจึงเข้าสู่กระบวน production ที่จะมีการเจรจาธุรกิจก่อนเปิดเป็นบริการจริงจัง

“ทุกวันนี้ความคิดสร้างสรรค์ที่ดีซึ่งเป็นหัวใจในการพัฒนาบริการใหม่ ๆ อาจจะอยู่ที่ลูกค้าหรือพาร์ตเนอร์หรือนักพัฒนา เมื่อโลกวันนี้ดาต้าเป็นสิ่งสำคัญมากในทุกอุตสาหกรรม การเปิด API ในธุรกิจการเงินที่มีระบบเข้มงวดที่สุด ก็เพื่อจุดประกายให้กับอุตสาหกรรมอื่นได้เปลี่ยนทัศนคติด้วย”

บริการใหม่ต่อกร nonbank

สำหรับ API ที่จะเปิดให้นักพัฒนาเชื่อมต่อได้ในเบื้องต้นมี 6 กลุ่ม ได้แก่ 1.การทำสินเชื่อ (loan origination) 2.SCB payment 3.customer information 4.การตรวจสอบตัวตน authentication 5.QR code payment และ 6.slip verification ที่จะตรวจสอบสลิปการจ่ายเงินว่าเป็นรายการจริงหรือไม่

“การเข้าใช้งานทั้งหมดจะไม่คิดค่าใช้จ่าย จนกว่าจะมีการสร้างบริการใหม่ที่ทำให้เกิดการใช้งานระบบอย่างหนักหน่วงมาก จึงอาจจะมีการคิดค่าใช้จ่ายในส่วนของแบนด์วิดท์ต่าง ๆ แต่ไม่ได้จะมุ่งหารายได้จากส่วนนี้ เน้นให้เป็นจุดเริ่มต้นสร้างนวัตกรรมใหม่ เป็นก้าวแรกให้เข้าไปสู่สิ่งที่ SCB ไม่เคยเข้าถึงได้มาก่อน และมีบริการทางเลือกใหม่ที่จะเป็นคู่แข่งกับเพย์เมนต์เกตเวย์ nonbank ได้”

โดยเฉพาะในตลาดสินเชื่อที่ผู้บริโภคมีความต้องการสูงมาก แต่การเข้าถึงบริการยังมีข้อจำกัด จึงมองว่า open API น่าจะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ขึ้นได้ โดยมี SCB เป็นระบบหลังบ้านให้ อาทิ ปล่อยกู้ให้ลูกค้าในธุรกิจของตนเองแล้วให้ลูกค้ามาผ่อนกับ SCB ซึ่งจะช่วยขยายฐานลูกค้าร่วมกันได้

ซีเคียวริตี้ยังเข้มงวด

ส่วนข้อกังวลเรื่องความปลอดภัยของระบบและข้อมูลของลูกค้า ผู้บริหาร SCB ยืนยันว่า SCB Banking API จะเป็น sandbox ที่แยกจากระบบหลักของธนาคาร เพื่อเปิดให้ได้เล่นได้ทดลองอย่างเต็มที่ โดยไม่กระทบกับความมั่นคงของระบบหลัก

“ที่สำคัญ ในทุก ๆ อย่างลูกค้า SCB จะต้องยินยอมอย่างชัดเจนว่าจะแชร์อะไรบ้าง ให้ใครบ้าง ตามมาตรฐาน GDPR (คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป) และการเลือกโปรดักต์ที่พัฒนาจาก sandbox ออกมาเป็นบริการจริง จะมีการคัดเลือกจากนักพัฒนาที่มีความน่าเชื่อถือไว้ใจได้เท่านั้น จะเปิดกว้างเฉพาะในขั้นตอนของการทดลองทดสอบ ทั้งในระบบของ sandbox จะออกแบบให้มีข้อจำกัดในการเข้าถึงที่รัดกุม มีการระบุตัวตนผู้เข้าใช้ เพื่อมอนิเตอร์พฤติกรรมผู้ทดสอบได้ เพื่อปิดช่องการถูกแฮก”