ต่างชาติบุกยึดอีคอมเมิร์ซ ทุนไทยแท็กทีมพลิกเกมสู้

สมรภูมิ อีคอมเมิร์ซไทยเดือด ยักษ์ต่างชาติสยายปีกลงทุนเพิ่ม ทั้ง “อาลีบาบา-เจดีดอตคอม” ดาหน้าทุ่มงบการตลาดเต็มพิกัด บีบอีคอมเมิร์ซไทยปรับตัวก่อนตายเรียบ “วีเลิฟช้อปปิ้ง” ผนึก ซี.พี.สู้ทั้งเครือ “ตลาดดอตคอม” ตั้งหลักใหม่คืนสังเวียน สมาคมอีคอมเมิร์ซชี้โลกไร้พรมแดนต้องทำใจ “เพย์เมนต์-โลจิสติกส์” ปัญหาคลี่คลาย-โมบายหนุนตลาดโต แต่ต่างชาติกวาดมาร์เก็ตแชร์เรียบ สรรพากรเร่งเข็นกฎหมายรีดภาษี

แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่เป็น อันดับ 2 ในจีน อย่าง JD.com กำลังเจรจาเป็นพันธมิตรกับเซ็นทรัลกรุ๊ปเพื่อร่วมกันทำตลาดในไทย หลังกลางปีที่ผ่านมา ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ JD.com ประกาศชัดว่า จะรุกตลาดไทยและให้ไทยเป็นศูนย์กลางการให้บริการในอาเซียน ฟากคู่แข่งสำคัญอย่างอาลีบาบา กรุ๊ป อีคอมเมิร์ซอันดับ 1 ในจีน เพิ่งเพิ่มการลงทุนใน “ลาซาด้า” ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ใน อาเซียน ซึ่งรวมถึงในไทย อีกกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐ ขยับหุ้นจาก 51% เป็น 83% ขณะที่มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซไทยปีที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) ประเมินว่าสูงเกิน 2.5 ล้านล้านบาท โต 12.42%

ลาซาด้าไม่หวั่น-เร่งตลาดโต

นาย ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านกลยุทธ์และความสัมพันธ์ภาครัฐ บริษัท ลาซาด้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเข้ามาลงทุนของอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ต่างชาติเป็นเรื่องดี มีผู้เล่นหลายรายยิ่งทำให้เปิดตลาดให้เติบโตได้เร็ว การแข่งขันที่สำคัญคือการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าว่าใครจะทำได้ดี กว่ากันเพื่อชิงมาร์เก็ตแชร์

“ตอนนี้เราเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด และยังลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นกำไรสำหรับลูกค้าและคู่ค้าของเรา เพราะอีคอมเมิร์ซในไทยยังเป็นตลาดที่น่าลงทุนที่สุด”

ปัจจุบันลาซา ด้ามีผู้เข้าชมเว็บไซต์เพิ่มขึ้นจากปีก่อนกว่าเท่าตัว หากแยกเป็น Unique IP กว่า 25 ล้านราย เมื่อเทียบกับประชากรกว่า 60 ล้านคน จึงยังมีโอกาสโตได้อีกมาก และสัดส่วนของอีคอมเมิร์ซยังอยู่แค่ 1.5% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมด ขณะที่ประเทศที่อีคอมเมิร์ซเติบโตมาก ๆ อยู่ที่ระดับ 10%

11 สตรีท ตั้งเป้าขาย 3 พันล้าน

ด้าน นายยุน ชาง ซอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายขาย อีเลฟเว่นสตรีท ประเทศไทย กล่าวว่า การใช้โมบายซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทย 6-7 ปีจากนี้จะยิ่งโตเร็ว จากปกติที่โตมากกว่า 20% ต่อปี

“การเข้ามาของอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ จะยิ่งทำให้ตลาดรวมโต และผู้เล่นแต่ละรายสามารถเติบโตไปได้พร้อม ๆ กัน ซึ่งบริษัทเน้นพัฒนาการช็อปออนไลน์ผ่านโมบายให้สะดวกขึ้นอีกทั้งฝั่งผู้ซื้อ และผู้ขาย และเน้นกลยุทธ์การทำโปรโมชั่นเพื่อเพิ่มลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละแคมเปญเพิ่มยอดขายได้ 20-30%” สิ้นปีตั้งเป้ายอดขาย 3,000 ล้านบาท ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อีเลฟเว่นสตรีทโตเร็ว เป้าหมายได้รับการตอบรับอย่างดี ก้าวเป็นเบอร์ 2 ในตลาด มีสมาชิกกว่า 5.8 แสนราย สิ้นปีตั้งเป้า 1 ล้านราย ส่วนงบการตลาดที่ตั้งไว้ต้นปี 1,000 ล้านบาท ขณะนี้กำลังพิจารณารายละเอียด ส่วนเป้าหมายจะครองมาร์เก็ตแชร์ 40% ภายใน 4 ปี และคืนทุนใน 5 ปี ยังต้องลุ้นหลังเพิ่งเปิดบริการไม่ถึงปี

“การทำตลาดในไทยมีความยากใน หลายส่วน เช่น การติดต่อกับหน่วยงานรัฐ การขอใบอนุญาตใช้เวลานาน แต่จะไม่ถอนตัวแน่นอน เพราะไทยยังมีโอกาสเติบโตมาก แต่กำลังหาพันธมิตรร่วมลงทุนขยายตลาดไทยให้ดีขึ้น จากเดิมเป็นเกาหลีใต้ 100%”

SMEs-ไทยต้องเร่งปรับตัว

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้เล่นรายใหญ่ต่างประเทศสนใจไทย เพราะการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต สมาร์ทโฟน ทำให้อีคอมเมิร์ซโตขึ้น ขณะที่อุปสรรคสำคัญอย่างระบบการชำระเงินและระบบการขนส่งถูกแก้ไขให้ดีขึ้น เรื่อย ๆ คาดว่าปีนี้น่าจะโต 25% เฉพาะโซเชียลคอมเมิร์ซอาจถึง 30% แต่กลับมีผู้ให้บริการไทยเหลือเพียงไม่กี่ราย

“ตลาดไทยจะกลายเป็นเกม ของเจ้าใหญ่ระดับโลก อย่าง อาลีบาบา อเมซอน หรือ JD.com ที่กำลังจะมา แต่ละรายทุ่มเงินทำตลาดกันอย่างรุนแรง แบบจะฆ่าอีกฝ่ายให้ตาย ในภาวะนี้ผู้ประกอบการไทยจะอยู่ได้ต้องปรับตัวให้เป็นนิชมาร์เก็ต เป็นสตาร์ตอัพ พวกอีมาร์เก็ตเพลสใหญ่ ๆ คงไม่เหลือ ถ้าจะมีคือกลุ่มค้าปลีกที่มาทำออนไลน์ อย่างเซ็นทรัลกรุ๊ปที่จะจับมือกับ JD.com แต่ถ้าอเมซอนบุกเต็มตัว มองยาว ๆ ไปอีก 10 ปีก็ไม่แน่ เราอาจจะได้เห็นตลาดอีคอมเมิร์ซเป็นของต่างชาติทั้งหมด”

ในแง่ของผู้ บริโภคจะได้เปรียบ เพราะราคาสินค้าถูกลง จากการตัดผู้ค้าคนกลางโดยสิ้นเชิง ผู้ผลิตจากจีนจะส่งตรงสินค้าถึงมือผู้บริโภคผ่านแพลตฟอร์มอย่างลาซาด้าได้ เลย SMEs ที่เคยเป็นพ่อค้าคนกลาง นำสินค้าจากจีนมาขายจะตายเรียบ จึงต้องเร่งปรับตัว ผันตัวเองเป็นผู้ผลิตสินค้า หรือเป็นพ่อค้าคนกลางในกลุ่มสินค้าที่กลุ่มผู้ผลิตจากจีนเข้ามาไม่ได้

ในแง่ของตลาดดอตคอม ที่เป็นประธานกรรมการบริษัทอยู่ด้วยนั้น นายภาวุธกล่าวว่า จะประกาศปรับบิสซิเนสโมเดลใหม่ในเดือนหน้า เพราะบริษัทไทยจะไม่สามารถอยู่ได้ถ้าไม่มีการปรับตัว

“ปัจจุบันตลาด ดอตคอมมีผู้ค้ากว่า 2 แสนราย โมเดลใหม่จะเข้าไปช่วยร้านค้าได้ดีขึ้น เพราะโลกการค้าเปลี่ยนไปเยอะมาก ในแง่ยอดขายลดลงเพราะไม่ได้โฟกัสที่มาร์เก็ตเพลสแล้ว ไม่ทุ่มแคมเปญดึงลูกค้าให้มาซื้อ เพราะยิ่งขายได้ยิ่งขาดทุน แล้วเราไม่มีพี่ใหญ่เงินถุงเงินถังอย่างราคูเท็นซัพพอร์ตแล้ว”

วีเลิฟช้อปปิ้งผนึก CP สู้ทั้งเครือ

นางสาว ดรุณพร จิรกิจอนุสรณ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท แอสเซนด์ คอมเมิร์ซ จำกัด ผู้ให้บริการอีมาร์เก็ตเพลส “วีเลิฟช้อปปิ้ง” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อีคอมเมิร์ซไทยแข่งขันสูงมาก แนวทางของวีเลิฟช้อปปิ้งตอนนี้ เน้นการทำงานร่วมกันภายในกรุ๊ป คือ ทรูคอร์ปอเรชั่น และเครือ ซี.พี.โดยกำลังวางโครงสร้างใหม่ วางกลยุทธ์ใหม่

“จำเป็นต้องใช้ทั้ง เซอร์วิสและโปรดักต์ของทั้งเครือเพื่อนำเสนอให้กับผู้บริโภค อาทิ ร่วมกับแคมเปญทรูยู ของกรุ๊ปให้มากขึ้น ทั้งกลุ่มพาร์ตเนอร์ออฟไลน์และออนไลน์ นำเซอร์วิสมาบันเดิ้ลกับโปรดักต์ ปีนี้จะผลักดันอีมาร์เก็ตเพลสในเครือมากขึ้นผ่านวีเลิฟช้อปปิ้ง และขยายฐานลูกค้าจากตรงนั้น”

ปัจจุบันคู่ค้าในวีเลิฟช้อปปิ้งมีราว 3 แสนราย ที่แอ็กทีฟจะอยู่ราวหลักหมื่นกว่าราย ส่วนจำนวนผู้เข้าชมเว็บราว 8 ล้านรายต่อเดือน เพิ่มจากปีที่แล้วไม่มากนัก เนื่องจากในช่วงปีที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนกลยุทธ์ที่จะไม่เน้นการแข่งขัน แบบเดิม ๆ อีกแล้ว แต่จะหาจุดแตกต่าง ซึ่งคาดว่าต้นปีหน้ากลยุทธ์ใหม่โครงสร้างใหม่จะเห็นภาพชัดเจน

“จะเน้นการทำไดเร็กต์มาร์เก็ตติ้งลงไปที่กลุ่มลูกค้าโดยตรง ให้ตรงกับกลุ่มเฉพาะที่เหมาะสม คงไม่เน้นการทุ่มในส่วนของพรีเซ็นเตอร์แบบคู่แข่งที่ตอนนี้ทุ่มกันแรงมาก เพื่อสร้างแบรนด์ เพราะวีเลิฟช้อปปิ้งผ่านช่วงเวลานั้นมาแล้ว มีคนจดจำแบรนด์ได้มากแล้ว ส่วนการจะขยายไปตลาดต่างประเทศก็กำลังวางแผนอยู่ แต่ไม่ใช่เร็ว ๆ นี้ โดยเน้นที่การผนึกกำลังในเครือไปด้วยกันกับ ซี.พี.มากกว่า”

รายเล็กไม่สู้-ขออยู่ในร่มยักษ์

ด้าน นายณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอลเอ็นดับเบิ้ลยูช็อป จำกัด ผู้ให้บริการ “เทพช้อป” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ผู้เล่นรายใหญ่เข้ามาในตลาดมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภครวมถึง SMEs ตื่นตัวกับการซื้อขายออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะมีช่องว่างที่ SMEs รายเล็กมาก ๆ อยากขายออนไลน์แต่ไม่มีทุนมากพอหรือมีสินค้าเฉพาะกลุ่ม ต้องการพื้นที่ของตัวเอง ซึ่งจะเป็นโอกาสของเทพช้อป

“กลุ่ม OTOP หรือกลุ่มที่อยากสร้างแบรนด์ของตัวเอง สร้างร้านค้าในชื่อของตัวเอง สร้างเว็บของตัวเอง เทพช้อปตอบโจทย์ได้ เพราะถ้าเขาจะไปขายบนลาซาด้าหรือเจ้าใหญ่ ๆ จะไม่สามารถมีเว็บของตัวเองได้ ฝั่งลูกค้าเองก็รับรู้ว่าสินค้าในแนวนี้ซื้อได้ที่เรา เทพช้อปจึงยังมีที่ยืนในตลาด”

ปัจจุบันมีร้านค้าในระบบ 5.2 แสนราย เพิ่มขึ้นเดือนละหมื่นร้านค้า ส่วนร้านค้าที่แอ็กทีฟมีราว 8 หมื่นร้านค้า เกือบทั้งหมดเป็นร้านของผู้ค้ารายย่อย ส่วนจำนวนผู้เข้าชมมีราว 1.5 ล้านต่อวัน ปีที่แล้วมียอดขายรวม 1,900 ล้านบาท

“อีคอมเมิร์ซราย ใหญ่ทุ่มเงินกันเต็มที่ จุดยืนเทพช้อปคือไม่สู้ แต่จะเชื่อมต่อระบบร้านค้าให้ผู้ค้าของเทพช้อปเชื่อมไปกับแพลตฟอร์มรายใหญ่ เพื่อให้ผู้ค้าจัดการสินค้าได้เบ็ดเสร็จในจุดเดียวไม่ต้องอัพเดตทุก เว็บ เชื่อมระบบกับอีเลฟเว่นสตรีทแล้ว จะเชื่อมกับลาซาด้า และเริ่มคุยกับทางช้อปปี้แล้ว เทพช้อปกลายเป็นระบบจัดการร้านค้าออนไลน์ โดยที่เจ้าของมีหน้าร้านของตัวเองได้ด้วยคู่ไปกับการกระจายสินค้าขายบน แพลตฟอร์มใหญ่ ยอดขายดีขึ้นด้วย”

สรรพากรเข็น กม.รีดภาษี

นาย ประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า จากที่กรมสรรพากรได้ยกร่างพระราชบัญญัติเพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจัดเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ โดยได้เปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นในช่วงที่ผ่านมาปรากฏว่า มีผู้แสดงความเห็นเข้ามาอย่างหลากหลายมาก ทำให้กรมสรรพากรต้องใช้เวลาในการตอบความเห็นเหล่านั้นค่อนข้างมาก แนวทางก็ยังเดินเหมือนเดิม เพียงแต่ข้อเสนอแนะที่ทำให้ดีขึ้นจะทำให้เราปิดช่องว่างได้ เราก็จะนำมาปรับปรุงร่างกฎหมายให้ดีขึ้นด้วย โดยจะพยายามเร่งให้เสร็จโดยเร็วที่สุด คาดว่าคงเสร็จไม่ทันเดือน ก.ย.นี้” นายประสงค์กล่าว

ทั้งนี้ การที่ผู้ขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียบางราย ไม่ว่าจะเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ไลน์ ปัจจุบันมีมูลค่าซื้อขายราว 3 ล้านบาทต่อปี ไม่ยอมเข้าสู่ระบบภาษีให้ถูกต้องนั้น นายประสงค์กล่าวว่า ปัจจุบันกรมสรรพากรมีการปรับปรุงกฎหมายมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากร โดยหากพบว่าผู้ใดมีเจตนาเลี่ยงภาษี ก็จะต้องถูกดำเนินคดีอาญา มีโทษจำคุกด้วย แต่ถ้าเข้าระบบจะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องการถูกปรับ และการถูกดำเนินคดีอาญา


สำหรับการตรวจสอบผู้ขายของออนไลน์ที่ยังไม่ เข้าสู่ระบบภาษีให้ถูกต้องนั้น อธิบดีกรมสรรพากรกล่าวว่า ทางกรมสรรพากรมีการตรวจสอบอยู่แล้วในปัจจุบัน โดยมีการออกหนังสือแจ้งให้เข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้องนับพันรายแล้ว ซึ่งก็ทำให้กรมสรรพากรเก็บรายได้ได้เพิ่มขึ้น