ดับฝัน 3.1 แสนล้าน “ทีโอที”ย้อนมหากาพย์ คดี “Access Charge” ปมสัมปทานมือถือ”ดีแทค-ทรูมูฟ-ดีพีซี”

31 พ.ค. 2562 ถือเป็นอีกวันประวัติศาสตร์ของวงการโทรคมนาคม เมื่อ “ศาลปกครอง” มีคำพิพากษาในคดีพิพาทที่มีมูลค่าสูงที่สุดของวงการนี้ 310,720 ล้านบาท (สามแสนหนึ่งหมื่นเจ็ดร้อยยี่สิบล้านบาท) และเป็นคดีที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ “สัมปทานมือถือ” ในประเทศไทยยังไม่สิ้นสุด

โดยมีคู่พิพาทคือ “ทีโอที” ที่ยื่นฟ้อง บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) และคู่สัมปทานของ “แคท”ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น “ดีแทค” บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และ บริษัท ดิจิตอลโฟน “ดีพีซี” ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ “เอไอเอส” เพื่อเรียกค่าเชื่อมโยงโครงข่าย “Access Charge” จากคู่กรณีทั้งหมด รวมเป็นเงิน 310,720 ล้านบาท

แต่ศาลปกครองกลางมีคำสั่ง “ยกฟ้อง” นั่นหมายถึง ผู้ถูกฟ้องทั้งหมด “ไม่ต้องจ่าย” 3.1 แสนล้านบาทให้ “ทีโอที”

เปิดต้นเหตุปมปัญหา

หากจะย้อนกลับไปสู่ต้นเหตุของปัญหานี้  ต้องกลับสู่ยุคที่ “ทีโอที” ยังคงมีสถานะเป็น “องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย” และ “แคท” ยังมีสถานะเป็น “การสื่อสารแห่งประเทศไทย” โดยองค์การโทรศัพท์ฯ หรือ ทศท. ในขณะนั้นเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์ประจำที่ดูแลโครงข่ายในประเทศ ส่วน “กสท.” หรือ การสื่อสารฯ เป็นผู้ให้บริการโครงข่ายระหว่างประเทศ

จนกระทั่ง เมื่อเทคโนโลยีทำให้เกิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” พาย้อนอดีตสรุปที่มาปัญหา อ้างอิงตาม “คำฟ้อง” ของทีโอที ซึ่งได้ระบุว่า เมื่อเกิดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ขึ้น  ทางรัฐบาลได้มอบหมายให้ “ทศท.” ดำเนินการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเซลลูล่า 900 และมอบหมายให้ “กสท.” ให้บริการโทรศัพท์วิทยุคมนาคม ระบบ AMPS 800

แต่กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจทั้ง กสท. และ ทศท. ในการอนุญาตให้บุคคลใดเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม  จึงต้องทำเป็น “สัญญาร่วมการงาน”

โดยเมื่อวันที่  27 มี.ค. 2533  “ทศท.” ได้ทำสัญญาร่วมการงานอนุญาตให้ “บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) : เอไอเอส” ดำเนินการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเซลลูล่า 900

และเมื่อ 14 พ.ย. 2533 “กสท.” ได้ทำสัญญาร่วมการงานให้ “บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) : แทค” (ต่อมาคือ ดีแทค)  ดำเนินการให้บริการโทรศัพท์วิทยุคมนาคม ระบบ AMPS 800

20 มิ.ย. 2539 “กสท.” ได้ทำสัญญาร่วมการงานให้ “บริษัท ไวส์เลส คอมมูนิเคชั่นส์ เซอร์วิส จำกัด” (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทรูมูฟ จำกัด) ดำเนินการให้มีบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN (Personal Communication Network) 1800

19 พ.ย. 2539 “กสท.” ได้ทำสัญญาร่วมการงานให้ “บริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (DPC)” ดำเนินการให้มีบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN (Personal Communication Network) 1800

ที่มา “ Access Charge”

ขณะที่การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเซลลูล่า 900 และโทรศัพท์วิทยุคมนาคม ระบบ AMPS 800 มีระบบการคิดค่าบริการที่แตกต่างกัน  โดย กสท. และบริษัทร่วมการงานต้องชำระค่าตอบแทนการเข้าระบบต่อตรงตามข้อบังคับของ ทศท.  จนเมื่อเกิดความต้องการใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่มากขึ้น “กสท.” จึงได้เจรจากับ “ทศท.” ขอปรับการเชื่อมโยงโครงข่ายเป็นการเชื่อมโยงระหว่างชุมสายของ ทศท. กับชุมสายโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยตรง พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนเลขหมายเข้าสู่ระบบ 01  เพื่อความสะดวกในการขยายเลขหมายให้มากขึ้น ทำให้ลูกค้าชำระค่าใช้บริการลดลง

โดยในการประชุมร่วมของ ทศท. และ กสท. เมื่อ 22 ก.ย. 2536  “กสท.”  ยินยอมชดเชยรายได้จากการปรับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เป็นระบบเดียวกันให้ “ทศท.” ในอัตรา 200 บาทต่อเลขหมายต่อเดือน และแบ่งรายได้จากส่วนแบ่งรายได้ประจำปีที่ กสท. ได้รับจากผู้ดำเนินการภายใต้สัญญาอนุญาตของ กสท. ในอัตราร้อยละ 50 ให้แก่ “ทศท.”

ดังนั้น ค่าเชื่อมโยงโครงข่าย (Access Charge) หรือค่า AC จึงหมายถึงการชดเชยผลประโยชน์ตอบแทนในการปรับระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เป็นระบบเดียวกันระหว่าง “กสท.” และ “ทศท.”

โดยเมื่อ 22 ก.พ. 2537 กสท. ทศท. และ “แทค” ได้ร่วมกันทำข้อตกลงเรื่องค่าเชื่อมโยงโครงข่าย ส่วน “ทรูมูฟ” ได้ทำสัญญาเมื่อ  29 พ.ค. 2540 และ  “DPC” ทำสัญญาเมื่อ 8 ก.ย. 2540

มี “กทช.” มี Interconnection Charge

จนกระทั่งมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. องค์การจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543  รวมถึงมีการก่อตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ “กทช.” ขึ้น และมีการออก พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544  มีการให้ใบอนุญาตประกอบกิจการแก่ ทศท. และ กสท. ซึ่งต่อมาได้มีสภาพเป็น “บมจ.ทีโอที” และ “บมจ. กสท โทรคมนาคม” (แคท)

และเมื่อ 18 เม.ย. 2549 ได้มีการออกประกาศ “กทช.” ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549  จึงเป็นที่มาของการชำระค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (Interconnection Charge) หรือ ค่า IC ที่ผู้เชื่อมต่อต้นทางและปลายทางทั้ง 2 ฝ่ายมีหน้าที่ชำระให้แก่กันตามสภาพการใช้งานจริงในอัตราที่สะท้อนต้นทุน (โอเปอรเตอร์ทุกรายใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน)

จึงเป็นที่มาของการส่งหนังสือจาก “ดีแทค-ทรูมูฟ-DPC” ไปยัง “ทีโอที” ระบุว่า บริษัทมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 80 พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ และมีสิทธิเชื่อมต่อโครงข่ายกับทีโอที ตามมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.เดียวกัน และระบุว่า ข้อตกลง 3 ฝ่ายเรื่องค่า AC ที่ทำไว้ก่อนนี้ขัดแย้งต่อกฎหมาย  ทั้ง 3 บริษัทคู่สัญญาร่วมการงานกับ “แคท” จึงจะชำระเฉพาะค่า IC ให้ “ทีโอที” และทำหนังสือแจ้งจะชำระค่า AC ถึงแค่ 17 พ.ย. 2549 เท่านั้น

ยื่นฟ้อง 3.1 แสนล้าน

แต่ “ทีโอที” ปฏิเสธ และยืนยันว่า ทั้ง 3 บริษัท ไม่ใช่ผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมของตนเองตามกฎหมาย จึงต้องยังปฏิบัติตามสัญญา 3 ฝ่ายที่ทำไว้ก่อนหน้านี้ และเรียกให้ทั้งหมดชำระค่า AC แต่ได้รับการปฏิเสธ

สุดท้าย “ทีโอที” จึงได้ยื่นฟ้องทั้ง “แคท” ในฐานะคู่สัญญาร่วมการงาน และ “ดีแทค-ทรูมูฟ-DPC”  เรียกค่า AC พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมด ตั้งแต่ 17 พ.ย. 2549- 4 พ.ค. 2554 ต่อศาลปกครองกลาง เมื่อ 9 พ.ค. 2554

โดย “ทีโอที “ ฟ้องเรียกจาก “ดีแทค” 245,638 ล้านบาท “ทรูมูฟ” 59,628 ล้านบาท และฟ้องเรียกจาก “ดีพีซี” 5,454 ล้านบาท

31 พ.ค. 2562 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” 

แต่ “ทีโอที” มีเวลาอีก 30 วันที่จะยื่นอุทธรณ์ ซึ่งในวงการโทรคมนาคมเชื่อว่า “ทีโอที” จะยื่นอุทธรณ์แน่นอน เพราะมูลค่าข้อมูลพิพาทสูงมาก หากผู้บริหารไม่ยื่นอุทธรณ์ มีโอกาสจะโดนฟ้องฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

จากนี้คงต้องลุ้นกันต่อไปว่า ศาลปกครองสูงสุด จะมีคำสั่งเช่นไรและเมื่อใด