“ลุงสั่งเฮีย” อุ้มเสี่ยด้วยเงินเรา ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัลเอื้อค่ายมือถือ

แม้คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 4/2562 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม จะประกาศออกมาตั้งแต่ 11 เม.ย. 2562 แต่แรงสั่นสะเทือนยังกระเพื่อมไม่หยุด ทั้งการขอ “คืนใบอนุญาต” ของ 7 ช่องทีวีดิจิทัลที่คาดว่าจะทำให้พนักงานตกงานหลักพันคน และการโอดครวญของ 3 ค่ายมือถือว่า “ถูกมัดมือชก” ให้ต้องซื้อคลื่นราคาแพงโดยยังไม่จำเป็น รวมถึงการเปิดเวทีถกประโยชน์-ความเสียหายจากคำสั่งนี้

ล่าสุดคือ “ม.44 อุ้มทีวีดิจิทัล : รัฐเอื้อทุน ประชาชนได้อะไร” จัดโดยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาและคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ดาบกายสิทธิ์ ม.44

“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ถ้าใช้ภาษานิยายให้เข้าใจง่าย ๆ นี่คือ นิยายว่าด้วยเรื่อง “ลุงสั่งเฮีย อุ้มเสี่ยด้วยเงินเรา” ว่าด้วยเรื่องทีวีดิจิทัลถูกดิสรัปต์จนธุรกิจล้ม ผูกกับการเปิด 5G ช้าประเทศจะเสียหาย จึงนำคลื่นทีวีมาให้ฝั่งโทรคมฯใช้แทน จะได้เงินคลื่น 5G มาอุ้มทีวี แล้วจูงใจค่ายมือถือด้วยการยืดหนี้ประมูล 4G โดยใช้ “ดาบกายสิทธิ์ ม.44”

แต่ทำให้เกิดความเสียหายกับประเทศคือ ต่อเงินภาษีของประชาชน ต่อตลาดโทรคมนาคมที่จัดสรรคลื่นแบบ “ซี้ซั้ว เฉพาะหน้า เฉพาะกิจ” และเสียหายต่อระบบ “นิติรัฐ” ของประเทศที่สะเทือนต่อความเชื่อมั่นในการลงทุน

สูญ 3 หมื่นล้าน-คลื่นถูกมาก

ส่วนความเสียหายที่เป็นตัวเงินคือ การต้องใช้เงินกว่า 31,000 ล้านบาทมาอุ้มทีวีดิจิทัล ด้วยการจ่ายชดเชย 7 ช่องที่คืนใบอนุญาตกว่า 3,000 ล้านบาท การยกหนี้เงินประมูลที่เหลือให้อีกกว่า 9,700 ล้านบาท รวมถึงต้องอุดหนุนเงินค่าเช่าโครงข่าย (MUX) อีก 10 ปีกว่า 19,000 ล้านบาท โดยที่ผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุดคือ “ททบ.5” ที่เป็นเจ้าของ MUX ใหญ่ที่สุด

ขณะที่การเลื่อนหนี้ 4G ทำให้แทนที่รัฐจะได้เงินเข้าคลังทั้งหมดในปี 2563 กว่าแสนล้านบาท ต้องมายืดหนี้โดยไม่มีดอกเบี้ย ที่สำคัญกว่าคือทำให้เกิดตรรกะที่ว่า “ต่อไปถ้าเอกชนมีต้นทุนการเงินสูงกว่ารัฐ ให้รัฐเป็นคนกู้เงินให้แล้วเอกชนใช้ฟรี เหมือนที่ค่ายมือถือได้รับ เท่ากับว่า รัฐเข้ามาอุ้มความเสี่ยงทางการเงินของเอกชนหมด ซึ่งผิดหลักการค้าเสรี”

ฟากผู้บริโภคยังเสียโอกาสจากการที่ตลาดบริการ 5G จะไม่มีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามาแข่งขัน การมัดมือชกให้ 3 ค่ายมือถือเข้ารับการจัดสรรคลื่น 700 MHz จะกลายเป็นเอื้อให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายจ่ายเงินแลกกับคลื่นใหม่ได้ในราคาที่ถูกมาก หากเมื่อคำนวณประโยชน์จากการยืดหนี้และค่าคลื่นใหม่ที่ได้แบ่งจ่ายกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน ทรูจะจ่ายเงินค่าคลื่นใหม่เพียง 2,200 ล้านบาท เอไอเอสจ่าย 2,600 ล้านบาท ดีแทค 8,400 ล้านบาท

โยก “รัฐ” ได้ถ้าอิทธิพลมากพอ

ยิ่งถ้าดีแทคไม่เข้ารับคลื่น 700 MHz จะยิ่งกลับไปสู่การออกกติกาที่บิดเบี้ยว ที่กระทบหนักสุด คือ ความเสียหายต่อนิติรัฐ”ต่อไปเวลาประมูลอะไร เท่าไรเท่ากัน เอามาให้ได้ก่อน พอขาดทุนก็มาต่อรองกับรัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อความน่าลงทุน เพราะแสดงให้เห็นว่ารัฐไม่ใช่เสาที่ตั้งอยู่ตรง แต่โยกได้ถ้ามีอิทธิพลมากพอ”ทั้งยังเกิดปรัชญา “รัฐเป็นพ่อรู้ดี” มาแทรกแซงกลไกตลาดไปทุกเรื่อง