กสทช.เดินหน้าบีบค่ายมือถือ ยืนราคา5G 1.7หมื่นล้าน ยื่นซอง19มิ.ย.

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. (แฟ้มภาพ)
“กสทช.” กดปุ่มจัดสรรคลื่น 700 นำร่อง 5G เมินข้อเรียกร้องค่ายมือถือยันไม่ลดราคาคลื่น-ไม่เลื่อนเวลา ขีดเส้นยื่นซองเช้าวันที่ 19 มิ.ย. บ่ายเคาะแจกไลเซนส์ย้ำใบอนุญาตละ 17,584 ล้านบาท พร้อมเดินหน้าลุยเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จาก “อสมท” ก่อนเปิดประมูลแพ็กคู่ 26-28 GHz ปลายปีนี้ 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 700 MHz มีมติไม่เปลี่ยนราคาจัดสรรคลื่น 700 MHz ที่กำหนดไว้ใบอนุญาตละ 17,584 ล้านบาทแม้ว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปัจจุบันจะมีการท้วงติงในเวทีประชาพิจารณ์ เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสม ทั้งยืนยันที่จะไม่เลื่อนวันยื่นซองเพื่อขอเข้ารับการจัดสรรคลื่นจากที่กำหนดไว้ในวันที่ 19 มิ.ย. 2562

“คณะทำงานพิจารณาข้อท้วงติงที่ได้รับจากเวทีประชาพิจารณ์แล้ว เห็นว่าการจะลดราคาจากที่ตั้งไว้เดิม ต้องมีเหตุผลทางวิชาการสนับสนุนเพียงพอ เพื่อให้ตอบคำถามกับสังคมได้ แต่ ณ เวลานี้ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอจึงยืนยันคงราคาเดิมตามที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยมีปรับเปลี่ยนแค่ 2 เรื่อง คือ หากผู้เข้ารับการจัดสรรคลื่นต้องการชุดคลื่นความถี่เดียวกันจะให้มีการเสนอราคาเพิ่ม เพื่อหาผู้มีสิทธิ์ได้ใช้ช่วงคลื่นดังกล่าว ต่างจากเดิมที่กำหนดให้ใช้วิธีจับสลาก”

อีกเรื่องคือในส่วนที่ระบุว่า สำนักงาน กสทช.จะแจ้งวันเริ่มต้นการอนุญาตให้ใช้คลื่นและชำระเงินงวดแรกแต่เดิมระบุว่าจะแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วันให้เปลี่ยนเป็นไม่น้อยกว่า 90 วัน เพื่อให้เวลาผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) เตรียมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน

นายฐากรระบุว่า จะมีการนำร่างประกาศหลักเกณฑ์จัดสรรคลื่นพร้อมแผนการใช้งานคลื่นความถี่ 700 MHz ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาภายในไม่เกินวันที่ 6 มิ.ย.นี้ ก่อนเปิดให้ 3 ค่ายมือถือ ได้แก่ เอไอเอส, ทรู และดีแทค ยื่นขอรับใบอนุญาตได้ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้ในช่วงเช้า และอนุมัติการจัดสรรคลื่นในช่วงบ่ายวันเดียวกัน

“ยังมั่นใจว่า ทั้ง 3 ค่ายจะมายื่นซอง แต่ถ้าไม่มีใครมายื่นก็จะเดินหน้านำคลื่น 700 MHz ออกประมูลโดยเปิดกว้างให้ผู้สนใจทุกรายเข้ามาเคาะเสนอราคาได้ ไม่จำกัดเฉพาะ 3 รายตามเงื่อนไขเดิมที่ระบุในคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562”

นอกจากนี้จะเดินหน้าเรียกคืนคลื่นความถี่ 2600 MHz คืนจาก บมจ.อสมท เพื่อนำมาประมูลพร้อมกับคลื่นย่าน 26 GHz และ 28 GHz ให้ทันปลายปีนี้ โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการลงนามจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ให้วิจัยมูลค่าที่เหมาะสมของคลื่น 2600 MHz

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!