“กม.” ไทยสกัดสตาร์ตอัพโต

ผลสำรวจระบบนิเวศสตาร์ตอัพ ชี้กว่า 45% อยู่ระดับ seed round มีแค่ 24% แตะ series A และ 17% ที่รายได้เกิน 5 แสนต่อเดือน ย้ำรัฐต้องเร่งแก้กฎหมายขจัดอุปสรรคดึงดูดนักลงทุน หลัง 5 ปีวนลูปที่เดิมไม่คืบหน้า

นายพณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (TTSA) เปิดเผยว่า ผลสำรวจ STARTUP ECOSYSTEM SURVEY: THAILAND 2018 พบว่าสตาร์ตอัพไทย 45.58% อยู่ในระดับ seed round 24.19% series A และ 16.74% preseed round เฉลี่ยมีผู้ก่อตั้ง 4 คน อายุเฉลี่ย 33 ปี เป็นชาย 81.64% และหญิง 18.36% เงินทุนเฉลี่ย 5 ล้านบาท 61% มาจากเงินตัวเอง 9% มาจากครอบครัว 9% มาจากนักลงทุน 6% จากโครงการรัฐ

เหตุผลที่มาเป็นสตาร์ตอัพ 37.50% เห็นโอกาสสร้างธุรกิจ 34.13% ต้องการแก้ปัญหาของผู้คน 17.31% มีทักษะอยู่แล้วและอยากขยายเป็นธุรกิจ 23.72% เป็นสตาร์ตอัพ Business/Services Tech 10.70% e-Commerce 7.91% EdTech (การศึกษา)

ทั้งพบกว่า 63.72% สามารถสร้างรายได้ โดย 40% เริ่มสร้างรายได้หลังก่อตั้ง 6 เดือน 59.12% มีรายได้เฉลี่ย 500,000 บาท/เดือน 17.52% มีรายได้เฉลี่ย 500,000-1,000,000 บาท/เดือน

โดย 50% มีรายได้จากจำหน่ายสินค้า 16% ค่าการตลาดหรือคอมมิสชั่น และ 11% รายได้จากค่าธรรมเนียมตัวกลาง 37.22% มีเป้าหมายทำธุรกิจในระยะยาว 29.44% ต้องการ IPO และ 13.89% ต้องการขายกิจการและเปลี่ยนบทบาทเป็นนักลงทุน

สิ่งที่สตาร์ตอัพอยากได้จากรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จและจากภาคเอกชนคือ การสร้างเครือข่าย, การให้ความช่วยเหลือให้ความรู้ด้านเทคโนโลยี ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนแหล่งเงินทุน การร่วมลงทุน, การแก้ไขกฎหมาย หลักเกณฑ์ ข้อบังคับ ในการประกอบธุรกิจ และการเพิ่มมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนทางภาษี

ที่ผ่านมาสตาร์ตอัพ 56.48% เคยเข้าร่วมโครงการหรือมาตรการส่งเสริมของภาครัฐ โดยเหตุผลที่ไม่เคยร่วมโครงการ เพราะไม่ทราบข้อมูล 27.68% ไม่สนใจหรือไม่มีเวลา 26.47% ขณะที่ 61% เคยเข้าร่วมโปรแกรม Incubator ที่ภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น

ดังนั้นแนวทางพัฒนาที่สำคัญของภาครัฐคือ 1.ให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เช่น แก้ไขกฎหมายออกมาตรการดึงดูดผู้ก่อตั้งรวมถึงนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนในประเทศ การรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (ecosystem facilitation) เพื่อให้สตาร์ตอัพมีความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและบริการของภาครัฐ การสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสูง

โดยเฉพาะในกลุ่ม developers และ programmers เนื่องจากบุคลากรในไทยยังสู้ต่างประเทศได้ในแง่คุณภาพและประสบการณ์ไม่ได้ จึงทำให้เป็นที่ต้องการของสตาร์ตอัพ

“ช่วง 5 ปีที่ขอเรื่องกฎหมาย จนไปถึงขั้นกฤษฎีกา แต่สุดท้ายย้อนกลับมาที่เดิม แต่เรื่องเล็ก ๆ ผลักดันได้ ดังนั้นเราหวังว่ารัฐบาลชุดใหม่จะจริงจัง”