“หัวเว่ย” โชว์ศักยภาพ R&D เดินหน้าสร้างนวัตกรรมปั้นคนไอที

ยังเป็นกระแสร้อนต่อเนื่องจากการตกเป็นเป้าสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐอเมริกา ของ “หัวเว่ย” ยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคม จากแดนมังกรที่สยายปีกเจาะตลาดทั่วโลก จนเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายโทรคมนาคมในกว่า 170 ประเทศ เฉพาะสถานีฐาน 5G ก็ติดตั้งทั่วโลกแล้วกว่า 70,000 ชุด

การตกเป็นเป้าโจมตีครั้งนี้ ในอีกแง่หนึ่งก็เป็นเครื่องยืนยันถึง “ศักยภาพ” หัวเว่ย ที่รุกคืบจนทำให้สหรัฐ หวาดระแวงกว่าจะมาถึงจุดนี้ “หัวเว่ย” ทุ่มเทกับ “วิจัยและพัฒนา” นับตั้งแต่ปี 2530 ที่ก่อตั้ง โดยในปี 2561 หัวเว่ย ได้ลงทุน R&D 101.5 พันล้านหยวน (ราว 4.7 แสนล้านบาท) หรือ 14.1% ของรายได้ และ 10 ปีที่ผ่านมา ได้ลงทุนกว่า 480 พันล้านหยวน (2.2 ล้านล้านบาท) ที่สำคัญคือ หัวเว่ย มีนักวิจัยกว่า 80,000 คน หรือ 45% ของพนักงาน และมีศูนย์ R&D 14 แห่งทั่วโลก

เปิดอาณาจักรใหม่ ณ ตงกวน

และเมื่อเร็ว ๆ นี้ หัวเว่ยยังได้เปิดตัว “ซี หลิว เป้ย โพ ชุน” (Xi Liu Bei Po Cun) ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมแห่งใหม่ที่ใหญ่ที่สุดของหัวเว่ย ณ เมืองตงกวน (Dong Guan) ประเทศจีน โดยเป็นแห่งที่ 8 ในประเทศจีน

สำหรับ “ซี หลิว เป้ย โพ ชุน” ณ เมืองตงกวน หัวเว่ยทุ่มเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านหยวน เนรมิตพื้นที่กว่า 9 ตารางกิโลเมตร ให้เป็น R&D center ที่มีระบบนิเวศเอื้อต่อการวิจัยและพัฒนา กระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ พร้อมดึงดูดนักพัฒนาฝีมือดีจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานด้วย

โดยอาณาจักรหัวเว่ยแห่งนี้ แบ่งเป็น 4 ส่วน 12 บล็อก มีอาคาร 108 หลัง ทั้งหมดออกแบบสไตล์ยุโรป ชนิดที่เรียกว่า ยกเมืองใหญ่ชื่อดังในยุโรปมาจำลองไว้ที่นี่ 12 เมือง อาทิ เมืองกรานาดา (สเปน) ปารีส (ฝรั่งเศส) โดยมีรถรางอำนวยความสะดวกในการเดินทางภายในศูนย์ และมีครบทั้งส่วนของสำนักงาน ร้านสะดวกซื้อ ฟิตเนส ฯลฯ

รองรับนักวิจัย 2.5 หมื่นคน

เบื้องต้นศูนย์วิจัยนี้แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส เฟสที่ 1 ใช้เวลา 3 ปี ปัจจุบันมีดีเวลอปเปอร์กว่า 10,000 คน ส่วนเฟส 2 จะแล้วเสร็จในสิ้นปี 2020 คาดว่าจะมีนักวิจัยรวมทั้งหมด 25,000 คน

อย่างไรก็ตาม ศูนย์ดังกล่าวไม่เปิดให้บุคคลภายนอกเข้าชม แต่พนักงานสามารถนำเพื่อนและคนในครอบครัวมาเข้าชมพื้นที่ในช่วงวันหยุดได้ การสร้างศูนย์แห่งนี้ เนื่องจากศูนย์ R&D สาขาเสิ่นเจิ้น ที่เป็น headquarter ขยายพื้นที่ไม่ได้แล้ว ขณะที่เมืองตงกวน ใช้เวลาเดินทางจากเสิ่นเจิ้นราว 1 ชั่วโมง และอีก 2 ปีจะมีรถไฟใต้ดินจากเสิ่นเจิ้นถึงตงกวน

สร้าง “คน” กลยุทธ์สำคัญ

และนอกจากการสร้างอาณาจักรเพื่อกระตุ้นพลังสร้างสรรค์แล้ว หัวเว่ยยังให้ความสำคัญกับ “คน” ทั้งการพัฒนาและสร้างคน ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่พนักงาน แต่ยังเปิดพื้นที่สำหรับ “คนรุ่นใหม่” เพื่อดึงเข้ามาในระบบนิเวศของหัวเว่ย อาทิ การจัดแข่งขัน “Huawei ICT Competition” ซึ่งปีนี้จัดเป็นครั้งที่ 4 แล้ว จัดภายใต้หัวข้อ “Connection, Glory, Future” โดยเป็นการแข่งขันความสามารถด้านไอซีที ใน 3 ประเภท คือ เน็ตเวิร์ก คลาวด์ และนวัตกรรม เปิดโอกาสให้นักศึกษาสายวิศวกรรมศาสตร์จากทั่วโลกเข้าแข่งขัน ปีนี้มีนักศึกษาเข้าร่วมกว่า 100,000 ราย จาก 1,600 มหาวิทยาลัย ใน 61 ประเทศ

“หม่า เยว่” รองประธานบริหาร ประธานบริหารฝ่ายขายทั่วโลก กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ และประธานของกลุ่มคู่ค้าและพันธมิตรของหัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ กล่าวว่า นี่คือการสร้างระบบนิเวศที่มีคนเก่ง ๆ เป็นรากฐานสำหรับกลยุทธ์ของหัวเว่ย โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ทุ่มเทความพยายามมากมายเพื่อฝึกอบรมคนเก่งด้านไอซีทีด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติสู่ความสำเร็จ โดยได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาทั่วโลก เพื่อร่วมกันบ่มเพาะผู้ที่มีศักยภาพด้านไอซีที

“ภายในปี 2566 หัวเว่ยตั้งเป้าที่จะผลิตบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีทีให้ได้ 700,000 คน เพื่อลดทอนช่องว่างของคนเก่งด้านไอซีที”
สำหรับผลการแข่งขัน Huawei ICT Competition ในปีนี้ รางวัลชนะเลิศการแข่งขันภาคปฏิบัติ (Practice Competition) ประเภท Network Track เป็นของทีมนักศึกษาจากประเทศมาเลเซีย และแอลจีเรีย ประเภท Cloud Track เป็นของทีมจากประเทศเปรู และมหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์เทคโนโลยีกุ้ยหลินของจีน ส่วนการแข่งขันภาคนวัตกรรม (Innovation Practice) เป็นของทีม I”m an Expert ! จากมหาวิทยาลัยส้างไห่เจียวทง

ส่วนประเทศไทยถือเป็นปีแรกที่เข้าแข่งขัน โดยทีมไทยสามารถคว้ารางวัลผลงานดีเด่น (Outstanding Performance Award) และรางวัลผู้สอนยอดเยี่ยม (Excellent Instructor Award)