YDM ผุดฟังก์ชั่นอีคอมเมิร์ซเสริมแกร่งดิจิทัลเอเยนซี่

YDM ผุดโมเดล “Revenue Sharing” เขย่าตลาดดิจิทัลเอเยนซี่ เจาะ SMEs ชูจุดเด่น “ลดเสี่ยง-เพิ่มยอด” พร้อมเสริมฟังก์ชั่นอีคอมเมิร์ซให้ลูกค้าด้วย 2 แพลตฟอร์ม Buyzabuy และ Sellzabuy หวังรายได้โต 50% ปูทางเข้าตลาดหลักทรัพย์

นายธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายดีเอ็ม ไทยแลนด์ จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดดิจิทัลเอเยนซี่แข่งขันสูง ขณะที่ผู้ประกอบการและแบรนด์ต่าง ๆ ต้องการจะใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อทำตลาดที่ตอบสนองกับความเปลี่ยนแปลงของลูกค้าฝั่งผู้บริโภคยังคาดหวังกับแบรนด์สูงว่าจะสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ได้ บริการลูกค้าได้อย่างไร้รอยต่อทั้งออนไลน์-ออฟไลน์ และตอบสนองอย่างรวดเร็ว รวมถึงต้องการสินค้าที่แปลกใหม่แต่น่าเชื่อถือดังนั้น แต่ละแบรนด์ต้องสร้างการปฏิสัมพันธ์กับคอนเทนต์ การวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกไม่ใช่แค่การซื้อขาย วางกลยุทธ์ด้านการตลาดที่ให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง สร้างกระบวนการทำงานที่กระชับมีแพลตฟอร์มและระบบอัตโตมัติ ทำงานร่วมกันเป็นหนึ่งเดียวทุกช่องทาง

ขณะเดียวกัน YDM ยังได้สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ที่จะเข้ามาช่วยลดความเสี่ยงในการทำดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งให้กับลูกค้า ด้วยการคิดค่าบริการจากยอดขายของสินค้าหรือบริการ ที่เกิดขึ้นหลังทำแคมเปญร่วมกัน หรือ “Revenue Sharing” ต่างจากเดิมที่จะคิดค่าบริการเป็นรายแคมเปญ โดยไม่ได้นำผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการทำการตลาดมาประเมิน ซึ่งเป็นครั้งแรกในวงการดิจิทัลเอเยนซี่ของไทยที่คิดค่าบริการในรูปแบบนี้ แต่ในหลายประเทศเริ่มใช้แล้ว

โดย YDM ใช้ความได้เปรียบจากการมี 9 บริษัทลูกที่เป็นเครือข่ายของอีโคซิสเต็มในวงการมีเดีย ทั้ง Adyim ที่ดูแลเรื่อง Digital Marketing Solution, Alternate65 เจ้าของ REVU แพลตฟอร์มดูแลการรีวิวผ่าน Micro Influencer, Jamjaras ที่ดูแล Influencer ในพื้นที่ต่างจังหวัด และ FCB Bangkok กับ Navin Consultant ที่ดูแลงานครีเอทีฟ และล่าสุดได้พัฒนา 2 แพลตฟอร์มใหม่คือ Buyzabuy และ Sellzabuy สำหรับเป็นพื้นที่ประกาศขายสินค้า ที่สะดวกในการให้อินฟลูเอนเซอร์ นำลิงก์ สินค้าไปโพสต์ต่อในช่องทางโซเชียลมีเดียส่วนตัวได้ โดยตั้งเป้าสิ้นปีมีสินค้า 100 รายการในแพลตฟอร์ม


ขณะที่สิ้นปีนี้ตั้งเป้ารายได้ของ YDM ไว้ 850 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% จากปีก่อน ทั้งยังเตรียมเปิดบริษัทในเครือเพิ่มเป็นแห่งที่ 1 โดยจะทำธุรกิจด้านดาต้าที่จะช่วยองค์กรทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม พร้อมเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2564