CREA หนุนแบรนด์โกออนไลน์เจาะตลาดหมื่นล้าน US

อดีตผู้ก่อตั้งลาซาด้าผุดธุรกิจที่ปรึกษาแบรนด์บุกตลาดออนไลน์ เน้นอุตสาหกรรมความงามและสุขภาพ ตั้งเป้า 1-2 ปีขยายระดับภูมิภาค

นายไอโมเน ริพา ดิมีอานา ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เครีย (CREA) อดีตผู้ก่อตั้งลาซาด้า เปิดเผยว่า ธุรกิจออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีแนวโน้มการเติบโตมาก ใน 4 ด้าน คือ อีคอมเมิร์ซ ออนไลน์แทรเวล ออนไลน์มีเดีย และบริการร่วมเดินทาง ที่ในปี 2561 มีมูลค่ารวมกันถึง 7.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2568 จะสูงถึง 2.4 แสนล้านเหรียญ หรือ 8% ของ GDP ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซและออนไลน์มีเดียแค่ 2 กลุ่มรวมกันมีมูลค่าสูงถึง 120 ล้านเหรียญ

สำหรับประเทศไทย แม้ว่าตลาดออนไลน์ยังเป็นช่วงเริ่มต้น แต่ปีที่แล้ว มีมูลค่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย ทั้งที่มีแค่ 60 ล้านคน ขณะที่อินโดนีเซียมี 200 ล้านคน และคาดว่าจะมีมูลค่าถึง 4.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2568

ปัจจุบันตลาดออนไลน์ของประเทศไทยคิดเป็น 8% ของการใช้จ่ายออฟไลน์ ขณะที่จีนคิดเป็น 25% จึงยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก ทั้งยอดขายสินค้าผ่านโซเชียลมีเดียของไทยยังคิดเป็น 30-35% ของยอดขายออนไลน์ทั้งหมดและไทยเป็นที่ 1 ในการใช้จ่ายผ่านโซเชียลมีเดียในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการใช้งานโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มรวมกว่า 50 ล้านคน มากกว่าครึ่งของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเคยซื้อของผ่านโซเชียลมีเดีย

“7-8 ปีที่แล้ว การทำอีคอมเมิร์ซในไทยคิดแค่ 3 สิ่ง 1.ทำยังไงให้ของขึ้นหน้าเว็บ 2.ทำยังไงให้ของถึงลูกค้า 3.เก็บเงินลูกค้ายังไง แต่ตอนนี้ทั้งร้านค้าและผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก อีคอมเมิร์ซก็ต้องเปลี่ยน เช่น มีแชต, ไลฟ์สตรีมมิ่ง และมีเทรนด์ใหม่ ๆ เช่น โซเชียลคอมเมิร์ซเข้ามา”

เทรนด์เริ่มเปลี่ยนจาก C2C เป็น B2C โดยในปี 2554 สัดส่วน B2B มีเพียง 45% แต่ปี 2560 มีสัดส่วนถึง 64% และคาดว่าปี 2561 จะเพิ่มเป็น 68% ปัจจัยมาจากผู้บริโภคเริ่มติดต่อแบรนด์โดยตรง เพราะเชื่อมั่นว่าเป็นของแท้ ส่งผลให้แบรนด์เปิดเพจบนโซเชียลมากขึ้น บริษัทจึงเห็นโอกาสก่อตั้ง “เครีย” องค์กรอิสระให้บริการดิจิทัลคอมเมิร์ซ เพื่อสร้างโอกาสในการทำตลาดออนไลน์เบื้องต้นเน้นทำธุรกิจในไทยในอุตสาหกรรมความงามและเครื่องสำอาง

เนื่องจากมูลค่าตลาดสูงถึง 5.5 พันล้านเหรียญ โต 7-8% ต่อปี และสินค้ากลุ่มนี้ยังมียอดขายผ่านโซเชียลมากกว่าแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ขณะที่คนไทยใช้จ่ายกับสินค้าด้านความงามถึง 1.2% ของยอดใช้จ่าย สูงเป็น 2 เท่าของเกาหลีมี 6 บริการ ได้แก่ 1.การสร้างแบรนด์ออนไลน์

2.ให้ความรู้เชิงลึกและการทำงานในระบบต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ลาซาด้า ช้อปปี้

3.โซเชียลคอมเมิร์ซ 4.แบรนดิ้งครีเอทีฟ โดยการสร้างคอนเทนต์ที่น่าสนใจบนออนไลน์

5.ให้ข้อมูลเชิงลึกด้านสถิติของทุกแชนเนล แบรนด์ และคู่แข่ง เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ เพื่อให้ทำการตลาดออนไลน์ และ 6.คำนวณความคุ้มค่าเงินที่ใช้ในการตลาดแต่ละช่องทางว่าควรได้ return of investment (ROI) อย่างไร โดยบิสซิเนสโมเดลใช้รูปแบบแบ่งรายได้จากการเติบโตของแบรนด์

“เราไม่ใช่มีเดียเอเยนซี่ สิ่งที่แตกต่างคือ ไม่ได้แค่ซื้อมีเดีย แต่จะดูแบรนด์ในภาพรวมว่าจะโตในส่วนแพลตฟอร์มอย่างไร เจาะตลาดโซเชียลคอมเมิร์ซได้อย่างไร เป็นบริษัทที่ปรึกษามากกว่า นอกจากนี้ยังมีข้อมูลออนไลน์มากกว่าที่อื่น รวมทั้งประสบการณ์ที่เหนือกว่า เพราะเป็นผู้บุกเบิกในอีคอมเมิร์ซจึงเห็นว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว โดยเฉพาะคนมิลเลนเนียลและเจน Z ซึ่งแบรนด์ก็เห็น แต่ไม่รู้จะทำยังไง เราจะเข้ามาช่วย”

บริษัทได้รับเงินลงทุนจาก 4 กองทุนจากอเมริกาและยุโรป เช่น Angel Capital Management, Picus Capital และ Founders Fund Pathfinder ปัจจุบันมีพนักงาน 15 คน มีเป้าหมายขยายตลาดไปยังประเทศอื่นในภูมิภาคใน1-2 ปี