ต้นตำรับ “SIGMA” ดันดิจิทัลไทยแลนด์

สัมภาษณ์

นับเป็นรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) คนแรก “พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่คนตั้งแต่สมัยเป็นกระทรวงไอซีที ที่อยู่ในตำแหน่งเกิน 2 ปี และทุกครั้งเมื่อมีโอกาสจะหยิบยก SIGMA มาอธิบายเสมอ

Q : ทำไมต้อง SIGMA

เมื่อจะเป็น ดิจิทัลไทยแลนด์ “SIGMA” จึงเป็นหลักสำคัญ ทั้ง security infrastructure government manpower และ application เพื่อให้ทั่วถึงยั่งยืน

Q : งานที่ภาคภูมิใจที่สุด

ชุดกฎหมายดิจิทัล แม้ถูกวิจารณ์มากที่สุด แต่คือ การสร้างความเชื่อมั่น ซึ่งกับต่างประเทศได้ผลทันที ส่วนกระแสต่าง ๆ เกิดจากความไม่เข้าใจ ก็เป็นหน้าที่ต้องสร้างความเข้าใจ ต้องมีการรับฟังข้อห่วงใย และเราก็ไม่ได้ดื้อด้านได้แก้ไขให้หมด ซึ่งสังคมก็เข้าใจว่า เราทำเพื่อคุ้มครองสังคมอีกงานคือสมาร์ทซิตี้ เป็นงานที่จับต้องได้ และเป็นกลไกที่ทำให้ความเจริญของเมืองขยายได้เร็ว ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีกำชับว่า ไม่ใช่แค่สมาร์ท แต่ต้องน่าอยู่

ซึ่งภูเก็ต ตอบโจทย์ได้ก้าวหน้ามาก สามารถขยายผลด้วยการดึงเอกชนเข้ามาร่วมขับเคลื่อนด้วยเงินลงทุนของเอกชนเอง ซึ่งไม่ง่ายเกิดมีบริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง และยังมีในรูปแบบเดียวกันนี้อีก 17 จังหวัดและเน็ตประชารัฐ ที่ตอบโจทย์การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งได้วางแนวทางที่จะทำให้ประโยชน์ได้ขยายออกอย่างกว้างขวาง ทั้งการโอเพ่นแอ็กเซสที่เปิดโครงข่ายให้โอเปอเรเตอร์อื่น ๆ เข้ามาเชื่อมต่อได้ การมีเน็ตอาสาประชารัฐที่จะสร้างคนจากล้านคนให้เป็นเจ็ดสิบล้านคนที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ เพราะยุทธศาสตร์ชาติทั้งหลายจะขับเคลื่อนไม่ได้ หากประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์จากดิจิทัลได้ ต่อให้มี 5G ก็จะใช้ได้แค่โทร.เข้าโทร.ออก ที่สำคัญคือเชื่อว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานในชุมชน คนรุ่นใหม่ไม่ต้องเข้ามาทำงานในเมือง แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ลดความแออัดของเมือง คนอยู่ดีขึ้น

Q : งานที่หนักใจสุด

การสร้างความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่จะทำให้งานสำเร็จ ก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำงาน แต่ที่หนักใจสุด คือ กำลังคน ไม่ใช่เฉพาะในกระทรวง แต่ทั้งประเทศเพราะต่อให้โครงสร้างพื้นฐานดี ยุทธศาสตร์ดี ไม่มีคนมีคุณภาพตรงกับความต้องการจริง ๆ ก็ขับเคลื่อนไม่ได้อย่างเรื่องคน ได้เข้าไปช่วย EEC ที่ต้องการกำลังคนอีก 1.5 แสนคน โดยการดึงเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญสร้างโมเดลปั้นคนให้ตรงกับความต้องการ คือ เข้าไปดูภาพให้ชัดว่า คนส่วนไหนที่ขาด ไม่ใช่สร้างหว่านแบบเดิม แล้วกำหนดให้ชัดว่า คุณสมบัติคนที่ต้องการคืออะไร นำหลักสูตรที่เอกชนมีเข้ามาสอนเพื่อให้สอบใบรับรองได้ เป็นการการันตีว่า เรียนจบ มีงานทันที

Q : งานที่เสียดายยังไม่ได้ทำ

คิดว่าทำหมดแล้ว เพียงแต่ให้เสร็จครบหมดทุกอย่าง ต้องขึ้นกับสถานการณ์ด้วย ตอนนี้อยู่ในจุดที่น่าจะขับเคลื่อนต่อไปได้ อย่างเรื่องควบรวมทีโอทีกับแคท ส่วนชิ้นสุดท้ายที่เร่งปั่นอยู่ คือ การทำ OSS (government one stop services) ซึ่งกำลังออกแบบระบบสถาปัตยกรรมอยู่ในสภาพที่น่าพอใจแล้ว ส่วนการขับเคลื่อนคงต้องเป็นรัฐบาลหน้า

Q : ไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาเก่า

ก็มีความคืบหน้านะ อย่างเรื่องดาวเทียมไทยคม ก็มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า เมื่อหมดสัมปทานแล้วก็จะเป็น PPP และในส่วนที่ไทยคมร้องเรียนเรื่องการเข้ามาของดาวเทียมต่างชาติอย่างผิดกฎหมาย ก็มีออกกฎแลนดิ้งไลต์ให้ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ส่วนข้อพิพาทเรื่องสถานะดาวเทียมไทยคมว่าเป็นสัมปทานหรือไม่ ก็ต้องรออนุญาโตตุลาการ เพราะเป็นกระบวนการที่รองรับอยู่ ฉะนั้น ดาวเทียมก็เป็นเรื่องไม่คาค้าง

Q : ฝากรัฐบาลใหม่

ไม่ขออะไรมาก แค่ให้สิ่งต่าง ๆ ที่ได้เริ่มทำไว้แล้ว ได้ทำอย่างต่อเนื่อง

Q : จะมาเป็นรัฐมนตรีอีกไหม

แล้วแต่ท่านนายกฯ