“กสทช.” แจงยิบวิธีการจัดสรรคลื่น 700 โอเปอเรเตอร์อุบเงียบ เข้า-ไม่เข้า

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยในการประชุมชี้แจงวิธีการขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 703-733/758-788 เมกะเฮิรตซ์ ว่า คลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ จะมีการจัดสรร จำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ10 เมกะเฮิรตซ์ รวม 30 เมกะเฮิรตซ์ ราคาใบอนุญาตละ 17,584 ล้านบาท แบ่งการชำระเป็น 10 งวด (10 ปี) อายุใบอนุญาต 15 ปี โดยจะแตกต่างจากการประมูลคลื่นความถี่ในทุกครั้งที่ผ่านมา จึงต้องมีการประชุมร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์) หรือผู้ขอรับใบอนุญาต เพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆ ในทิศทางเดียวกัน

นายก่อกิจ กล่าวว่า ในวันที่ 19 มิถุนายน 2562 สำนักงาน กสทช. กำหนดให้เป็นวันเปิดรับคำขอรับใบอนุญาตและจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ โดยวิธีการจัดสรรชุดคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องเลือกชุดคลื่นความถี่ที่ต้องการ ได้แก่ ชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 703-713 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 758-768 เมกะเฮิรตซ์ ชุดที่ 2 ช่วงความถี่วิทยุ 713-723 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 768-778 เมกะเฮิรตซ์ และชุดที่ 3 ช่วงความถี่วิทยุ 723-733 เมกะเฮิรตซ์ คู่กับ 778-788 เมกะเฮิรตซ์ พร้อมใส่จำนวนผลประโยชน์ส่วนเพิ่มแก่รัฐลงในแบบฟอร์ม

ทั้งนี้ หากเกิดกรณี 1.ผู้ขอรับใบอนุญาตเพียงหนึ่งราย ผู้ขอรับใบอนุญาตสามารถเลือกชุดคลื่นความถี่ที่ต้องการจำนวนหนึ่งชุด 2.กรณีมีผู้ขอรับใบอนุญาตตั้งแต่สองรายขึ้นไปผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละรายสามารถเลือกชุดคลื่นความถี่ที่ต้องการจำนวนหนึ่งชุด หากผู้ขอรับใบอนุญาตเลือกชุดคลื่นความถี่เดียวกัน สำนักงาน กสทช. จะพิจารณา ประกอบด้วย 2.1 พิจารณาจากผลประโยชน์ส่วนเพิ่มเป็นจำนวนเงินที่ผู้ขอรับใบอนุญาตแต่ละรายเสนอ โดยผู้ที่เสนอผลประโยชน์ส่วนเพิ่มสูงกว่าจะได้สิทธิเลือกชุดคลื่นความถี่นั้นก่อน 2.2 กรณีมีผู้ขอรับใบอนุญาตเสนอผลประโยชน์ส่วนเพิ่มเท่ากัน สำนักงาน กสทช. จะใช้วิธีการจับสลากเลือกลำดับของผู้ที่จะได้รับสิทธิในการเลือกชุดคลื่นความถี่นั้นก่อน 2.3 กรณีไม่มีผู้ใดเสนอผลประโยชน์ส่วนเพิ่ม สำนักงาน กสทช. จะใช้วิธีการจับสลากเลือกลำดับของผู้ที่จะได้รับสิทธิในการเลือกชุดคลื่นความถี่นั้นก่อน สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการตาม ข้อ 2.1-ข้อ 2.3 จนกว่าจะไม่มีผู้ขอรับใบอนุญาตเลือกชุดคลื่นความถี่เดียวกันทั้งนี้ ผู้ได้รับสิทธิได้เลือกชุดคลื่นความถี่ก่อนตาม ข้อ 2.1 และข้อ 2.2 จะต้องชำระผลประโยชน์ส่วนเพิ่มที่เสนอให้กับ สำนักงาน กสทช. ด้วย

“เชื่อว่า ในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ จะมีการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์เกิดขึ้น เรื่องรายได้ที่จะเกิดขึ้นก็เป็นไปตามราคาใบอนุญาต ที่หากมีโอเปอเรเตอร์เข้ารับการจัดสรร 1 ราย ก็มีรายได้ 17,584 ล้านบาท ส่วนกรณีต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น การเลือกชุดคลื่นความถี่เดียวกัน หรือมีการเสนอผลประโยชน์ส่วนเพิ่มที่เท่ากัน มองว่า มีเปอร์เซ็นต์น้อยมากที่จะเกิดขึ้น ซึ่งก็หวังว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้ จะเป็นไปอย่างราบรื่น” นายก่อกิจ กล่าว

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ไม่สามารถตอบได้ว่า จะเข้ารับการจัดสรรครั้งนี้หรือไม่ โดยจะมีการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) เพื่อพิจารณาในเร็วๆ นี้ เพราะราคาใบอนุญาตไม่ใช่ 300 บาท แต่เป็นราคา 17,584 ล้านบาท ประกอบกับต้องคำนึงถึงการประมูลคลื่นความถี่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

“ยังมีข้อกังวลในเรื่องคลื่นความถี่ที่อาจเกิดปัญหาสัญญาณรบกวน จึงขอให้ กสทช. ระบุข้อกำหนดเกี่ยวกับการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสัญญาณรบกวนจากการใช้คลื่นความถี่เพิ่มเติมในร่างประกาศอย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเข้าร่วม หรือไม่เข้าร่วมการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้” นายจักรกฤษณ์ กล่าว

นายนฤพนธ์ รัตสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เปิดเผยว่า ไม่ขอระบุว่าจะเข้ารับการจัดสรรคลื่นความถี่ครั้งนี้หรือไม่ โดยจะนำเรื่องเข้าที่ประชุมบอร์ด เพื่อพิจารณาในวันที่ 19 มิถุนายน 2562 จึงต้องรอความชัดเจนจากมติที่ประชุมอีกครั้ง

 

 


ที่มา : มติชนออนไลน์