“ทีโอที-แคท” สู้ศึกดิสรัปต์ พลิกไมนด์เซต “คน” ลุยหาพันธมิตร

เป็นที่น่าจับตาทุกครั้งเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ว่าอนาคตรัฐวิสาหกิจใต้สังกัดจะเป็นอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” จับ 2 ซีอีโอ สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาฉายทิศทาง

มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที

Q : เตรียมรับการเปลี่ยนแปลง

ไม่ว่าจะมีรัฐบาล-รัฐมนตรีใหม่ เรื่องที่รอไม่ได้ คือ การเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจเก่าทั้งต้นทุน-คุณภาพที่ดีขึ้น กับเรื่องธุรกิจใหม่ ดิจิทัลเซอร์วิสที่ต้องรีบเดินหน้า ตอนนี้มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน เปลี่ยนโมเดลการทำงานจากแบบไซโลมาเป็นการระดมสมองจากหลาย ๆ ทีมในองค์กร คือแยกเรื่องเก่ากับงานใหม่ที่ต้องเดินหน้า ไม่อย่างนั้นก็ชะงักไปหมด อย่างข้อพิพาทสัมปทาน ถ้าอันไหนมีแววจะเคลียร์ได้ก็เจรจาให้จบ ซึ่งส่วนใหญ่จะผูกกับการส่งมอบทรัพย์สิน อย่างเสาโทรคมฯของเอไอเอส กับข่ายสาย fixed line ของทรู ส่วนเรื่องใหญ่ ๆ อย่างค่าเอซี/ไอซี หรือที่เข้าไปในกระบวนการศาลแล้ว ก็ต้องรอ

Q : เดินหน้าควบรวมกับแคท

ต้องรอรัฐบาลใหม่ว่าจะรีเซตหรืออย่างไร ซึ่งก็ช่วยไม่ได้ที่อาจต้องวนลูปปัญหาแบบเดิม ๆ อีกอย่าง 2 บริษัทลูกที่ตั้งตามมติ ครม. เดิมที่ให้รวมทรัพย์สินของทีโอที-แคทมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ก็ยังค้างอยู่ ฉะนั้น จะยกเลิกหรือไปต่อก็ต้องมีมติ ครม.ลงมา แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลช่วยดู คือ แนวทางของการแชริ่งโครงข่าย โดยเฉพาะในช่วงแรกที่เริ่มเปลี่ยนไปสู่ 5G หลายฝ่ายเห็นด้วยว่าควรต้องมี และผมเชื่อในเรื่องของเน็ตเวิร์กเอฟเฟ็กซ์ ถ้ารัฐอยากให้รัฐวิสาหกิจเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ก็ต้องเร่งจัดการ

Q : ทิศทางธุรกิจใหม่ครึ่งปีหลัง

จะเปิดฟิกซ์ไวร์เลสบรอดแบนด์บนคลื่น 2300 MHz ที่ร่วมมือกับดีแทค เน้นพื้นที่ที่ข่ายสายบรอดแบนด์ของทีโอทีเข้าถึงลำบาก และบริการพ็อตเกจไวไฟ แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อโลกเปลี่ยน รัฐวิสาหกิจก็ต้องเปลี่ยน สิ่งแรกที่จะต้องทำคือ การเปลี่ยนไมนด์เซต กระบวนการทำงาน ระบบงานที่ต้องนำมาพัฒนา 2 อย่างแรกเกี่ยวกับคนล้วน ๆ ซึ่งจะมีปัญหามากสุด เพราะทีโอทีเป็นองค์กรเก่าแก่ก่อตั้งกันมานาน อายุเฉลี่ยของพนักงานค่อนข้างเยอะ แล้วค่าใช้จ่ายด้านคนก็เยอะ ทั้งยังต้องแข่งกับเอกชนในอุตสาหกรรม

ฉะนั้นทำอย่างไรจึงจะช่วยดิจิทัลทรานส์ฟอร์มได้ ต้องมีโมเดลธุรกิจที่ไปกันได้กับโลกใหม่ ถ้ารัฐบาลอยากให้รัฐวิสาหกิจเดินต่อไปได้ ต้องเร่งช่วยปลดล็อกต่าง ๆ อย่างขั้นตอนที่การทำงานของรัฐวิสาหกิจที่ไม่คล่องตัว

Q : ปีนี้จะยังมีกำไร

เชื่อว่ายังมี แต่จะมากหรือน้อยก็ต้องดูกัน

พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท)

Q : เตรียมรับการเปลี่ยนแปลง

ในส่วนของธุรกิจหลัก แคทก็ยังเดินหน้าต่อ เพราะโจทย์ใหญ่คือปี 2568 นี้ สิทธิการใช้คลื่นของแคทจะหมดไป ฉะนั้น ต้องเร่งสร้างรายได้และให้มีกำไรในอนาคต ก็ต้องมองไปถึงธุรกิจที่จะรองรับ ส่วนเรื่องควบรวมหรือไม่ก็คงต้องรอดูรัฐบาลใหม่ว่าจะไปทางไหนต่อ เพราะอย่าง 5G ที่จำเป็นต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นมาก แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้แต่ละโอเปอเรเตอร์สามารถใช้อินฟราสตรักเจอร์ร่วมกันได้ โดยไม่ต้องต่างคนต่างลงทุน ซึ่งแคทกับทีโอทีก็มองเห็นโอกาสตรงนี้

ถ้าสรุปว่าควบรวม 2 องค์กรก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าการควบรวมไม่คืบหน้า สคร. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) ก็ต้องกำหนด KPI ที่ชัดเจนเรื่องการใช้ทรัพย์สิน

Q : ปัญหาข้อพิพาทสัมปทาน

เคลียร์ไปได้เยอะ อย่างกับดีแทคก็มีการจ่ายเงินเพื่อยุติข้อพิพาทแล้ว 9 พันกว่าล้าน กับกลุ่มทรูก็เคลียร์กันไปกว่า 8 พันล้านบาท เหลือแต่ค่าเอซี/ไอซี ก็ยังต้องเดินตามกระบวนการทั้งในส่วนของศาลปกครองที่เป็นข้อพิพาทกับทีโอที และส่วนของอนุญาตตุลาการในส่วนของคู่รับสัมปทาน

Q : เป้าธุรกิจครึ่งปีหลัง

เน้นหาเซอร์วิสมาออนท็อปบนบริการดาต้าเซ็นเตอร์ ไอทีซีเคียวริตี้ ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าจะไม่สามารถมาทดแทนรายได้สัมปทานได้ แต่ตอนนี้รายได้ก็เดือนละพันกว่าล้านบาทแล้ว อย่างบริการคลาวด์ภารัฐก็โตมาก เชื่อว่าสิ้นปีจะได้เห็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตมากขึ้น สิ้นปีนี้แคทจะยังมีกำไรแน่นอน เพราะปีนี้มีเงินที่ได้รับจากการเคลียร์ข้อพิพาทเข้ามาหลายส่วน

Q : สนใจจะประมูลคลื่น 5G

ไม่ได้สนใจคลื่น 700 MHz หรือ 2600 MHz คือถ้าจะเป็นการประมูลเพื่อนำไปให้บริการมือถือในรูปแบบ MVNO คงไม่คุ้ม ฉะนั้น ต้องดูเงื่อนไขของ กสทช. ว่าบังคับให้เปิดให้บริการทั่วประเทศหรือไม่ ต้องดูเงื่อนไขหลายอย่าง แต่ที่แคทสนใจคือการนำคลื่นไปใช้ในธุรกิจดาวเทียม ซึ่งก็เป็นย่านความถี่สูง ๆ มากกว่า มองไปที่การเข้าประมูลบริหารดาวเทียมที่หมดสัมปทาน ซึ่งรัฐจะเปิดให้เข้าร่วมทุนแบบ PPP มากกว่า แคทกำลังหารือเพื่อจับมือกับพันธมิตรที่เชี่ยวชาญธุรกิจแคทต้องพยายามหาโมเดลที่จะแก้ปัญหาการติดขัดระเบียบของรัฐวิสาหกิจเรื่องความคล่องตัวในการทำธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว