ส่องวิชั่น “บิ๊กธุรกิจอาเซียน” โครงสร้างพื้นฐานดูดทั่วโลกลงทุน

การประชุมผู้นำธุรกิจอาเซียน “The Future of Thailand and ASEAN” ที่จัดขึ้นคู่ขนานกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 34 มีหลากหลายหัวข้อถูกหยิบยกขึ้นหารือ ฉายวิสัยทัศน์ จากผู้นำธุรกิจในกลุ่มอาเซียน

นายนาวีน เมนอน ประธานบริษัท ซิสโก้ อาเซียน กล่าวว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รัฐบาล 10 ประเทศอาเซียน ให้ความสำคัญกับการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีมากขึ้น เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมของไทยที่พยายามปรับตัวให้สอดรับกับภาคอุตสาหกรรมที่ก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 เห็นได้จากภาคอุตสาหกรรมไทยมีการพัฒนาและสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้น เช่น เทคโนโลยีปัญหาประดิษฐ์ (AI), 3D พรินติ้ง เทคโนโลยีการจำลองหรือภาพเสมือนจริง (VR) เป็นต้น

เร่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าเป็นห่วงว่าหากมุ่งให้ความสำคัญกับการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีอื่น ๆ ซึ่งไม่ใช่เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาจนำมาซึ่งการสูญเสียโอกาส เพราะแม้สงครามทางการค้าจะเอื้ออานิสงส์ให้หลาย ๆ ประเทศในอาเซียนได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตของโรงงานจากประเทศจีน แต่หากรัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนยังไม่เพิ่มการ

ลงทุนเทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในอนาคตก็มีความเสี่ยงที่โรงงานเหล่านี้จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นที่มีเทคโนโลยีด้านการผลิตที่ทันสมัยกว่า เช่น ในยุโรป เม็กซิโก และจีน ซึ่งล้วนเป็นแหล่งการผลิตที่สำคัญของโลก อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ากว่ามาก หากเป็นอย่างนั้น ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับประเทศในอาเซียนคือ ประชากรอาเซียนไม่น้อยกว่า 28 ล้านคนจะได้รับผลกระทบเรื่องการจ้างงาน หรือตำแหน่งงาน

โครงสร้างพื้นฐานหนุนโลจิสติกส์

นายฮิวอี้ ลิน (Huey Lin) ประธานประจำภูมิภาคเอเชีย จากบริษัท Flexport สตาร์ตอัพด้านโลจิสติกส์ จากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า แม้สงครามทางการค้าจะทำให้นักธุรกิจนักลงทุนประสบปัญหา และธุรกิจโลจิสติกส์ได้รับผลกระทบในทางอ้อมจากวิกฤตดังกล่าวด้วย แต่ในส่วนของโลจิสติกส์ในอาเซียนไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ส่วนหนึ่งมาจากที่ผ่านมารัฐบาลเกือบทุกประเทศในกลุ่มอาเซียนพัฒนาเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ จำนวนมาก

ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เกิดการเชื่อมต่อกันระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกันเอง และเชื่อมต่อเส้นทางโลจิสติกส์ทั่วโลกง่ายขึ้น

ชี้อาเซียนจุดหมายการลงทุน

ขณะที่ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มองว่า ยุคเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปต์ กับกระแสการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมยุค 4.0 เป็นความท้าทายอย่างยิ่งของธุรกิจธนาคาร และเมื่อกล่าวถึงดิจิทัลแบงกิ้ง เป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่กล่าวถึงเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงกับธุรกิจธนาคารในเวลานี้ แต่เทคโนโลยี รวมทั้งบล็อกเชนทำให้กระบวนการทำงานของธนาคารมีความคล่องตัวขึ้น ร่นระยะเวลาการทำธุรกรรมต่าง ๆ ลง

นอกจากนี้ เทคโนโลยีบล็อกเชนที่เอื้อให้การทำธุรกรรมต่าง ๆ เร็วขึ้น ค่าธรรมเนียม ที่ธุรกิจธนาคารเคยได้รับในอดีตหดตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ธนาคารได้มีการปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลง รวมถึงนำเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และฐานข้อมูลลูกค้าเพื่อเรียนรู้พฤติกรรมมาใช้ ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น

ส่วนมุมมองด้านการเมืองขณะนี้ การที่รัฐบาลใหม่มีผู้นำจากรัฐบาลเดิมมาบริหารประเทศต่อเนื่องถือเป็นข้อดี ที่นโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ จะสามารถดำเนินการไปได้ต่อเนื่อง รวมถึงโครงการโครงสร้างพื้นฐานเชื่อว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน การคมนาคม จะนำอาเซียนให้ไปสู่การเป็น “Unique Investment Destination” หรือจุดหมายการลงทุนที่มีความเฉพาะตัวได้