กสทช. ลุยเรียกคืนคลื่น 2600 MHz จัดประมูลสิ้นปี-เคาะจอดำ 3 ช่องดิจิทัล 16 ส.ค. รับเยียวยา 1.5 พันล้าน

บอร์ด กสทช. เดินหน้าเรียกคืนคลื่น 2600 MHz ตั้งอนุกรรมการเคาะค่าตอบแทน “อสมท” ภายใน ก.ย. นี้ พร้อมไฟเขียว 3 ช่อง “สปริง26-สปริงนิวส์19-ไบรท์ทีวี” จอดำ 16 ส.ค.นี้ หลังรับเงินเยียวยาคืนช่องเหนาะๆ กว่า 1.5 พันล้านบาท เตรียมชงกองทุน กทปส. ยืมเงินจ่ายก่อน 4.8 พันล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช. 25 มิ.ย. 2562 มีมติเห็นชอบกำหนดวันยุติการออกอากาศของ 3 ช่องทีวีดิจิทัลที่ได้ยื่นคำขอคืนใบอนุญาตตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 ได้แก่ ช่องสปริง26 (NOW26 เดิม) ช่องสปริงนิวส์ 19 และ ช่องไบรท์ทีวี ซึ่งทั้งหมดได้ยื่นเอกสารทางการเงินเพื่อให้คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าชดเชยเยียวยาได้พิจารณาเรียบร้อยแล้ว  โดยทั้งหมดจะยุติการออกอากาศในวันที่ 16 ส.ค. 2562 เวลา 00.01 น.

ส่วนเงินเยียวยาที่แต่ละช่องจะได้รับมีดังนี้ “ช่องสปริง 26” ได้รับ 675.764 ล้านบาท ช่อง “สปริงนิวส์ 19” ได้รับ 500.951 ล้านบาท และ ช่อง “ไบรท์ทีวี”  371.983 ล้านบาท

“อีก 4 ช่องที่ขอคืนใบอนุญาต มีช่องวอยซ์ทีวี ได้ยื่นเอกสารมาให้คณะอนุกรรมการพิจารณาแล้ว เหลือแต่ช่อง 3SD ช่อง 3 Family และช่อง Mcot Family ที่ยังไม่ได้ยื่นเอกสารให้พิจารณาค่าชดเชย”

จากนี้ กสทช.จะยืมเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) จำนวน 4,847.19 ล้านบาท เพื่อนำมาสำรองจ่ายเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่ขอคืนก่อน โดยแบ่งเป็นเงินชดเชยช่องทีวีที่คืนใบอนญาตราว 2,962.79  ล้านบาท เงินเยียวยาค่าเช่าโครงข่าย(MUX) 552.8 ล้านบาท ค่าการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ของผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีภาคพื้นดิน 345 ล้านบาท และเงินประมูลงวด 5 และ 6 ที่มี 3 ช่องจ่ายมาก่อนแล้วเป็นเงิน 986.6 ล้านบาท (ช่อง 7HD ช่องเวิร์คพอยท์ และช่องสปริงนิวส์19) ซึ่ง กสทช. จะต้องจ่ายคืนให้

ขณะเดียวกัน บอร์ดกสทช. ยังได้อนุมัติการตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าทดแทนชดใช้ และการจ่ายค่าชดเชย จากการเรียกคืน 2600 MHz จาก บมจ. อสมท  ซึ่งคณะอนุกรรมการจะมี 7 คน ประกอบด้วย ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงาน กสทช. ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.)

ส่วนการประเมินมูลค่าคลื่นจะให้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษา


“คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อให้มีการประมูลคลื่น 2600 MHz ภายในสิ้นปีนี้ โดยจะเป็นการประมูลแบบมัลติแบนด์ร่วมกับคลื่นย่าน 26 – 28 GHz และอาจจะนำคลื่น 700 MHzที่เหลือมาประมูลด้วย”