“ข้อมูล” อีคอมเมิร์ซ หนุนยักษ์รุกคืบ Offline

กระแสอีคอมเมิร์ซยังมาแรงไม่หยุด เฉพาะในตลาดไทยมีการประเมินว่าปีนี้มูลค่าจะทะลุ 3.2 ล้านล้านบาท

แต่สิ่งที่น่าจับตามีมากกว่านั้น “ภัทรวดี รัตนะศิวะกูล” นักวิเคราะห์ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกำลังแผ่อิทธิพลไปยังธุรกิจต้นน้ำ และลงไปยังธุรกิจปลายน้ำมากขึ้น ด้วยข้อได้เปรียบจากการมี “ฐานข้อมูล” การจับจ่ายของผู้บริโภค ทำให้เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสามารถผลิตสินค้าที่เป็นที่นิยมในรูปแบบของ private brand เพื่อจำหน่ายให้ลูกค้าโดยตรงในแพลตฟอร์มของตนเองได้ และเริ่มเห็นการขยายไป

สู่การมีหน้าร้านขายสินค้าเหล่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ขายสินค้าที่ไม่มีแบรนด์ หรือ “แบรนด์” ไม่แข็งแกร่ง รวมถึงโรงงานผู้ผลิตสินค้าต้นน้ำที่อาจจะได้รับคำสั่งซื้อที่ไม่สม่ำเสมอเพราะต้องผลิตตามเทรนด์อย่างรวดเร็ว จึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมรับมือ

“Amazon” เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ ได้เริ่มทำ private brand ในหลายสินค้าออกมาเป็นหลาย ๆ แบรนด์แล้ว เช่น AmazonBasics ที่เป็นของใช้ทั่วไปในบ้าน Amazon Collection อัญมณีเครื่องประดับ Amazon Essentials เสื้อผ้า ซึ่งส่วนใหญ่จะขายในราคาต่ำกว่าแบรนด์อื่น 15-20% ทั้งยังอาศัยความได้เปรียบจากการทำให้ private brand ของตนเองอยู่ในอันดับต้น ๆ ของการเสิร์ชของลูกค้า

โดยปัจจุบัน Amazon มีสินค้า private brand แล้ว 406 แบรนด์ มีจำนวนสินค้ากว่า 23,142 ผลิตภัณฑ์ ขณะที่ในอินเดีย “Flipkart” อีคอมเมิร์ซท้องถิ่นที่ Walmart จากสหรัฐถือหุ้นกว่า 77% ก็มีสินค้า private brand ซึ่งเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขายได้ในราคาต่ำกว่าแบรนด์อื่น รวมถึงผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดอีคอมเมิร์ซอย่าง Alibaba และ JD.com ที่ครองสัดส่วนการค้าอีคอมเมิร์ซ 58.2% และ 16.3% ตามลำดับ ก็มี private brand เช่นกัน โดยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าของใช้ภายในบ้าน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าสำหรับท่องเที่ยว

ขณะที่การขยายธุรกิจจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสู่ช่องทางออฟไลน์ยังมีให้เห็นต่อเนื่อง อาทิ Amazon ลงทุนในธุรกิจค้าปลีก whole foods รวมถึงธุรกิจรับส่งอาหารและประกอบอาหารของ deliveroo และมีการนำ private brand ของตัวเองมาขายด้วย เช่นเดียวกับ Alibaba ที่นำ private brand มาขายในร้าน Taobao Xinhuan ในจีน รวมถึง Jingzao โดย JD.com และ NetEase Yanxuan โดย NetEase ถือเป็นการใช้โมเดลธุรกิจแบบ O2O (online to offline) เต็มที่