เจ้าสัว “บุญเกียรติ” ควงคู่ CEO “ทรู” พาทัวร์ต้นแบบร้านอัจฉริยะไร้พนักงาน@สหกรุ๊ปแฟร์

เป็นงานมหกรรมลดกระหน่ำประจำปีที่ขาช้อปรอคอย สำหรับงาน “สหกรุ๊ปแฟร์” ซึ่งเปิดฉากแล้วที่ไบเทคบางนา ตั้งแต่ 27 – 30 มิ.ย. นี้  แต่ครั้งนี้ไม่ได้มีแค่กองทัพสินค้ากว่า 1,000 แบรนด์ดัง แต่ยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ วงการค้าปลีกมาโชว์ด้วย

หนึ่งในนั้นคือ “ร้านอัจฉริยะไร้พนักงาน” ที่ได้จับมือร่วมกับกลุ่มทรู คอร์ปอเรชั่น นำโซลูชั่น “Unmanned Shop” มาพัฒนาเป็นต้นแบบร้านค้าอัจฉริยะที่จะเปิดใช้งานจริง โดยนำร่องกับร้านค้าเครือสหกรุ๊ปอย่าง “His & Her Smart Shop” 

งานนี้ เจ้าสัว “บุญเกียรติ โชควัฒนา” ประธานกรรมการ บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) พร้อมกับ “ดร.กิตติณัฐ ทีคะวรรณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น พาทัวร์ร้านต้นแบบที่ยกมาโชว์ด้วยตัวเอง

สำหรับ “Unmanned Shop” ที่เป็นต้นแบบนี้ได้นำเทคโนโลยี Smart Tracking , AI , Face Recognition , CRM : Customer Relationship Management เข้ามาใช้ในการสร้างประสบการณ์ที่ทันสมัยในการจับจ่ายเลือกซื้อสินค้า รวมไปถึงระบบเพย์เมนต์และระบบซีเคียวริตี้ในร้านค้าปลีก

โดยขั้นตอนการใช้งานจะเริ่มจากลงทะเบียนเข้าระบบเพื่อยืนยันตัวตนของลูกค้า หลังจากนั้นระบบจะจดจำใบหน้าและเปิดประตูให้เข้าไปจับจ่ายเลือกซื้อสินค้า

เมื่อได้สินค้าที่พึงพอใจแล้ว ก็สามารถนำตระกร้าวางบนเคาน์เตอร์ชำระเงิน โดยไม่ต้องนำสินค้าออกมาเรียง ระบบก็จะแสดงรายละเอียดสินค้าบนหน้าจอ ก่อนจะสรุปยอดชำระเงินและให้ลูกค้ากดเลือกช่องทางชำระค่าสินค้า ไม่ว่าจะเป็นเงินสด QR Code บัตรเครดิต หรืออีเพย์เมนต์อื่นๆ

โดยเมื่อชำระค่าสินค้าแล้วระบบก็จะเปิดประตูให้เดินผ่านออกจากร้านได้ทันที  และหากลืมว่ายังไม่ได้ซื้อสินค้าตัวไหนอีก ก็สามารถเดินเข้าระบบมาได้อีกครั้ง โดยไม่ต้องกังวลว่า สินค้าในถุงที่ซื้อมารอบก่อนนี้จะทำให้ระบบร้องเตือนว่ายังไม่ได้ชำระเงินหรือมีการคิดเงินซ้ำอีกรอบ เพราะ product id  ของสินค้าแต่ละชิ้นจะแตกต่างกัน และระบบ Smart Tracking จะวิเคราะห์ตรวจจับได้แม่นยำ  ทั้งยังอำนวยความสะดวกให้เจ้าของร้านในการบริหารสต็อก ทั้งตัด-สรุปยอด แจ้งเตือนสต็อกได้รวดเร็ว

“ดร.กิตติณัฐ ทีคะวรรณ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ร้านค้าต้นแบบนี้เป็นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลหลายรูปแบบมา on-top บนเทคโนโลยีค้าปลีก ซึ่งไม่ใช่แค่เข้ามาช่วยค้าขาย ยังสามารถเก็บข้อมูลในร้านได้หลากหลาย อาทิ การประเมินทราฟฟิก จำนวนคน เส้นทางการเดินเลือกซื้อสินค้าของลูกค้าภายในร้าน ซึ่งจะทำให้เกิดการบริหารพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังสะท้อนไปได้ถึงสินค้าแต่ละชิ้นที่วางในแต่ละตำแหน่ง เพื่อหารูปแบบการตลาดที่เหมาะสม

แม้ว่า ร้านค้าต้นแบบนี้จะแตกต่างจากที่ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซใช้เทคโนโลยี AI ที่ใช้กล้องจำนวนมหาศาลมาตรวจจับข้อมูลทุกอย่างภายในร้าน  แต่ถ้าลูกค้าต้องการให้อัจฉริยะระดับนั้น “ทรู” ก็พร้อมจัดให้ แต่หมายถึงเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ร้านค้าต้องลงทุน โดยเฉพาะฐานข้อมูลและระบบประมวลผลขนาดมหึมา

ฉะนั้น สิ่งสำคัญจะเลือก “อัจฉริยะ” แค่ไหน ต้องเลือกให้เหมาะกับรูปแบบร้านค้าและสินค้าด้วย อย่างสินค้าในร้าน “His & Her Smart Shop” ไม่ใช่สินค้าที่มีขนาดเล็กมาก แต่เป็นกลุ่มเสื้อผ้า แพคอาหารที่มีขนาดใหญ่พอสมควร การใช้ Smart Tracking เป็นเทคโนโลยีหลักก็เหมาะสม ลงทุนไม่มากและคืนทุนได้เร็วกว่า ต่างกับสินค้าในร้านสะดวกซื้อเครือซีพี ที่หลากหลายมาก ทั้งขนาดและจำนวน จึงยังไม่น่าจะเหมาะที่จะนำรูปแบบนี้ไปใช้

โดยประเมินว่า ในประเทศไทยคงยังไม่เห็น “Unmanned Shop” พรึ่บเต็มเมืองในเร็วๆ นี้  เพราะต้องค่อยๆ ปรับไปตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค  ซึ่งยังมีบางส่วนที่คุ้นเคยกับการมีพนักงานบริการ  แต่ “Unmanned Shop” จะมีจุดเด่นด้านการบริหารต้นทุน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถนำเงินส่วนที่ประหยัดได้ไปใช้ในการจัดโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น