โกออนไลน์แดนมังกรให้สตรอง กลยุทธ์เจาะใจนักช็อปจีน

ประเทศจีนมีประชากรกว่า 1,420 ล้านคน เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ด้วยมูลค่ากว่า 9.6 แสนล้านบาท ทั้งยังเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1 ใน 3 ที่เดินทางมาไทย ในปี 2561 อยู่ที่ราว 10.5 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8-10% ทุกปี และใช้จ่ายในไทยกว่า 51,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5% “จีน” จึงเป็นตลาดที่ไทยยากจะปฏิเสธ

“ชฎากร ธนสุวรรณเกษม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอวีจี ไทยแลนด์ จำกัด เปิดเผยว่า จีนมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตกว่า 829 ล้านคน โดย 46% ซื้อของออนไลน์อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ทั้ง 25% ของการใช้จ่ายจะอยู่บนออนไลน์ เป็นมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่ “โซเชียลมีเดีย” คือช่องทางสำคัญ ทั้งยังเชื่อถือ “อินฟลูเอนเซอร์” มาก จนเกิดเทรนด์การทำตลาดที่ผสานระหว่าง social media และ e-Commerce จึงได้เห็น “แบรนด์” เปิดบัญชีทางการในโซเชียลมีเดียของจีนมากขึ้น อาทิ “Weibo” จากปี 2560 มี 7,960 แบรนด์แอ็กเคานต์ ปี 2561 เพิ่มเป็น 13,387 แบรนด์แอ็กเคานต์

“แต่โซเชียลมีเดียจีนมีความซับซ้อนกว่าไทย มีกว่า 30 แพลตฟอร์ม WeChat โซเชียลมีเดียอันดับ 1 มีผู้ใช้ 1,040 ล้านยูสเซอร์ เปิดให้แบรนด์ธุรกิจเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มได้ การซื้อขายจึงเบ็ดเสร็จได้หมด แต่อันดับ 2 อย่าง Weibo เป็นเหมือนทวิตเตอร์ มีผู้ใช้ 337 ล้านยูสเซอร์ และมีพาร์ตเนอร์เยอะ เช่น ทีมอลล์”

ขณะที่มูลค่าตลาดดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในจีนอยู่ที่ 7 ล้านล้านหยวน สูงกว่าสหรัฐอเมริกา และมีการจับมือระหว่างโซเชียลมีเดียกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างมาก อาทิ อาลีบาบา ร่วมมือกับ Weibo ส่วน WeChat จับมือกับ JD.com เพื่อสร้างระบบโฆษณาที่วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อเจาะความต้องการของลูกค้าเฉพาะราย จึงเสนอขาย “ถูกคน ถูกที่ ถูกเวลา” ยิ่งมีบริการ 5G เกิดขึ้น

ยิ่งกระตุ้นการจับจ่าย “อินฟลูเอนเซอร์ในจีนมีกว่า 3 ล้านคน สร้างยอดขายได้กว่า 4.9 พันล้านเหรียญ/ปี และคาดว่าจะโตได้ถึง 40.4% ในอีก 5 ปีข้างหน้า อีกทั้ง 80% ของแฟนคลับคือคนยุคมิลเลนเนียล อายุ 23-38 ปี ซึ่งมีกำลังซื้อสูงสุด”

แต่ก็ไม่ใช่ทุกธุรกิจที่เหมาะจะใช้การตลาดรูปแบบนี้ ทั้งต้องระวังเรื่องการ “ปั้น” ตัวเลขผู้ติดตาม จึงต้องมุ่งยอดการตอบรับ ทั้งไม่ควรสร้างคอนเทนต์แบบ “ฮาร์ดเซล” เกินไป

ปัจจุบันอินฟลูเอนเซอร์ในจีนที่มีมากสุด คือ “บิวตี้” 30% รองลงมา “แฟชั่น” 15% และอีก 10% เป็นอาหาร ขนม ส่วนสินค้าไทยที่เหมาะกับโซเชียลคอมเมิร์ซในจีน ข้อมูลจากอีคอมเมิร์ซรายใหญ่อย่าง Tmall และ Taobao พบว่า ยอดนิยม คือ กลุ่มสกินแคร์ & เครื่องสำอาง, ผลไม้อบแห้ง และข้าว มียอดการซื้อขายราว 2 ล้านครั้ง/เดือน แต่ราคาไม่ควรเกิน 1,000 บาท หรือ 200 หยวน โดยต้องมีเอกลักษณ์ไม่กลืนไปกับสินค้าจีน และต้องรีบจดสิทธิ์เครื่องหมายการค้าในจีน เพื่อทำแบรนดิ้ง รวมถึงต้องสำรวจความต้องการของลูกค้า เพราะแต่ละภูมิภาคของจีนมีความต้องการที่แตกต่างกัน ที่สำคัญคือหาตัวแทนจำหน่ายที่ไว้ใจได้

“SMEs ยังไม่เหมาะใช้อินฟลูเอนเซอร์ เพราะค่าใช้จ่ายสูงมาก อย่างที่ค่าตัวแพงสุด คือ “ฟ่าน ปิงปิง” คิดโพสต์ละ 40 ล้านบาท ที่ไม่ใช่ดารา แต่เป็นตัวท็อปสุดก็ 10 ล้านบาท/โพสต์ จึงควรเน้นที่คอนเทนต์มาร์เก็ตติ้งมากกว่า เพราะเนื้อหาอยู่ได้นาน เสิร์ชหาได้”


ปัจจุบัน “เอวีจี ไทยแลนด์” มีทีมในจีน ที่พร้อมให้คำแนะนำและช่วยวางแผนตลาด โดยมีอินฟลูเอนเซอร์ในสังกัด 1 แสนคน และมีข้อมูลที่ช่วยเจาะกลุ่มเป้าหมายได้ชัดเจน ทั้งยังได้ authorized partner กับสื่อดิจิทัลรายใหญ่ทั้ง Baidu, Alibaba, Tencent