ฮิตาชิหนุนอุตสาหกรรม 4.0 เปิด Lumada ปั้นโซลูชั่นเสริมแกร่งธุรกิจ

“ฮิตาชิ” เผยตลาด IOT ในไทยยังโตได้อีกมาก เหตุยังมีแค่ 2% ใช้ในอุตสาหกรรมประเดิมเปิดศูนย์ “Lumada” ช่วยองค์กรสร้างโซลูชั่นตอบโจทย์ธุรกิจเฉพาะองค์กร เพิ่มศักยภาพลดต้นทุน พร้อมโชว์ยอดกว่า 10 รายใน 6 เดือน มั่นใจ 3 ปีรายได้โต 50%

นายสมศักดิ์ กาญจนาคาร ผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บริษัท ฮิตาชิ เอเชีย (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยมีเพียง 2% เท่านั้นที่เริ่มนำแพลตฟอร์ม IOT ไปใช้ ขณะที่ภาครัฐมีนโยบายผลักดัน “ไทยแลนด์ 4.0” จึงเป็นตลาด IOT ที่่มีโอกาสเติบโตสูงบริษัทจึงได้เปิดศูนย์ไอโอที “ลูมาด้า” (Lumada) ในพื้นที่ EEC เมื่อ 17 ก.ย. 2561

โดยจะมีแบบจำลองการทำงานของ IOT เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เห็นการทำงานจริง ช่วยอำนวยความสะดวกในการสร้างโซลูชั่นที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจจากการร่วมกันคิดสร้างสรรค์ อาทิ การบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์และเชิงแก้ไขปรับปรุง

โดยฮิตาชิได้วางเป้าหมายทางการตลาดไว้ 3 เฟส ได้แก่ เฟสแรก smart factory (ปี 2561-2563) เน้นในกลุ่มอุตสาหกรรมทั้งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อร่วมกันพัฒนาแนวทางการสร้างเครื่องจักรอัตโนมัติ ซึ่งมีลูกค้าองค์กรแล้ว 11 ราย เฟส 2 (ปี 2562) ขยายเข้าสู่ระบบขนส่ง การพลังงานและระบบความปลอดภัย และเฟส 3 (ปี 2562-2564) เจาะกลุ่มภาครัฐ การสร้างสมาร์ทซิตี้ มี 11 องค์กรมาเป็นลูกค้าแล้วแม้จำนวนลูกค้ายังไม่มาก แต่อยู่ในระดับที่ค่อนข้างพอใจ

ขณะที่ภาพใหญ่ของฮิตาชิในไทย ตั้งเป้าเติบโต 50% ใน 3 ปี ด้วยธุรกิจเดิมและกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ โดยปี 2561 ฮิตาชิประเทศไทยมีรายได้ 60,000 ล้านบาท

“จุดแข็งของเราคือ ประสบการณ์ของการแก้ปัญหาแบบครบวงจรในทั่วโลก โดยผสาน big data และ AI จึงสามารถให้คำแนะนำตลอดจนสามารถปรับใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรม ทั้งภาคการผลิต ซัพพลายเชน การขนส่งและสาธารณสุข เนื่องจากฮิตาชิมีบริการและพาร์ตเนอร์ในทุกอุตสาหกรรม รวมทั้งทีมวิจัยและพัฒนากว่า 2,000 คน”

ตัวอย่างที่ฮิตาชิได้เข้าไปช่วยนำ IOT ไปพัฒนาการทำงาน อาทิ เซ็น MOU กับ SCG ในการบริหารจัดการภาคการขนส่งเพื่อช่วยลดพลังงานและระยะเวลา เช่นเดียวกับในประเทศจีนที่ฮิตาชิใช้แพลตฟอร์ม Auto Components Manufacturer A ในการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและลดเวลาที่สูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์ หรือโรงงานในประเทศญี่ปุ่น ที่มีระบบซับซ้อนเป็น 1,000 ระบบในภาคการผลิต โดยฮิตาชิได้ช่วยลดเวลาการทำงานลงได้ครึ่งหนึ่งแม้แต่โรงงานฮิตาชิในไทยเอง ลูมาด้าก็เข้าไปช่วยแก้ปัญหา ช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่ผู้ประกอบการยังไม่ใช้ IOT เป็นเพราะ 1.ค่าใช้จ่าย 2.ความเข้าใจในการนำ IOT มาใช้ ซึ่งจริง ๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ IOT กับทุกอย่างหรือนำ IOT ไปใช้กับเรื่องยาก ๆ แต่สามารถเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ เพื่อช่วยเก็บดาต้า ดังนั้น อาจจะพูดไม่ได้ว่าต้องใช้งบฯเท่าไหร่ เพราะขึ้นอยู่กับแต่ละผู้ประกอบการว่าต้องการปรับมากน้อยแค่ไหน เช่นเดียวกับการคืนทุนที่ไม่สามารถตอบได้ว่าจะช้าหรือเร็วแค่ไหน แต่ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการในระยะเวลา 2-3 ปี ซึ่งทางลูมาด้า สามารถออกแบบระบบและติดตั้งใช้ระยะเวลาทั้งหมดราว 6 เดือน

“สิ่งที่กระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาใช้ IOT คือ การแข่งขัน ที่ทำให้ผู้ประกอบการในทุกตลาดต้องคงราคาสินค้าเดิมไว้ จึงจำเป็นต้องหาทางลดต้นทุน ส่วน 5G ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะทำให้ผู้ประกอบการมาคลาวด์มากขึ้น เพื่อมีความเสถียรและเร็ว โดยเฉพาะการเชื่อมต่อข้อมูลกับคลาวด์”

แม้ตลาดไอโอทีในประเทศไทยจะมีผู้เล่นหลายราย แต่ “ฮิตาชิ” มองว่า IOT ต้องทำงานเชื่อมโยงกันในหลายส่วน ผู้เล่นในตลาดจึงเป็นพาร์ตเนอร์กันมากกว่าคู่แข่ง ซึ่งฮิตาชิเป็นรายแรกในตลาดที่ตั้งศูนย์ IOT ในประเทศไทย จัง มั่นใจว่าจะช่วยให้เข้าถึงและเข้าใจลูกค้าได้ดีกว่า