30 ก.ย.ปิดจ็อบคูปองทีวีดิจิทัล เอกชนโอดลงทุนหมื่นล้านแบกสต๊อกอื้อ

กสทช.จบปัญหาคูปองทีวีดิจิทัล ปิดใช้สิทธิ์ 30 ก.ย.นี้ ส่งงบฯเหลือพันล้านบาทเป็นรายได้แผ่นดิน หลังใช้สิทธิ์แล้ว 11 ล้านครัวเรือน ฟากชมรม set-top-box ร้องนายกฯ โครงการล้มเหลว ลงทุนหมื่นล้านบาทแต่โดนลอยแพ แบกสต๊อกกว่า 10 ล้านกล่อง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้สั่งการให้ประกาศปิดการใช้สิทธิ์รับแลกคูปองสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลให้ประชาชนรับทราบ เพื่อนำเงินที่เหลือส่งคืนเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

คสช.ดูแลโครงการ

“กสทช.ได้แจกคูปองมูลค่า 690 บาท กว่า 17 ล้านใบ แต่มีประชาชนมาใช้สิทธิ์ราว 11 ล้านใบ หรือ 60% ก็ถือว่าพึงพอใจ แต่ข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการที่จะให้แจกเพิ่มอีก กสทช.ไม่มีอำนาจ เพราะโครงการนี้อยู่ภายใต้การดูแลของ คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ซึ่ง กสทช.ก็เคยทำหนังสือขอแจกเพิ่มไปแล้ว แต่ไม่ได้รับอนุมัติ ก็เข้าใจและเห็นใจที่ผู้ประกอบการได้สั่งกล่อง set-top-box มาถึง 25-26 ล้านกล่อง แต่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจว่าแลกคูปองหรือไม่ ซึ่งถ้ารับชมทีวีผ่านดาวเทียม ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิ์”

สำหรับโครงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ด้วยการแจกคูปองส่วนลดมูลค่า 690 บาท เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นส่วนลดในการซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลได้ 3 ประเภท ได้แก่ 1) กล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล (set-top-box) 2) กล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ที่สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิทัลทั้งในระบบภาคพื้นดิน DVB-T2 และระบบดาวเทียม DVB-S2 ได้ในกล่องเดียวกัน และ 3) โทรทัศน์ที่สามารถรับสัญญาณดิจิทัลได้ในตัว (iDTV) ได้เริ่มมาตั้งแต่ ต.ค. 2557

โดยในเฟสแรก เริ่มแจก ต.ค. 2557-พ.ค. 2558 จำนวน 13,571,296 ฉบับ และต่อมาในปี 2560 ได้แจกเฟส 2 อีก 3,984,662 ฉบับ ให้กับครัวเรือนกลุ่มเป้าหมายที่มีทะเบียนบ้านและมีผู้อยู่อาศัย

30 ก.ย. 62 ปิดโครงการ

ด้านนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เตรียมประกาศให้วันที่ 30 ก.ย. 2562 เป็นวันสุดท้ายที่จะใช้สิทธิ์คูปองทีวีดิจิทัลได้ หลังจากได้ขยายเวลามานานแล้ว โดยโครงการนี้มีกรอบงบประมาณอยู่ที่ 15,801 ล้านบาท แต่ได้ทยอยตัดเงินบางส่วนส่งคืนเข้ากระทรวงการคลังแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท คงเหลือเงินที่กันไว้ราว 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่ได้ใช้จะต้องนำส่งคืนเป็นรายได้แผ่นดิน

ลงทุนหมื่นล้านแบกสต๊อกอื้อ

ขณะที่นายสมชาย เปรื่องวิริยะ ประธานชมรมผู้ประกอบการกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวีภาคพื้นดิน 2558 เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุกิจ” ว่า ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับความเดือดร้อนของผู้ประกอบการที่ต้องแบกภาระสต๊อกกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัล (set-top-box) จำนวนมาก เฉพาะสมาชิกชมรมมีที่นำเข้ามาแล้วกว่า 3 ล้านกล่อง และที่ได้สั่งจองไว้ล่วงหน้าเมื่อตอนที่ กสทช.เปิดให้เข้าร่วมโครงการในปี 2557 อีกกว่า 10 ล้านกล่อง

“ตอนเปิดโครงการ กสทช.ระบุว่าจะแจกคูปองทั้งหมด 22.9 ล้านใบ แต่แจกจริงแค่ 17 กว่าล้านใบ แถมมีผู้ใช้สิทธิ์แค่ 10 กว่าล้าน เพราะมีปัญหาในการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และกระบวนการแจกมีปัญหา ทำให้การแจกคูปองสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไม่สัมฤทธิผล และผู้ประกอบการกว่า 50 บริษัทที่เข้าร่วมโครงการต้องเดือดร้อน เพราะลงทุนไปกว่าหมื่นล้านบาทต้องแบกสต๊อกกองไว้เป็นสิบล้านกล่อง เฉพาะที่ลงทุนซื้อสติ๊กเกอร์เข้าร่วมโครงการจาก กสทช. ก็ราว 15 ล้านกล่อง ต้องเป็นหนี้เป็นสินถูกปรับไปเยอะมาก”

ทางชมรมจึงเสนอแนวทางให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ เพราะยังมีประชาชนจำนวนมากที่ต้องการใช้สิทธิ์นี้ แต่ถูกตัดสิทธิ์ไปแล้วเพราะรายชื่ออยู่ในโครงการเฟสแรก ซึ่งปัจจุบันกำลังได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากเหลือทีวีในระบบแอนะล็อกเพียง “ช่อง 3” เท่านั้น

เปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดาวเทียม

ด้านแหล่งข่าวผู้ประกอบการ set-top-box รายใหญ่เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระบวนการแจกคูปองของ กสทช.มีปัญหามาตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินการแล้ว ทั้งการประชาสัมพันธ์ การแจกคูปองในพื้นที่ที่โครงข่ายทีวีดิจิทัลยังไม่ครอบคลุม ซึ่งทำให้ประชาชนไม่รู้จะแลกไปทำไมในเมื่อกล่องใช้งานไม่ได้ หรือการกำหนดขั้นตอนการใช้สิทธิ์ในเฟสแรกที่ยุ่งยาก ต้องมีทั้งคูปองทั้งเอกสารบัตรประชาชน ต้องเดินทางมายืนยันการใช้สิทธิ์ด้วยตัวเอง ขณะที่จำนวนจุดให้บริการแลกสิทธิ์ไม่ครอบคลุม กลายเป็นอุปสรรค จึงมีประชาชนมาใช้สิทธิ์น้อย

“การเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลของ กสทช.จึงกลายเป็นการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดาวเทียมแทน อย่างฝั่งผู้ประกอบการกว่าจะเบิกเงินได้ก็ยากมาก หลายครั้งแค่รูปถ่ายตอนใช้สิทธิ์ผมสั้น แต่รูปหน้าบัตรประชาชนเป็นผมยาวก็เบิกไม่ได้ ต้องขอเอกสารเพิ่ม และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ผู้ได้รับสิทธิ์ให้เอกชนทราบ จึงทำให้เอกชนต้องลงทุนมากเพื่อเปิดจุดให้บริการ ขณะที่มาร์จิ้นกล่องมีน้อย ไม่คุ้มทุน ต้องเปลี่ยนเป็นการใช้รถแห่ไปตามชุมชนแทน ซึ่งบางครั้งก็ไม่เจอกับกลุ่มเป้าหมาย ปัจจุบันจึงมีผู้ประกอบการเหลืออยู่ไม่ถึง 10 ราย ต้องปิดตัวไปกว่า 40 ราย”