เปิดเทรนด์ LINE Stickers ทำเงิน – “เหมาจ่ายใช้ไม่อั้น” ในไทยรอไปก่อน

ก้าวสู่ปีที่ 7 แล้วสำหรับ LINE Stickers ที่เข้ามาใกล้ชิดผู้ใช้แอปพลิเคชั่น LINE กว่า 44 ล้านคนทั่วไทย และกลายเป็นช่องทางทำเงินของบรรดานักสร้างสรรค์ “LINE Creators”

“กณพ ศุภมานพ” ผู้อำนวยการธุรกิจสติกเกอร์ LINE ประเทศไทย เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจของ LINE Stickers ในประเทศไทย โดยระบุว่า ตลาด LINE Stickers ในไทยเป็นอันดับ 1 ในแง่การเติบโตของจำนวนสติกเกอร์ และจำนวนครีเอเตอร์ที่ออกแบบ LINE Stickers แซงหน้าไต้หวัน และญี่ปุ่น

ขณะที่โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใช้ LINE ในไทยมีสติกเกอร์ไลน์สูงถึง 65 ชุดต่อคน รวมทั้งที่เป็นออฟฟิเชียลสติกเกอร์และที่ซื้อมาใช้ โดยเป็นสติกเกอร์ที่ซื้อถึง 20 ชุด ซึ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งพบเทรนด์การเติบโตของการซื้อ “ธีมตกแต่งหน้าจอ” เพิ่มขึ้น โดยพบว่า 40% ของผู้ที่ซื้อสติกเกอร์จะซื้อ “ธีม” ด้วย

“สัดส่วนผู้ใช้ LINE กับยอดผู้ซื้อสติกเกอร์ในไทยยังน้อยเมื่อเทียบกับไต้หวันและญี่ปุ่น จึงยังเป็นตลาดที่สามารถเติบโตได้อีกมาก ปีนี้จึงยังเดินหน้าสนับสนุนให้เกิด LINE CREATORS มากขึ้น จากที่มีอยู่ 480,000 ราย ด้วยการเปิดฟรีเวิร์คช็อปกระจายไปในจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้น พร้อมเปิดพื้นที่ให้ศิลปินหน้าใหม่เข้ามาใช้พื้นที่ของ LINE ในการนำเสนอผลงาน”

Advertisment

เทรนด์ของสติกเกอร์ที่กำลังมาแรง คือ Custom Sticker (สติกเกอร์ที่ให้ผู้ใช้สามารถเติมข้อความเองได้)

“ในแง่ของสติกเกอร์ที่เป็นของครีเอเตอร์ สติกเกอร์ผู้หญิงหัวโต ตัวอักษรตัวโตๆ กำลังมาแรง ส่วนสติกเกอร์รูปสัตว์เลี้ยงยังไปได้ดีได้รับความนิยมมาตลอด สำคัญคือเวลาออกแบบต้องเข้าใจลูกค้าหลักให้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มผู้หญิงกว่า 60% อายุ 25 – 35ปี”

Advertisment

ขณะที่สติกเกอร์ที่ไม่แนะนำให้ทำแล้วคือสติกเกอร์ชื่อเพราะเป็นเทรนด์ในปีที่แล้ว ที่ ณ วันนี้ผู้ใช้คงจะมีเกือบทุกคนแล้ว ส่วนพฤติกรรมผู้ซื้อที่เปลี่ยนชัดคือ นิยมซื้อธีมตกแต่งหน้าจอมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ที่ขายดีคือ ธีมของดาราเซเลบิลิตี้ โกลบอลคาแรกเตอร์ ขณะที่ครีเอเตอร์ไทยยังไม่ค่อยนิยมทำธีมออกมาขาย

ส่วนบริการสติกเกอร์แบบสมัครสมาชิกเหมาจ่ายรายเดือนให้ใช้งานได้ไม่อั้น ซึ่งประกาศเปิดตัวในญี่ปุ่นแล้วนั้น สำหรับประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลและสำรวจความต้องการของผู้บริโภคไทย

“แต่ละตลาดไม่เหมือนกัน ในไทยยังตอบไม่ได้ว่าจะเหมาะสมหรือไม่ เพราะในญี่ปุ่นก็ไม่ใช่ทุกสติกเกอร์จะเข้าระบบเหมาจ่ายได้หมด อาทิ ต้องเป็นสติกเกอร์ที่เข้าระบบจำหน่ายมาแล้วอย่างน้อย 6 เดือน”