“รมว.ดีอี” เร่งเน็ตประชารัฐ ครบ 7.5 หมื่นหมู่บ้านปี’61

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) แถลงผลการประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 2/2560 โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ว่าการวางโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการเน็ตประชารัฐ มีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยในส่วนของดีอีได้วางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงได้ถึง 14,000 หมู่บ้าน ภายในระยะเวลา 3 เดือน คาดว่าภายในเดือนธันวาคมปีนี้จะสามารถวางโครงข่ายได้ครบตามเป้าหมาย 24,700 หมู่บ้าน ส่วนที่เหลือ จำนวน 18,000 หมู่บ้าน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 เมื่อรวมกับที่ดำเนินการไปแล้ว 30,000 หมู่บ้าน ดังนั้นภายในปี 2561 ประเทศไทยจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมทุกหมู่บ้าน 75,000 แห่ง

@ วางเคเบิ้ลใต้น้ำ เชื่อม OBOR

นอกจากนี้บริษัท กสท.โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT จะมีการวางโครงข่ายเคเบิ้ลใต้น้ำเพิ่มเติมเพื่อให้สอดรับนโยบาย One Bale One Road (OBOR) ของจีน โดยเพิ่มความจุภายในประเทศ เพิ่มความจุเพื่อเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และวางเคเบิ้ลใต้น้ำเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมต่อกับฮ่องกง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับผู้ร่วมทุนจากฮ่องกง

สำหรับโครงสร้างพื้นฐานเรื่องคลื่นความถี่ กสทช.ได้จัดสรรคลื่นย่านความถี่ 800/900 MHz และย่านความถี่ 400 MHz เพื่อให้กระทรวงคมนาคมนำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความปลอดภัยให้กับระบบรถไฟความเร็วสูงและรถไฟความทางคู่

@ เพิ่ม 3 จว.อีอีซี นำร่อง Smart City

ขณะที่การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) บอร์ดดีอีให้ความเห็นชอบการพัฒนาโครงการนำร่อง 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (พหลโยธิน) ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น โดยนายกรัฐมนตรีสั่งการให้พัฒนาขยายไป 3 จังหวัด ในพื้นที่ระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง

นายพิเชฐกล่าวว่า ความคืบหน้าการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (Digital park Thailand) ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ขนาดพื้นที่ 709 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนหนึ่งของ EEC โดยมีเป้าหมายเป็นพื้นที่พัฒนาดิจิทัลใหม่ ๆ เช่น Internet of Things (IoT) Data Center ปัญญาประดิษฐ์ (AI) e-Commerce ซึ่งเรื่อง AI ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับนักลงทุนจากบริษัทดิจิทัลขนาดใหญ่ของโลก เช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และจีน

@ เล็งสร้าง “รถไฟฟ้ารางเบา” ดึงนักลงทุนลง “ดิจิทัลพาร์ค”

“นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้เล่าถึงการเดินทางมาของรัฐมนตรีเมติของญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน ในวาระครบรอบความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น 130 ปี ซึ่งจะพานักลงทุนของญี่ปุ่นลงพื้นที่ EEC เพื่อลงทุนในพื้นที่ดิจิทัลพาร์ค การดึงดูดนักลงทุนในดิจิทัลพาร์คอาจจะใช้พื้นที่ของรัฐเพื่อให้เอกชนมาร่วมลงทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี นอกจากนี้ยังได้หารือกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่าให้มีรถไฟฟ้ารางเบาระยะสั้นเพื่อเป็นส่วนขยายต่อจากรถไฟฟ้าความเร็วสูงกรุงเทพ ฯ – ระยองไปยังพื้นที่ดิจิทัลพาร์คเพื่อดึงดูดนักลงทุนในเรื่องการอำนวยความสะดวก” นายพิเชฐกล่าว

ทั้งนี้การประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ในด้านการบริการสาธารณสุข ได้ดำเนินการระบบ Tele-Medicine เพื่อบรรเทาความขาดแคลนแพทย์เฉพาะทาง ระบบ อสม.Online ผ่านสมาชิก อสม.ทั่วประเทศ 200,000 คน เพื่อเข้าถึงบริการสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล ด้านการศึกษา โดยให้ e-edocation หรือ e-laening เข้าถึงระดับหมู่บ้าน ด้านการค้า โดยให้ไปรษณีย์ไทยเป็นหน่วยงานหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ e-Commerce และ e-Market การชำระเงิน (e-payment) และ e-Logistics ทั้งนี้ นำร่องกับร้านค้า จำนวน 200 ชุมชน โดยจะติดตั้ง Free-wifi ความเร็วสูง หมู่บ้านละ 1 จุด

@ ปรับเลขหมายโทรศัพท์บ้านเป็น 10 หลัก

นายพิเชฐกล่าวว่า บอร์ดดีอีมีมติเห็นชอบหลักการเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์บ้านจาก 9 หลัก เป็น 10 หลัก เพื่อขยายความต้องการในอนาคต ซึ่งจะทำให้มีจำนวนเลขหมายเป็น 500 ล้านเลขหมาย จาก 250 ล้านหมายเลข ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียง 50 ล้านเลขหมาย โดย กสทช.จะดำเนินการแจ้งให้กับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (TIU) ทราบภายใน 1-2 เดือน และต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าภายใน 2 ปี โดยจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเปลี่ยนอุปกรณ์เพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนเลขหมายเป็น 10 หลักต่อไป