TDRI ชำแหละเศรษฐกิจดิจิทัล “ประยุทธ์1” ฝาก “ประยุทธ์2” เร่งแก้

ส่งท้ายรัฐบาล คสช. ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมเปิดประเดิมรับคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จากการเลือกตั้งที่มี “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี  ได้พอดิบพอดี เมื่อ “TDRI” สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ตั้งโต๊ะ “ประเมินผลงาน ปฏิรูป 5 ปี รัฐบาลประยุทธ์ (1): ติดตามความคืบหน้าแก้ปัญหาประเทศ” เมื่อ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา

“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธาน TDRI ได้ย้ำชัดๆ ถึงผลงานของรัฐบาลประยุทธ์ โดยเฉพาะในส่วนของนโยบาย “เศรษฐกิจดิจิทัล” 

โดยระบุว่า การประกาศนโยบายนำเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ “เศรษฐกิจดิจิทัล” และดำเนินมาตรการหลายอย่าง  ส่วนใหญ่ผ่านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)  ซึ่งรวมทั้งรัฐวิสาหกิจในสังกัด 2 แห่งคือ “ทีโอที” และ “กสท โทรคมนาคม” ตลอดจน “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีมาตรการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผ่าน “บริการรัฐบาลดิจิทัล” และการดำเนินงานของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และหน่วยงานอื่นๆ

ผลการดำเนินการที่ปรากฏเป็นรูปธรรม

การผลักดัน พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการบูรณาการข้อมูลของภาครัฐ ในการให้บริการประชาชน และการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต่อประชาชน จากเดิมที่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ มักไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากต้องกรอกข้อมูลซ้ำหลายครั้ง

การลดภาระให้แก่ประชาชนที่ติดต่อกับภาครัฐในหลายด้าน เช่น

การเลิกใช้สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน เมื่อติดต่อกับหน่วยราชการ

การเลิกกรอกแบบฟอร์ม ตม. 6 ในกรณีที่คนไทยเดินทางเข้าหรือออกประเทศ

การเลิกการแจ้งความ กรณีที่ประชาชนทำบัตรประชาชน หรือใบขับขี่หาย

การจัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับบริการ 4G ซึ่งประสบความสำเร็จพอสมควร โดยมีการแข่งขันกันมากในระหว่างผู้ประกอบการ  อย่างไรก็ตาม ภายหลัง ความสำเร็จนี้ต้องมัวหมองไปเมื่อรัฐบาลใช้คำสั่ง ม. 44 ในการ “อุ้ม” ผู้ประกอบการที่ประมูลคลื่นความถี่ได้ ดังจะกล่าวต่อไป

นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ยังร่วมกับกระทรวงการคลังในการผลักดันให้เกิดระบบ “พร้อมเพย์” ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการชำระเงินและโอนเงินของประชาชน และเป็นเครื่องมือสำคัญในการส่งเสริมธุรกิจอีคอมเมิร์ซ

อย่างไรก็ตาม “บริการรัฐบาลดิจิทัล” อื่นๆ ส่วนใหญ่ยังมีความคืบหน้าน้อยมาก  นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐาน “ข้อมูลแบบเปิด” (Open Data) ก็ยังแทบไม่เกิดขึ้น แม้รัฐบาลได้ประกาศการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) แล้วก็ตาม

รัฐบาลยังมีนโยบายอีกหลายด้านที่ยังไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการ ซึ่งรวมถึง

 “โครงการเน็ตประชารัฐ”  ซึ่งมุ่งลดความเหลื่อมล้ำของประชาชนในชนบทในการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยมีปัญหาในการส่งมอบโครงการ เนื่องจากใช้กลไกของรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนแทนการหนุนเสริมกลไกตลาดที่มีประสิทธิภาพมากกว่า และมีผลทำให้โครงการนี้กลายเป็นเพียงการช่วยให้รัฐวิสาหกิจมีฐานะทางการเงินดีขึ้น แทนที่จะถูกปฏิรูปอย่างแท้จริง

“การส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัพ” ซึ่งหน่วยงานรัฐหลายแห่งแข่งกันทำ แต่ส่วนใหญ่ส่งเสริมไม่ถูกจุด จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาการที่ประเทศไทยยังไม่สามารถสร้าง “ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าตั้งแต่ 1 พันล้านดอลลาร์ได้ ในขณะที่หลายประเทศในอาเซียนมี “ยูนิคอร์น” แล้ว

“การพัฒนาบริการของรัฐผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ” ซึ่งทำให้เกิดแอปพลิเคชั่นจำนวนมาก แต่เกือบทั้งหมดไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง

ส่วนนโยบายที่ก่อให้เกิดผลเสียอย่างมากคือ “การใช้คำสั่ง ม. 44 ที่เกี่ยวข้องกับ กสทช.” หลายครั้ง ดังนี้

การยกเลิกการสรรหา กสทช. ชุดใหม่และภายหลังยังยืดวาระการทำงานของ กสทช. ชุดเดิมที่มีอายุเกินกว่า 70 ปี โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงาน ทั้งหมดนี้มีผลเป็นการแทรกแซง กสทช. ซึ่งควรเป็นองค์กรอิสระ ให้กลายเป็นองค์กรที่อยู่ใต้อาณัติของ คสช. และรัฐบาล

การ “อุ้ม” ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งชนะการประมูลคลื่น 4G ทั้ง 3 รายคือ เอไอเอส ทรูมูฟ และดีแทค ให้สามารถผ่อนชำระค่าใบอนุญาต ซึ่งมีผลทำให้ทั้ง 3 รายได้รับผลประโยชน์ไปเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ควบคู่ไปกับการ “อุ้ม” ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลในระดับที่เกินกว่าสมควรมาก  ทั้งหมดนี้มีผลทำลายความน่าเชื่อถือในการประมูลคลื่นความถี่ต่างๆ ในอนาคต   นอกจากนี้ การผูกโยงการผ่อนชำระค่าใบอนุญาตคลื่น 4G เข้ากับการได้รับการจัดสรรคลื่น 5G โดยไม่มีการแข่งขัน ยังมีผลทำให้ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายสามารถร่วมกันผูกขาดบริการ 5G ได้ต่อไป

การออกกฎหมายที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน และสร้างบรรยากาศที่ไม่เป็นมิตรต่อการส่งเสริม “เศรษฐกิจดิจิทัล” โดยเฉพาะ พ.ร.บ. การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ซึ่งให้ดุลพินิจแก่หน่วยงานภาครัฐในการใช้อำนาจสูงมาก โดยปราศจากกลไกตรวจสอบถ่วงดุลที่เหมาะสม

รัฐบาลใหม่ควรเร่งดำเนินการดังต่อไปนี้

•ผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมาย กสทช. โดยเร็ว เพื่อให้เกิดการสรรหา กสทช. ชุดใหม่

•เร่งรัดให้เกิด “บริการรัฐบาลดิจิทัล” ที่เป็นประโยชน์กับประชาชน โดยใช้กลไกของ พ.ร.บ. การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ. 2562

•เร่งรัดให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลของรัฐตามมาตรฐาน “ข้อมูลแบบเปิด” (Open Data) เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าวได้

•ส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัพอย่างมีเอกภาพ โดยมุ่งลดปัญหาจากกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและเติบโตได้ โดยร่วมมือกับหน่วยงานในภาคเอกชนที่เข้าใจปัญหา

•ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ. การรักษาความปลอดภัยมั่นคงไซเบอร์ พ.ศ. 2562 ให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาความมั่นคงของรัฐ และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน