‘ออนไลน์’ พาธุรกิจไป ตปท.ไม่ยาก

pixabay

pawoot : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

จากที่ผมได้ทำหลักสูตร DEFg จึงพยายามกระตุ้นผู้ประกอบการที่มาเรียนให้คิดเรื่องการนำบริษัทออกไปต่างประเทศ ซึ่งคนไทยมักไม่ค่อยมองไปถึง แต่วันนี้ดิจิทัลกลายเป็น ส่วนหนึ่งในชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของคนทั้งโลก เราจึงเริ่มโยนโจทย์ว่า ธุุรกิจจะเดินต่อไปอย่างไรกันดี ผมขอนำบางธุรกิจที่น่าสนใจมาเป็นเคสตัวอย่าง เช่น ธุรกิจที่เป็นโรงพยาบาลด้านสายตา คำถามคือ จำเป็นต้องไปเปิดสาขาที่ต่างประเทศหรือไม่ คำตอบคือไม่จำเป็น

ทุกวันนี้ลูกค้าต่างประเทศเข้ามาเอง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม CLMV มีจีนบ้าง เพราะคุณภาพการแพทย์ของไทยประกอบกับราคาเป็นที่ยอมรับ แต่ยังมีจำนวนคนที่เข้ามาไม่มากเท่าไร ผมจึงเสนอว่า ทำไมไม่ทำการตลาดในเชิงกว้าง เข้าถึงคนทั้งอาเซียน และคนต่างประเทศเสียเลย

วิธีการง่ายมากคือ

1.ใช้การรีวิวโดยลูกค้าต่างประเทศ เขียนเล่าเรื่อง ขั้นตอนต่าง ๆ รีวิวด้วยภาษาของเขา หน้าที่ทีมมาร์เก็ตติ้งคือ นำบล็อกหรือเนื้อหานั้นไปโปรโมตหรือไปโพสต์หรือซื้อคีย์เวิร์ดในภาษาท้องถิ่นอย่างพม่า, กัมพูชา ฯลฯ รอไว้ก่อนได้เลย เพราะตอนนี้จะหาอะไร เราจะค้นในเสิร์ชเอ็นจิ้น ซึ่งในละแวกเพื่อนบ้านเรา Google เป็นเบอร์หนึ่ง

สิ่งที่เราจะโปรโมตคือ บล็อกที่ลูกค้ารีวิวทำให้ติดอันดับต้น ๆ การอ่านรีวิวของคนชาติเดียวกันในบล็อกมีโอกาสโน้มน้าวได้สูงกว่า มีโอกาสปิดการขายง่ายกว่า และในช่วงท้ายของบล็อกต้องให้ข้อมูลการติดต่อไว้เสมอ คนที่อ่านจบ และมีความพร้อม มีความเชื่อจะคลิกมาที่เว็บหลักหรือติดต่อมาอีกที หรือเมื่อคลิกมาปุ๊บเราอาจมีหน้าเว็บอีกหน้าที่ทำทุกอย่างเป็นภาษาของประเทศนั้น ๆ รอไว้ ทำเป็น landing page ที่ไม่ต้องไปลงทุนทำทั้งเว็บไซต์ ทำเพจเพียงหน้าเดียวแต่มีข้อมูลที่เกี่ยวข้องพร้อม

การทำโฆษณาออนไลน์เป็นการดึงคนที่มีความต้องการสินค้าหรือบริการนั้น ๆ มาเจอกับเรา แต่ไม่ได้ให้มาเจอในทันที เป็นการให้ไปเจอกับคนที่เคยเป็นลูกค้า ที่จะช่วยเล่าประสบการณ์ดี ๆ ซึ่งโน้มน้าวจิตใจได้ ทำให้คนเกิดความเชื่อ ชื่นชอบ
และค้นหาข้อมูลสินค้าหรือบริการนั้นต่อจึงจะเข้ามาหน้าเว็บที่เราเตรียมไว้แล้วด้วยภาษาท้องถิ่นของเขา

ทุกอย่างจะโฟลว์ เพราะทุกขั้นตอนเป็นภาษาท้องถิ่น อาจให้เขาติดต่อเข้ามาทางเฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์, ไลน์ หรือวอตส์แอปแชตคุยได้ โดยจัดให้มีทีมงานคอยตอบคำถาม หรือ โทร.มาคุยโดยตรงก็ได้ เดี๋ยวนี้มีบริการซื้อเบอร์โทรศัพท์ของแต่ละประเทศ เรียกว่า virtual number เป็นเบอร์เสมือนที่ฟอร์เวิร์ดมาที่เบอร์มือถือเราได้เลยเรื่องภาษาของแต่ละประเทศ

ช่วงเริ่มต้นอาจใช้วิธีก๊อบปี้ไปแปลในแอปพลิเคชั่นแปลภาษาแล้วนำมาแปะโต้ตอบกันไปมาก่อน หรือลงทุนจัดให้มีคนที่เป็นเจ้าของภาษานั้น ๆ คอยนั่งตอบเป็นการเปิดมุมมองการทำธุรกิจ โดยไม่ต้องเปิดออฟฟิศที่ต่างประเทศ แต่ใช้ออนไลน์เข้าไปซัพพอร์ต

2.นำสินค้าเข้าสู่ระบบ fulfillment การนำออนไลน์มาช่วยขยายธุรกิจ จากเดิมที่ต้องหาตัวแทนจำหน่ายในต่างประเทศ เดี๋ยวนี้ใช้วิธีนำสินค้าไปฝากที่แวร์เฮาส์ในต่างประเทศที่เป็น fulfillment มีบริการดูแลเรื่องการรับสินค้า นำเข้าประเทศ เก็บสินค้าให้ เมื่อมีคนสั่งสินค้าก็จัดส่งให้ลูกค้าปลายทางได้เลย

หน้าที่ของเราที่อยู่ในประเทศไทยก็ทำโฆษณาผ่านออนไลน์ ซื้อโฆษณากูเกิล ทำโฆษณาในเฟซบุ๊ก ทำโฆษณาบน B2B เพื่อให้ลูกค้าเห็น และอยากสั่งซื้อ ส่งอีเมล์ต่อรองราคา ปิดการขาย และเราก็ส่งข้อมูลต่อไปที่ fulfillment หรือแวร์เฮาส์ที่ประเทศนั้น ๆ ให้ส่งของไปที่ลูกค้าเลย แค่นี้ก็จบ ได้เงินเต็ม ๆ บางทีไม่ต้องมีตัวแทนเลยยังได้ เราใช้การตลาดออนไลน์ไปกวาดลูกค้าจากต่างประเทศมาหาเราได้ และตอนส่งเราใช้กลไกเกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการสินค้าที่ตอนนี้มีรองรับอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่ไม่ยากอีกต่อไป

นอกจากนี้ การขยายธุรกิจไปต่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องไปเปิดออฟฟิศหรือมีคนไปอยู่ที่ต่างประเทศอีกแล้ว เราใช้วิธีเช่า coworking space ให้พนักงานที่มีเพียงไม่กี่คนนั่งทำงาน เพราะ coworking space มีทุกอย่างให้พร้อม ทั้งอุปกรณ์สำนักงาน ที่นั่ง อินเทอร์เน็ต ฯลฯ ตอนนี้มีในทุกประเทศ ไม่จำเป็นต้องไปลงทุนเช่าออฟฟิศอีกแล้ว ลงทุนแค่ซื้อคอมพิวเตอร์เท่านั้น จ่ายเงินเป็นรายเดือนไปมีคนทำงานให้เราโดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย หากธุรกิจไปได้ดีอาจไปเปิดเป็นออฟฟิศต่อก็ได้หรือถ้าไม่ดีก็ปิดได้เลย

ผมอยากให้คนไทยไปขายของต่างประเทศ ขยายธุรกิจไปต่างประเทศมากขึ้น ไม่รอแต่ให้ต่างประเทศบุกเข้ามาหาเรา และเดี๋ยวการทำโฆษณาออนไลน์ช่วยขยายธุรกิจไปต่างประเทศได้

ออนไลน์เป็นเครื่องมือที่เข้าถึงคนได้ทั่วโลก ทำไมเราไม่ขยายขอบเขตการทำธุรกิจออกไปรองรับคนต่างประเทศให้มากขึ้นล่ะครับ